บริหารพอร์ตอย่างไรในสถานการณ์ความเสี่ยงที่สูงขึ้น

บริหารพอร์ตอย่างไรในสถานการณ์ความเสี่ยงที่สูงขึ้น

ปี 2022 ผ่านมาแค่ 2 เดือน ตลาดการเงินถูกขับเคลื่อนจากความกังวลเรื่องการถอนมาตรการทางการเงินของธนาคาร เช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการลดขนาดของงบดุล เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

ปี 2022 ผ่านมาแค่ 2 เดือน ตลาดการเงินถูกขับเคลื่อนจากความกังวลเรื่องการถอนมาตรการทางการเงินของธนาคาร เช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการลดขนาดของงบดุล เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และล่าสุดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดการเงินให้มีความผันผวนอย่างมากอีกครั้ง แม้ว่าหลายฝ่ายจะคาดการณ์ว่าการเกิดสงครามเต็มรูปแบบนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่ก็เป็นการยากแก่การคาดเดาว่าสถานการณ์จะจบลงเช่นไรทำให้การลงทุนในปีนี้มีความท้าทายมากขึ้นกว่าเดิม

ในมุมมองนักวิเคราะห์ของจูเลียส แบร์ ต่อผลกระทบจากวิกฤติในยูเครนมองว่าประเด็นนี้เป็นปัจจัยความเสี่ยงภายนอกที่คาดการณ์ยากและมีโอกาสสูงถึง 60% ที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงโดยเฉพาะรัสเซียจะได้ผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากการยกระดับการบุกของทางรัสเซียในหลายพื้นที่ของยูเครนจะทำให้เกิดการตอบโต้เช่นการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากนานาชาติซึ่งจะทำให้การส่งออกไปรัสเซียชะลอตัวและการนำเข้าจากรัสเซียลดลงซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาด้านราคาพลังงานเนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกพลังงานทั้งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติที่สำคัญของโลก 

 

รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นเช่นอลูมิเนียม สินค้าเกษตรเช่นข้าวสาลี ข้าวโพดและราคาปุ๋ย ส่งผลต่อเงินเฟ้อที่จะยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตามธนาคารกลางอาจจะไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่เร็วหรือมากอย่างที่ตลาดเคยคาดการณ์ก่อนหน้านี้เพื่อประครองเศรษฐกิจที่มีโอกาสชะลอตัวลงซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นได้เช่นกัน ขณะที่ตลาดหุ้นอื่นๆ จะปรับตัวลงหรือได้ผลกระทบที่น้อยกว่าซึ่งอาจจะเห็นตลาดพัฒนาแล้วปรับฐาน 10% ในระยะสั้นได้

 ทั้งนี้ผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนในเชิงพื้นฐานนั้นค่อนข้างจำกัด เนื่องจากสัดส่วนรายได้ที่พึ่งพารัสเซียและยูเครนนั้นเป็นส่วนน้อย โดยเฉพาะบริษัทและเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบที่น้อยกว่ายุโรปเนื่องจากยุโรปนั้นพึ่งพิงการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียโดยเฉพาะแก๊ชธรรมชาติ ทำให้ยุโรปนั้นมีความเสี่ยงมากกว่าประเทศอื่นๆ ขณะที่ภูมิภาคอื่นเช่นจีนหรือเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นในอดีตที่ผ่านมาเช่นในปี 2014 ไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงจึงส่งผลให้ตลาดหุ้น outperform ตลาดหุ้นโลกเนื่องจากเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้นำโดยการบริโภคภายในประเทศจึงเป็นทางเลือกในการลงทุนในช่วงที่มีปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ได้เช่นกัน

คำแนะนำในการลงทุนในสถานการณ์ที่มีความผันผวนเช่นนี้แม้ว่าการเข้าลงทุนในช่วงภาวะความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในอดีตจะเป็นโอกาสซื้อที่ดี แต่ด้วยความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่สูงเรายังคงให้ระมัดระวังและแนะนำให้ถือสินทรัพย์ที่หลากหลายเพื่อกระจายการลงทุนและถือสินทรัพย์มีความเสี่ยงต่ำเพิ่มเติม นักลงทุนควรจัดพอร์ตให้ตรงตามความเสี่ยงที่รับได้ โดยมีเป้าหมายการลงทุนระยะยาว การเลือกสินทรัพย์ลงทุนหลักยังคงเน้นในสินทรัพย์หรือบริษัทที่มีคุณภาพแม้บริษัทเหล่านี้จะปรับตัวลงมาเช่นกันแต่ในระยะยาวแล้วเชื่อว่าจะยังคงเป็นบริษัทที่มีรูปแบบธุรกิจที่สอดคล้องกับการเติบโตในช่วงข้างหน้าหรือเป็นผู้นำตลาดได้ต่อไป 

การกระจายไปในสินทรัพย์ทางเลือกนอกตลาดเช่น Private asset และการใช้ Structured product ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญที่ช่วยในการบริหารพอร์ตในปีที่มีความผันผวนเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตเช่น Bearish shark fin, Twin-win นอกจากนี้ Structured product ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในตราสาหนี้แทนการลงทุนในตราสารหนี้แบบเดิมซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้รับแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อที่สูง

โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่มีการคาดการณ์ว่าจะเริ่มมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด19 ในการประชุมเดือนมีนาคมนี้อย่างน้อย 0.25% โดยตลอดทั้งปีคาดว่าจะขึ้นทั้งหมด 6-7 ครั้ง ทำให้การลงทุนตราสาหนี้ได้รับผลกระทบจากการ Mark to market หรือราคามีการปรับลงเมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเราสามารถใช้ Structures product ในการออกแบบการลงทุนให้ตรงกับวัตถุประสงค์หรือตามความต้องการของนักลงทุนเพื่อสร้าง Income ได้คล้ายกับการลงทุนในตราสารหนี้ปกติซึ่งมีหลากหลายกลยุทธ์

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจจะลงทุนควรติดต่อเพื่อสอบถามและรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ผู้แนะนำการลงทุนของท่านเพื่อศึกษารายละเอียดและเฟ้นหาการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน