พลิกโฉมระบบสวัสดิการประเทศไทยให้ไฉไล | พงศ์นคร โภชากรณ์

พลิกโฉมระบบสวัสดิการประเทศไทยให้ไฉไล | พงศ์นคร โภชากรณ์

สวัสดิการ (Welfare) มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า ความคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) อย่างมาก บางที่แยกจากกันไม่ออก นักวิชาการหลายท่านจึงอนุโลมว่า 2 คำนี้ ใช้แทนกันได้

ความคุ้มครองทางสังคม หมายถึง นโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ ในการคุ้มครองขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชนทุกคน หรือหลักประกันที่ทุกคนพึงมี เพื่อปกป้องจากภาวะความยากจนและความเปราะบาง เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์เปราะบางทางเศรษฐกิจและสังคม 

ในปี 2560 ผมและทีมเคยรวบรวมสวัสดิการตลอดช่วงชีวิตสำหรับกลุ่มคนต่าง ๆ ได้ 44 สวัสดิการ ผ่านมา 5 ปี รวบรวมอีกครั้งเมื่อต้นปี 2565 เบื้องต้นมีประมาณ 70 สวัสดิการ สวัสดิการบางอย่างถูกยกเลิกไปหรือไม่ได้ทำต่อ 

บางอย่างก็เพิ่มขึ้นมาตามสถานการณ์และความจำเป็นในแต่ละช่วงเวลา เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นต้น ที่เพิ่มขึ้นมาส่วนใหญ่จะมีความจำเพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น 
  
จากภาพจะเห็นว่า สวัสดิการต่าง ๆ (ผมเลือกมาเฉพาะที่สำคัญ ๆ) กระจายไปตามช่วงชีวิตตั้งแต่เกิด เรียน ทำงาน ทำงานแล้วมีรายได้น้อยหรือถึงขั้นยากจน เจ็บไข้ได้ป่วย ได้รับความไม่เป็นธรรม พิการ ไปจนกระทั่งสูงอายุและเสียชีวิต 

ผมเลยตั้งคำถามเพื่อการวิเคราะห์ไว้ 5 ประเด็น โดยมีสมมติฐานว่าเรามีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) จำกัด แม้จะปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ของ GDP แล้วก็ตาม เพราะยังมีความจำเป็นที่ต้องนำงบประมาณรายจ่ายไปใช้จ่ายด้านอื่นที่จำเป็นไม่แพ้กัน 

ประเด็นที่ 1 ความพอเพียง : ในช่วง 3 ปีงบประมาณหลังสุด 2563 – 2565 เรามีงบประมาณที่เข้าข่ายเป็นรายจ่ายเพื่อความคุ้มครองทางสังคมประมาณ 7.5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม หรือเกือบ 1 ใน 4 ของงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี สูงสุดในบรรดา 7 ยุทธศาสตร์ในการจัดสรรงบประมาณ

ดังนั้น ประเด็นนี้ผมจึงมองว่าความพอเพียงไม่ได้เป็นปัญหา ตราบเท่าที่ไม่ทำให้ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นจนไม่มีเงินไปทำอย่างอื่น

ประเด็นที่ 2 ความต้องการ : ผมไม่แน่ใจว่าแต่ละสวัสดิการของแต่ละหน่วยงานมีการสอบถามความต้องการของพี่น้องประชาชนหรือไม่ว่า เขาต้องการให้รัฐช่วยเหลือเรื่องอะไร บางอย่างช่วยเป็นเงิน บางอย่างช่วยบริการอำนวยความสะดวก บางอย่างช่วยเป็นสิ่งของ 

บ่อยครั้งที่เราช่วยเหลือไปแล้ว ไม่ตรงกับความต้องการ หรือตรงแต่ขนาดของความช่วยเหลืออาจไม่เพียงพอ ที่ผมทราบมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เคยสำรวจความต้องการของผู้มีรายได้น้อยก่อนดำเนินการใส่สวัสดิการลงในบัตร

ดังนั้น ประเด็นนี้ควรเป็นการบ้านที่ภาครัฐต้องทำการสำรวจความต้องการจริง ๆ สักที จะได้เกาถูกที่คัน บางอย่างต้องลงทุนเชิงโครงสร้างในพื้นที่เพื่อแก้ที่ Pain Points ของพื้นที่ที่มีปัญหาแตกต่างกัน

