ความขัดแย้ง รัสเซีย-ยูเครน :มิติทางเศรษฐกิจ | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ความขัดแย้ง รัสเซีย-ยูเครน :มิติทางเศรษฐกิจ | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

"ปูติน"ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำรัสเซียเมื่อปี 2000 และอยู่ในอำนาจอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี โดยสลับเปลี่ยนตำแหน่งตัวเองระหว่างตำแหน่งประธานาธิบดีกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากออกกฎหมายใหม่ในปี 2021 ก็จะทำให้สามารถรับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปได้อีกถึงปี 2036

ประธานาธิบดีปูตินดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของรัสเซียในปี 2008 ที่รัสเซียทำสงครามกับจอร์เจียที่ภูมิภาค South Ossetia โดยอ้างว่าทหารรัสเซียต้องเข้าไปปกป้องคนรัสเซียที่เป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ที่พื้นที่ดังกล่าว 

แต่สิ่งที่ทำให้รัสเซียไม่พอใจจอร์เจียอย่างมาก คือ การที่ประชาชนล้มรัฐบาลที่อิงกับรัสเซียในปี 2004 และผู้นำคนใหม่แสดงความมุ่งมั่นที่จะนำประเทศจอร์เจียเข้าสมัครเป็นสมาชิกนาโต้ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้จอร์เจียก็ยังไม่สามารถเข้าไปเป็นสมาชิกนาโต้ได้แม้ว่าจะได้เคยมีการทำประชามติอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งพบว่าประชาชนจอร์เจีย 70% ต้องการให้ประเทศของตนเข้าเป็นสมาชิกนาโต้

ท่าทีที่อะลุ่มอล่วยของสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก ต่อการโจมตีจอร์เจียของรัสเซียในครั้งนั้นน่าจะเป็นเหตุจูงใจที่สำคัญประการหนึ่งในการช่วยให้ประธานาธิบดีปูตินกล้าตัดสินใจส่งทหารเข้ายึดครอง Crimea ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ซึ่งสหรัฐและยุโรปแสดงความไม่พอใจอย่างมาก 

แต่การตอบโต้โดยอาศัยมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียนั้นอาจกล่าวได้ว่าไม่ได้ส่งผลกระทบที่รุนแรงเพียงพอที่จะทำให้ประธานาธิบดีปูตินหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ณ ขณะนี้ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ข้อสรุปของความขัดแย้งในวันนี้จะออกมาในลักษณะใดและเมื่อไหร่

ผมได้พยายามกลับไปดูข้อมูลผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียหลังจากการที่รัสเซียเข้ายึดครอง Crimea เพื่อประเมินว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจนั้นมีมากน้อยเพียงใด ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นนั้นปรากฏในตาราง                  

ความขัดแย้ง รัสเซีย-ยูเครน :มิติทางเศรษฐกิจ | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

               จะเห็นได้ว่าการเข้าไปยึดครอง Crimea โดยรัสเซียที่ถูกตอบโต้โดยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากประเทศตะวันตกนั้นน่าจะเป็นส่วนสำคัญในการทำให้จีดีพีของรัสเซียเมื่อคำนวณเป็นเงินเหรียญสหรัฐปรับตัวลดลงไปมากถึง 50% จาก 2.05 ล้านล้านเหรียญในปี 2014 มาเหลือเพียง 1.36 ล้านล้านเหรียญในปี 2015

ทั้งนี้เพราะผลกระทบหลักคือการทำให้เงินรูเบิลอ่อนค่าลงอย่างมาก จากประมาณ 34.76 รูเบิลต่อ 1 เหรียญสหรัฐตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2014 (ก่อนการโจมตีและยึดครอง Crimea) มาเป็น 60.23 รูเบิลต่อ 1 เหรียญสหรัฐในกลางเดือนธันวาคม 2014 หลังจากมาตรการคว่ำบาตร โดยประเทศตะวันตกถูกปรับระดับให้เข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับสูงสุดตอนกลางเดือนธันวาคมของปีดังกล่าว

ผลที่ตามมาอีกด้านหนึ่งคือการปรับขึ้นของราคาสินค้าและบริการในประเทศวัดได้จากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 7.8% ในปี 2014 มาเป็น 15.5% ในปี 2015 แต่ก็น่าสังเกตุว่าอัตราเงินเฟ้อก็สามารถปรับลดลงได้อย่างรวดเร็วในปี 2016 และ 2017

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือแม้เวลาจะผ่านมาแล้วนานถึง 8 ปี แต่จีดีพีของรัสเซีย ณ ปัจจุบัน (ที่ 1.65 ล้านล้านเหรียญในปี 2021) ก็ยังต่ำกว่าจีดีพีเมื่อปี 2014 (ที่ 2.05 ล้านล้านเหรียญในปี 2014) ซึ่งผลกระทบที่รุนแรงเช่นนี้น่าจะทำให้ประธานาธิบดีปูตินควร “คิดหน้าคิดหลัง” ในการตัดสินใจว่าจะขยายการใช้กำลังทางทหารในยูเครนอีกมากน้อยเพียงใดในอนาคตอันใกล้นี้ 

ความขัดแย้ง รัสเซีย-ยูเครน :มิติทางเศรษฐกิจ | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เพราะแม้กระทั่งปัจจุบันนี้เงินรูเบิลก็ยังอ่อนค่าอยู่คือ ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2022 ซึ่งเป็นเวลา 8 ปีหลังจากการโจมตี Crimea อัตราแลกเปลี่ยนเงินรูเบิลตกต่ำลงมาอีกที่ 78.73 รูเบิลต่อ 1 เหรียญสหรัฐ

แต่หากมองอีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าประธานาธิบดีปูตินประสบความสำเร็จจากการใช้กำลังทางการทหารเพื่อให้ได้สิ่งที่รัสเซียต้องการมาแล้วถึง 2 ครั้งซ้อนและปัจจุบันสามารถสรุปได้ว่าสถานะทางเศรษฐกิจของรัสเซียนั้นแข็งแรงกว่าเมื่อปี 2008 และปี 2014 อย่างมาก 

เพราะ ณ วันนี้ราคาน้ำมันและราคาก๊าซธรรมชาติก็อยู่ที่ระดับสูงใกล้เคียงกับปี 2014 แต่รัสเซีย ณ วันนี้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงกว่าและมีหนี้ต่างประเทศน้อยกว่าเมื่อปี 2014  อย่างมาก กล่าวคือ

ดุลบัญชีเดินสะพัด: เกินดุล 2.8% ของจีดีพีในปี 2014 เทียบกับปี 2021 ที่เกินดุล 7.0% ของจีดีพี
ทุนสำรองระหว่างประเทศ: มูลค่า 286,220 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2014 เพิ่มขึ้นเป็น 630,210 ล้านเหรียญในเดือนมกราคม 2022
หนี้ต่างประเทศ: มูลค่า 730,000 ล้านเหรียญในปี 2014 ลดลงมาเป็น 478,200 ล้านเหรียญในเดือนธันวาคม 2021

ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่าประธานาธิบดีกปูตินอาจยังเชื่อมั่นว่า รัสเซียจะสามารถใช้กำลังทางทหารให้บรรลุผลที่ต้องการได้ โดยผลเสียทางเศรษฐกิจที่ตามมานั้นแม้จะมีความรุนแรง แต่ก็อยู่ในวิสัยที่เศรษฐกิจรัสเซียจะรับมือได้ ดังนั้น การเจรจาทางการทูตเพื่อแสวงหาข้อยุติจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย และน่าจะทำได้ด้วยความยากลำบากอย่างยิ่งครับ.