20 Miles March หลักคิดเปลี่ยนชีวิต | ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์

20 Miles March หลักคิดเปลี่ยนชีวิต | ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์

ในเดือนตุลาคม 1911 มีนักผจญภัยสองคน Ronald Armundsen ชาว Norway และ Robert Falcon Scott ชาวอังกฤษ มีความตั้งใจที่จะพิชิตขั้วโลกใต้เป็นคนแรกของโลก

ทั้งสองคนออกเดินทางในวันและเวลาที่ใกล้เคียงกัน ทั้งคู่อายุไล่เลี่ยกัน 39 และ 43 ปี และมีประสบการณ์ที่โชกโชนพอพอกัน เส้นทางของการผจญภัยทั้งคู่ต้องเดินทางไปกลับจาก base camp ไปที่ขั้วโลกใต้เป็นระยะทางรวมกัน 1,400 ไมล์ 

ระยะทางนี้เท่ากับการเดินทางจากสุไหงโกลกไปถึงแม่ฮ่องสอน ภายใต้สภาวะอากาศที่สุดหฤโหด บางวันสภาพอากาศอุณหภูมิติดลบ 20 องศา ไม่ได้เดินตัวเปล่าต้องแบกสัมภาระในการยังชีพติดตัวไปด้วย

ทุกท่านต้องนึกภาพอย่างนี้ครับ ในปี 1911 การสื่อสารล้าสมัยมาก ไม่มีมือถือ ไม่มีวิทยุติดต่อระหว่างนักผจญภัยกับ base camp ความหมายคือการเดินทางครั้งนี้เท่ากับเอาชีวิตเข้าเสี่ยง เป็นตายเท่ากัน ถ้ามีปัญหาคุณเรียกใครมาช่วยไม่ได้

ทั้งสองคนมียุทธศาสตร์ในการเดินทางแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง Armundsen ออกเดินทุกวัน ไม่ว่าอากาศจะดีหรือเลวร้ายขนาดไหน โดยเดินเป็นระยะทางเฉลี่ยวันละ 20 ไมล์ ในทางตรงกันข้าม Scott จะออกเดินเฉพาะวันที่อากาศดี โดยเขาเดินวันที่อากาศเป็นใจวันละ 40-60 ไมล์ ส่วนวันที่อากาศเลวร้ายพวกเขาจะนอนในกระโจมที่พัก 

ด้วยยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกัน ทำให้ Armundsen ไปถึงขั้วโลกใต้ก่อน Scott 34 วัน เขาไปปักธงของ Norway ที่ขั้วโลกใต้เป็นชาติแรก คำถามทำไม Armundsen ถึงเอาชนะได้ มันอยู่ที่ strategy ที่เรียกว่า 20 Miles March ยุทธศาสตร์ของเขาคือการสร้าง "ความสม่ำเสมอ" ในการเดินทางไม่ว่าอากาศจะดีหรือเลวร้ายขนาดไหน 

เขาให้ทีมของเขาเดินทุกวัน อะไรคือข้อดีของการเดินทุกวัน มันทำให้ร่างกาย กล้ามเนื้อ และทุกส่วนของอวัยวะร่างกายได้ออกแรงทุกวัน ในแต่ละวันเขาจะเดินระหว่าง 15-20 ไมล์ ทำให้กล้ามเนื้อของทีมเขามีความแข็งแกร่งที่จะต่อสู้กับความโหดร้ายของสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นใจ ถึงแม้ช่วงแรกมันจะเป็นการทรมานมาก แต่ทำไปเรื่อย ๆ ความสม่ำเสมอทำให้กล้ามเนื้อและจิตใจของทีมเขามีความแข็งแกร่ง “อยู่ตัว” ที่จะต่อสู้กับทุกอุปสรรคของสภาพอากาศ

ในทางตรงกันข้าม ยุทธศาสตร์ของ Scott เป็นการเดิน ๆ หยุด ๆ ผมมีสถิติว่าวันที่อากาศดีกับอากาศเลวคือ 56% กับ 44% ตัวเลขนี้มันสื่ออะไร ทีมของ Scott ขาดความต่อเนื่องในการเดินทาง เดินวันหยุดวัน ทำให้กล้ามเนื้อและร่างกายทำงานไม่สม่ำเสมอ

 ผลคือกล้ามเนื้อและร่างกายของทีม Scott อ่อนแอกว่าทีมของ Armundsen ลองนึกอย่างนี้ครับ ถ้าผู้อ่านท่านไหนเป็นนักเพาะกาย เราจะสร้างกล้ามเนื้อเป็นมัด ๆ ตามแขนขา หรือสร้าง six pack ที่กล้ามเนี้อหน้าท้องได้ 

สิ่งที่นักเพาะกายทำคือต้องออกกำลังกายทุกวัน เพื่อให้กล้ามเนื้อค่อย ๆ ก่อร่างสร้างตัววันละนิดวันละหน่อย แล้วสุดท้ายกล้ามเนื้อเหล่านั้นจะกลายเป็น strong muscle ที่ทำให้มัดกล้ามเนื้อคุณเป็นกล้ามเนื้อชั้นเยี่ยมสามารถยกน้ำหนักได้มากกว่าคนธรรมดา 

ในมุมกลับถ้าคุณต้องการสร้างกล้ามเนื้อให้ล่ำสัน โดยออกกำลังกายแบบทำ ๆ หยุด ๆ ท่านผู้อ่านลองสร้างจินตนาการว่ากล้ามเนื้อของนักเพาะกายของคนที่หนึ่งกับคนที่สอง กล้ามเนื้อของใครแข็งแกร่งกว่ากัน

เพื่อปิดรูรั่วของทีม Scott ที่เดิน ๆ หยุด ๆ ดังนั้นวันที่ทีมเขาเดินเขาจะตะลุยเดินแบบโหมกระหน่ำ summer sales ชดเชยวันที่หยุด นั่นเป็นเหตุที่กล้ามเนื้อและร่างกายทำงานหนักเกินควร เกิดอาการอ่อนล้า และนี่เป็นข่าวร้าย ขากลับทีม Armundsend เดินทางกลับมาที่ base camp รอดปลอดภัยทุกคน 

ส่วนทีม ของ Scott เสียชีวิต ไม่มีใครรอด ผมไม่ใช่ผู้ชำนาญเรื่องการแพทย์ ถ้าให้เดาเป็นเพราะว่าร่างกายรับไม่ไหวกับการทำงานหนักเกินไป มันเหมือนกับเครื่องยนต์ที่ชักเข้าชักออก

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นข้อเรียนรู้จาก case study นี้คือภาวะความเป็นผู้นำของ Armundsen ต้องสูงมาก ที่สามารถนำและชักจูงทีมให้เดินทุกวัน ทั้ง ๆ วันที่อากาศเลวร้ายหนาวเข้าถึงขั้วกระดูกเพราะติดลบถึง 20 องศา

เราสามารถนำหลักคิด 20 Miles March มาใช้กับชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน แล้วคุณจะเป็น winner ของชีวิต ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้เกิดขึ้นจริง

Key word ของบทความนี้คือ หนึ่ง consistency ความสม่ำเสมอ สองภาวะความเป็นผู้นำระดับเซียนเหยียบเมฆที่สามารถกระตุ้นให้ทีมงานฝ่าฝันอุปสรรคที่หฤโหด แล้วสุดท้ายสามารถเข้าเส้นชัยได้ เรื่องราวทั้งหมดผมอธิบายด้วยการเล่าเรื่องแบบเปรียบเทียบอย่างนี้ครับ 

ถ้าผู้อ่านเอาน้ำหยดที่แผ่นเหล็กทุก ๆ วันตรงจุดเดิมเพียงหนึ่งหยด คำถามคือถ้าคุณทำอย่างนี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสิบปี แผ่นเหล็กที่จุดนั้นจะเป็นรอยไหมครับ ผมมั่นใจว่าแผ่นเหล็กตรงจุดนั้นจะเป็นรอยด่างอย่างแน่นอน นี่คือพลังของความสม่ำเสมอ ในทางตรงกันข้ามถ้าเราหยดน้ำไม่ต่อเนื่อง แผ่นเหล็กก็จะเหมือนเดิม

เราสามารถนำแนวคิดของ Armundsen มาใช้กับชีวิตประจำวัน แล้วทำให้คุณภาพชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ผมขอยกตัวอย่างชีวิตจริงของตัวเอง ถ้าผู้อ่านต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เกิด competitive edge ทำให้คุณเป็นคนพิเศษ มันเป็นเรื่องไม่ยากเลยครับ

สิ่งที่คุณต้องทำคือเปลี่ยนแปลงตัวเองวันละ 1% แต่ต้องทำทุก ๆ วัน ทำอย่างต่อเนื่อง ไม่มีวันหยุด ลองคิดอย่างนี้ครับ ถ้าคุณเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยหลักคิดนี้ ทำอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลายี่สิบปี ผลของการเปลี่ยนแปลงจะเท่ากับ 1% คูณด้วย 365 วัน คูณด้วย 20 ปี สุดท้ายคุณจะเปลี่ยนแปลงจากเดิม 7,300% เท่ากับว่าคุณเป็นคนใหม่ที่เปรียบเสมือนรถ formula one 

ผมใช้แนวคิดนี้เปลี่ยนแปลงตัวเองจากคนที่เรียนหนังสือไม่ค่อยเก่ง แล้วสุดท้ายสามารถเดินทางไกลมาถึงจุดที่ผมยืนอยู่ ณ จุดปัจจุบันได้ จากวิศวกรหางแถวแล้วกลายมาเป็น business strategist เป็นนักเขียน เป็น public speaker 

ผมทำสิ่งเหล่านี้ได้โดยสร้าง self transformation process เป็นเวลายี่สิบกว่าปีอย่างไม่รู้จักเหนื่อย เดินหน้าทำทุกวัน เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ในช่วงยี่สิบปีผมอ่านหนังสือมากกว่า 200 เล่ม ทุกวันผมใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสามชั่วโมง surfing in the sea of internet เพื่อเรียนรู้สิ่งที่ผม “ไม่รู้” การที่ผมทำอย่างต่อเนื่องเป็นผลให้กระบวนการนี้ฝังรากลึกเป็นนิสัยที่ติดตัวผมชั่วชีวิต ณ วันนี้ผมเข้าวัยเกษียณ ผมก็ยังทำกระบวนนี้อยู่ตลอดเวลา 

ความสม่ำเสมอบวกกับความอดทนสร้างมหัศจรรย์ให้ชีวิต 
cr : Jim Collins & Morten T. Hansen