ประเด็นที่ 3 ความทั่วถึง : จากภาพจะเห็นว่าในแต่ละช่วงชีวิตของเรา มีหลายสวัสดิการรองรับ มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ แต่ถ้าพิเคราะห์ดี ๆ จะพบว่า สวัสดิการหรือความคุ้มครองทางสังคมสำหรับกลุ่มอาชีพอิสระ ค้าขาย ประกอบธุรกิจส่วยตัวเล็ก ๆ ดูเหมือนจะมีน้อยไปหน่อย เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานและเกษตรกร 

พลิกโฉมระบบสวัสดิการประเทศไทยให้ไฉไล | พงศ์นคร โภชากรณ์

ดังนั้น ประเด็นนี้ผมจึงมองว่าความทั่วถึงเป็นปัญหา อีกประการหนึ่งของความทั่วถึงที่ต้องคุยกัน คือ สวัสดิการแบบไหนควรเป็นทั่วถึงแบบเท่าเทียม หรือ Equality (ถ้าตั้งเป้าไว้ที่ 1,000 บาท แล้วให้ทุกคน 300 บาท คนที่รอดคือคนที่มีอย่างน้อย 700 บาท คนที่มีต่ำกว่านี้จะไม่รอด สรุปปัญหายังมีอยู่) หรือทั่วถึงแบบเสมอภาค หรือ Equity (แต่ละคนได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับรายได้ก่อนหน้า แล้วเติมให้เฉพาะส่วนที่ขาดเพื่อให้ครบ 1,000 บาท สุดท้ายทุกคนจะแตะระดับเป้าหมายเท่ากัน สรุปคือรอดทุกคน) 

ประเด็นที่ 4 ความซ้ำซ้อน : ถ้าเรานั่งดูแต่ละช่วงชีวิต จะพบว่า บางช่วงชีวิตมีสวัสดิการหลายอย่าง จากหลายหน่วยงาน เช่น ช่วงเป็นนักเรียน นักศึกษา ช่วงยากจน ช่วงสูงอายุ 

ผมลองคิดเล่น ๆ ว่า ถ้าครอบครัวหนึ่งมีผู้สูงอายุที่เป็นผู้พิการด้วย มีสถานะยากจน มีลูกและลูกสะใภ้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีหลายอายุไม่ถึง 6 ขวบ 2 คน แถมบ้านอยู่ในสภาพทรุดโทรมต้องรื้อสร้างใหม่ ครอบครัวนี้ได้เงินสนับสนุนหลายทาง รวม 1 ปี จะได้เงินเป็นจำนวนมากพอสมควร 

ดังนั้น สวัสดิการบางอย่างต้องมานั่งดูความซ้ำซ้อน ต้องกำหนดเพดานหรือไม่ สวัสดิการไหนควรเป็นแบบถ้วนหน้า (Universal) หรือแบบเฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย (Targeting) ถ้าลดความซ้ำซ้อนได้จะช่วยเพิ่มพื้นที่ทางการคลังได้โดยอัตโนมัติ หรือสามารถนำเงินที่ประหยัดได้ไปช่วยคนที่จำเป็นกว่าได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเครื่องมือที่จะมาช่วยลดความซ้ำซ้อนได้ดี คือ การสร้าง Big Data สวัสดิการทั้งระบบ

ประเด็นที่ 5 ความโปร่งใส : ประเด็นนี้ผมมองว่าเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลสามารถช่วยได้ รัฐสามารถโอนเงินบัญชี แอพลิเคชัน หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของผู้รับสวัสดิการต่าง ๆ ได้ภายในวันเวลาที่กำหนด ไม่ต้องมาเซ็นชื่อรับเงินสด ไม่มีการรั่วไหล 

ดังนั้น สวัสดิการหลายอย่างควรเปลี่ยนระบบมาจ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่นเดียวกับที่กรมบัญชีกลางจ่ายให้แก่เด็กแรกเกิด คนพิการ และผู้สูงอายุ และยิ่งมี Big Data หลังบ้านคอยกำกับ การจ่ายเงินจะยิ่งมีความรวดเร็ว แม่นยำ และโปร่งใสมากขึ้น

ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องมานั่งถกกันใน 5 ประเด็นข้างต้น เพื่อทำให้ระบบสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นระบบที่คุ้มครองทุกคนได้จริง  

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด