มาตราการรวมหนี้ ตัวช่วยปลดหนี้จาก ธปท.

มาตราการรวมหนี้ ตัวช่วยปลดหนี้จาก ธปท.

หลายๆท่านคงเคยได้ยินคำว่า การไม่มีหนี้นั้นถือเป็นลาภอันประเสริฐกันใช่หรือไม่ครับ คำนี้คนที่มีสถานะเป็นลูกหนี้คงเข้าใจความหมายเป็นอย่างดี การปลดหนี้ได้ ไม่ต้องมาคอยจ่ายชำระดอกเบี้ยแล้ว

คงเป็นเป้าหมายที่ลูกหนี้ทุกคนต้องการ เพื่อให้ลูกหนี้หลายๆคนสามารถปลดหนี้ได้เร็วขึ้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้คลอดมาตราการ ออกมาช่วยเหลือชื่อว่าโครงการ “มาตราการรวมหนี้” โดยข้อดีของ มาตราการนี้ จะช่วยแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยของสินเชื่อลงไปได้ และช่วยให้ลูกหนี้ ปลดหนี้ได้เร็วขึ้นอีกด้วย แล้วโครงสร้างและวิธีการจะเป็นอย่างไร

 วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาเล่าถึงโครงการนี้ให้ทุกท่านทราบกันครับ “ก่อนอื่น เรามาเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจในระบบของหนี้นั้นทำงานง่ายๆ ไม่ซับซ้อน โดยเมื่อลูกหนี้ได้รับสินเชื่อมาแล้วลูกหนี้จะต้องผ่อนชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยกลับไปที่เจ้าหนี้ในแต่ละเดือน โดยที่ทางเจ้าหนี้จะกำหนดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำไว้ให้ เมื่อเจ้าหนี้ได้รับเงินมาแล้ว จะนำเงินไปจ่ายดอกเบี้ยเสียก่อนแล้วส่วนที่เกินจากดอกเบี้ยก็จึงจะนำไปหักออกจากเงินต้น แล้วจึงนำเงินต้นที่เหลือ มาคำนวนดอกเบี้ยสำหรับงวดถัดไป

 แต่สิ่งที่ลูกหนี้หลายๆ คนไม่ค่อยทราบก็คือการที่ชำระเพียงแค่ขั้นต่ำนั้น จะทำให้เงินที่ชำระเข้าไป เมื่อหักดอกเบี้ยออกแล้วจะเหลือเงินไปหักออกจากเงินต้นได้น้อยมาก นั่นทำให้กว่าจะสามารถปิดยอดหนี้ได้นั้น จะต้องใช้เวลานานมาก และ เวลาที่นานนี้ก็ก่อให้เกิดดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเป็นจำนวนมหาศาล ดังตัวอย่างนี้ครับ หาก เราเป็นหนี้บัตรเครดิตที่มีดอกเบี้ยอยู่ที่ 24% ต่อปี เป็นยอด 300,000 บาท หากเราผ่อนขั้นต่ำที่ 7,000 บาท เราจะสามารถปิดหนี้บัตรเครดิตใบหนี้ได้ในระยะเวลา 8 ปี 3 เดือนโดยดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจะเป็นจำนวน 391,336 บาท แต่หากเราเลือกที่จะจ่ายเกินกว่ายอดขั้นต่ำที่ 7,000 บาท เป็น จำนวน 10,000 บาทแทน (จ่ายเพิ่มขึ้นเดือนละ 3,000) จะลดเวลาในการปลดหนี้เหลือ 3 ปี 11 เดือน (ลดมามากกว่าครึ่งหนึ่ง) โดยดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายจะเหลือเพียง 165,533 บาทเท่านั้น

    อย่างไรก็ตามการจะเพิ่มเงินที่ต้องจ่ายต่องวด ก็อาจจะทำไม่ได้ง่ายสักเท่าไรนัก เพราะการที่จะต้องจ่ายเงินมากขึ้นก็หมายถึงสภาพคล่องที่น้อยลง ลูกหนี้ก็ต้องใช้เงินสำหรับกินใช้ในแต่ละเดือน หากเอามาจ่ายหนี้จนหมด ก็คงจะอยู่ไม่ได้เป็นแน่ โดยทั้งนี้ยอดผ่อนเมื่อรวมกันทุกเจ้าแล้วก็ไม่ควรจะเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน เช่นหาก คุณมีรายได้อยู่ที่ 21,000 บาทต่อเดือน ก็ไม่ควรจะผ่อนชำระเกิน 7,000 บาทต่อเดือน

