องค์กรแห่งอนาคตแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Autonomous Organization)

องค์กรแห่งอนาคตแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Autonomous Organization)

ปัจจุบัน ถ้าเรามองภาพไปยังโครงสร้างหน่วยงานซักหน่วยงานหนึ่ง หน่วยงานนั้นอาจจะประกอบไปด้วยโครงสร้างของคนทำงานที่เริ่มวางฐานตั้งแต่พนักงานระดับปฏิบัติการ ผ่านไปยังหัวหน้าตามลำดับชั้น เช่น ระดับผู้จัดการ และขึ้นไปจนถึงผู้บริหารสูงสุด

โดยพนักงานแต่ละคนก็จะมีหัวหน้าโดยตรง เป็นผู้กำหนดว่าจะต้องส่งมอบงานอะไรบ้าง ทุก ๆ คนในบริษัทจะได้รับผลประโยชน์ของบริษัทในรูปแบบต่างๆเช่น ตำแหน่ง เงินเดือน สิทธิ์ในการรักษาพยาบาล โบนัส หรือวันลาหยุด

เพื่อเป็นแรงจูงใจให้พนักงานทำงานของตัวเองในแต่ละวัน โดยในการที่บริษัทจะสามารถคงอยู่ต่อไปได้ก็จะต้องมีผู้บริหารคอยให้ทิศทางและทำให้แน่ใจว่าพนักงานทุกคนจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานที่สมน้ำสมเนื้อกับแรงงาน แรงใจ และแรงสมองที่เสียไป

 

 

อง    องค์กรบางแห่งมีผู้บริหารที่เก่งและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้กับบริษัท ถ้าหากเกิดเหตุจำเป็นที่ต้องมีการเปลี่ยนผู้บริหาร ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้บริษัทเสียศูนย์ ทำให้รายได้ของบริษัทลดลง

     และสุดท้ายมีผลกระทบต่อโครงสร้างผลตอบแทนของบริษัท พนักงานก็อาจจะไม่มีแรงจูงใจเพียงพอที่จะทำงานต่อกับบริษัท และเมื่อบริษัทขาดพนักงานที่เป็นฟันเฟืองสำคัญ สุดท้ายบริษัทที่เคยแข็งแกร่งนั้นก็สามารถพังลงได้เพียงในพริบตาเดียว

      แนวทางการบริหารองค์กรสมัยใหม่มีข้อเสนอแนะว่าการกระจายอำนาจการตัดสินใจให้ลงไปสู่พนักงาน เพื่อให้พนักงานได้ควบคุมและตัดสินใจในงานของตัวเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การกระจายอำนาจการตัดสินใจจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของพนักงานทำให้พนักงานมีความเป็นเจ้าของงานของตัวเองและมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดความสำเร็จของงานมากขึ้น ยิ่งการตัดสินใจทำได้อย่างอัตโนมัติโดยมีหลักการที่แน่นอนและเชื่อถือได้ก็จะทำให้องค์กรเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นของผลกระทบของการหายไปของผู้บริหารคนเก่งเพียงคนใดคนหนึ่ง

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมามีองค์กรลักษณะใหม่เกิดขึ้นในโลกดิจิทัล นั่นก็คือ “องค์กรที่ไม่มีผู้บริหารสูงสุด” องค์กรที่ใช้หลักการของระบบอัตโนมัติเพื่อทำงานในระดับปฏิบัติการ และใช้หลักการของการโหวตที่คล้ายกับการโหวตของผู้ถือหุ้นมาขับเคลื่อนองค์กร องค์กรลักษณะนี้มีชื่อเรียกว่า DAO (Decentralized Autonomous Organization)

การทำงานของ DAO เริ่มจากการที่มีโปรแกรมเมอร์เข้ามาพัฒนาโปรแกรมบนแพลตฟอร์ม Blockchain โดยมีการออกแบบโทเคนโนมิคส์ (Token + Economics = Tokenomics) ให้เกิดการแจกจ่ายผลประโยชน์ ของการทำงานด้วยการใช้ดิจิทัลโทเคน ผู้ที่ต้องการเข้ามาขับเคลื่อนองค์กรนี้ จะต้องนำสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น Crypto Currency เข้ามาวางค้ำประกันไว้ในระบบ เพื่อให้ระบบนำไปใช้ในการบริหารจัดการ เช่น การพัฒนาโปรแกรมในช่วงแรก หรือนำไปแจกจ่ายเป็นส่วนแบ่งให้กับโปรแกรมอัตโนมัติในช่วงต่อไป โดยระบบจะออกโทเคนที่เรียกว่า Governance Token ให้เป็นสิ่งแลกเปลี่ยนไปยังนักลงทุนได้ถือไว้ ซึ่ง Governance Token นี้สามารถนำมาใช้แสดงสิทธิ์ในการโหวตมติต่างๆ เพื่อกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนองค์กร ตัวอย่างของ DAO ที่ประสบความสำเร็จ เช่นองค์กรที่ชื่อ Maker DAO

Maker DAO นั้นเป็น DAO ที่ทำหน้าที่สร้างและจัดการเหรียญ Stable Coin ที่ชื่อ Dai ซึ่งเป็นเหรียญที่มีมูลค่าผูกอยู่กับ US Dollar (1 Dai มีค่าใกล้เคียงกับ 1 US Dollar) ซึ่งเหรียญ Dai เป็นเหรียญที่มูลค่าของเหรียญถูกสนับสนุน (Backed) จากสินทรัพย์ดิจิทัลตัวอื่น ๆ อีกหลายตัว โดยการปรับแต่งอัตราส่วนในการบริหารจัดการความเสี่ยงของสินทรัพย์แต่ละตัวนั้น เกิดขึ้นจากการโหวตของผู้ที่ถือ Governance Token ของ Maker DAO ที่ชื่อเหรียญ MKR ส่วนในระบบการปฏิบัติการของการทำงานเพื่อให้เหรียญ Dai มีมูลค่าคงที่ที่สุดนั้น ผู้ปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็นคนหรือเป็นระบบอัตโนมัติก็จะได้ค่า Fee ในการบริหารจัดการไปเป็นส่วนแบ่ง

ถึงแม้ว่า DAO จะฟังดูเหมือนเป็นองค์กรจริง ๆ แต่พอมองเข้าไปในลักษณะของการทำงานที่ส่วนใหญ่เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์แล้ว หลายๆ คนอาจจะมองว่า DAO คงจะไม่สามารถเข้ามาทดแทนองค์กรที่มีคนทำงานแบบในปัจจุบันได้ แต่ก็มีองค์กรหลายองค์กรที่มองภาพว่าการบริหารองค์กรแบบอัตโนมัตินั้นเป็นวิถีแห่งอนาคตที่จะทำให้บริษัทสามารถเจริญเติบโตได้ด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นจะต้องสร้างโครงสร้างทั้งหมดเป็นระบบอัตโนมัติ แต่ปรับให้บางส่วนให้เหมาะสมกับธุรกิจ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ธุรกิจของคุณเข้าไปสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มตัว เช่นการให้บริการบน Metaverse การสร้างองค์กรให้เป็น DAO ก็อาจจะเป็นทางเลือกเดียวที่ทำให้องค์กรไปต่อได้ก็เป็นได้