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายๆ ท่านอาจจะรู้สึกว่าแล้วจะให้ทำอย่างไร เข้าใจแล้วละว่าการผ่อนเยอะขึ้นจะช่วยให้ปลดหนี้ได้เร็วขึ้น ก็อุตส่าห์ดีใจ แต่สุดท้ายก็มาติดตรงที่ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาผ่อนมากขึ้น? หากมีวิธีอื่นที่ทำให้เราสามารถผ่อนได้เท่าเดิมแล้ว ปลดหนี้ได้เร็วขึ้นก็คงจะดี ซึ่งวิธีนั้นมีอยู่จริงครับ ก็คือการขอให้ธนาคาร/เจ้าหนี้ ลดหนี้ให้นั่นเองครับ โดย ตัวอย่างเช่น จากเดิมเราเป็นหนี้บัตรเครดิตที่มีดอกเบี้ยอยู่ที่ 24% ต่อปี เป็นยอด 300,000 บาท หากเราผ่อนขั้นต่ำที่ 7,000 บาท เราจะสามารถปิดหนี้บัตรเครดิตใบหนี้ได้ในระยะเวลา 8 ปี 3 เดือนโดยดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจะเป็นจำนวน 391,336 บาท แต่หากเราสามารถลดดอกเบี้ยลงมาได้เหลือ 10% ต่อปี จะทำให้เราสามารถปลดหนี้ได้ ในระยะเวลา 4 ปี 6 เดือน และจ่ายดอกเบี้ยเพียงแค่ 73,733 บาทเท่านั้น (จ่ายเงินออกน้อยกว่าวิธีการจ่ายเกินขั้นต่ำและผ่อนได้นานกว่า)

 แล้วจะทำอย่างไร ให้ธนาคาร/สถาบันการเงิน ยอมลดดอกเบี้ยให้เรา นั่นคือที่มาของโครงการ มาตราการรวมหนี้ ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาช่วยเหลือให้ลูกหนี้ สามารถ โอนย้าย หนี้จากหลายๆ สถาบันการเงิน หรือภายในสถาบันการเงินเดียวกัน มารวมกันที่ สถาบันการเงินที่เรียกคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำลง เพื่อให้ยอดเฉลี่ยดอกเบี้ยต่อเดือนนั้นต่ำลงได้ หรือทางลูกหนี้ หากมีหนี้สินเชื่อบ้าน อยู่แล้ว ก็สามารถนำสินเชื่อเพื่อรายย่อยอื่นๆ มารวมกับสินเชื่อบ้านได้ โดยที่ดอกเบี้ยจะไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน+2% 

 ทั้งนี้เมื่อรวมยอดสินเชื่อแล้ว จะต้องไม่เกินมูลค่าหลักประกัน ตัวอย่างเช่น เราสามารถนำยอดสินเชื่อรายย่อย 300,000 บาท จากที่เคยเสียดอกเบี้ย 24% ต่อปี มารวมกับยอดสินเชื่อบ้าน 1,500,000 บาทที่มีบ้านมูลค่า 2,000,000 บาท เป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน โดยสินเชื่อบ้านนี้มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 8% ต่อปี ซึ่งจะทำให้ สินเชื่อรายย่อย 300,000 บาทที่นำมารวม จะมีดอกเบี้ยอยู่ที่ 8%+2% = 10% ต่อปี ซึ่งจะทำให้การปลดหนี้ของลูกหนี้รายนี้ทำได้เร็วขึ้นและ จ่ายดอกเบี้ยที่น้อยลง โดยการรวมหนี้นี้ สามารถทำได้ทั้งภายในสถาบันการเงินเดียวกัน และต่างสถาบันการเงิน ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินนั้นๆ ครับ ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สถาบันการเงิน/ธนาคาร ทั่วไปครับ”