การชิงน้ำทำให้เกิดการตายอย่างเขียด | ไสว บุญมา

การชิงน้ำทำให้เกิดการตายอย่างเขียด | ไสว บุญมา

ในช่วงนี้ ข่าวใหญ่เกี่ยวกับความขัดแย้งรุนแรงในยูเครนกลบข่าวเกี่ยวกับประเด็นใหญ่ในเอธิโอเปียเสียเกือบหมด ประเด็นใหญ่ได้แก่เอธิโอเปียแถลงเมื่อวันอาทิตย์ว่าได้เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนที่สร้างขึ้น กั้นสาขาของแม่น้ำไนล์ในประเทศของตน

แนวคิดที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในแอฟริกานี้มีมานาน แต่ทำไม่ได้เพราะปัจจัยหลายอย่างโดยเฉพาะการต่อต้านถึงขั้นขู่ว่าจะส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดโดยอียิปต์ และการขาดเงินสนับสนุนจากนายทุนใหญ่ ๆ ในสมัยก่อน  

มาถึงตอนนี้ โลกมีนายทุนมากขึ้นโดยเฉพาะจีนและเศรษฐีน้ำมันในย่านตะวันออกกลาง  เอธิโอเปียจึงสร้างเขื่อนดังกล่าวและเริ่มกักน้ำมากว่าปี จนตอนนี้มีน้ำหลังเขื่อนมากพอสำหรับปล่อยให้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้แล้ว 

ส่วนอียิปต์ซึ่งอาศัยแม่น้ำไนล์สายเดียวเพื่อดำรงชีพ คงไม่กล้าจะท้าทายอำนาจเงินของนายทุนที่สนับสนุนเอธิโอเปีย หรือไม่ก็พอใจที่เอธิโอเปียให้คำมั่นสัญญาว่า จะไม่เร่งกักน้ำไว้จนทำให้อียิปต์ต้องขาดแคลนแสนสาหัสกว่าเดิม

ทุนจีนและทุนเศรษฐีน้ำมันมีบทบาทสูงมาก เนื่องจากการแสวงหาทรัพยากรในแอฟริกาเป็นองค์ประกอบสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาของจีน  ส่วนเศรษฐีน้ำมันในย่านทะเลทรายในตะวันออกกลางต้องการพื้นที่ซึ่งมีน้ำเพียงพอ สำหรับผลิตอาหารส่งกลับไปยังบ้านของตน  

คอลัมน์นี้ประจำวันที่ 4 กพ. อ้างถึงหนังสือเกี่ยวการออกฮุบที่ดินทั่วโลกของเศรษฐีเรื่อง The Land Grabbers: The New Fight Over Who Owns the Earth (มีบทคัดย่อภาษาไทยให้ดาวน์โหลดได้ฟรีที่ www.bannareader.com)  

บทแรกของหนังสือพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐีต่างชาติเข้าไปฮุบที่ดินในเอธิโอเปียและใช้น้ำทำโครงการเกษตรกรรมขนาดยักษ์เพื่อส่งออก  การฮุบที่ดินและสิทธิ์ในการใช้น้ำได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเต็มที่  ส่วนชาวพื้นเมืองซึ่งใช้ที่ดินนั้นทำมาหาเลี้ยงชีวิตมาตั้งแต่ครั้งโบราณถูกมองข้าม  ผลสุดท้ายพวกเขาอาจตายอย่างเขียดเพราะขาดที่ทำกิน หรืออาจถูกฆ่าหากลุกขึ้นมาต่อต้านการฮุบที่ดินของตน  

ส่วนบทที่ 9 พูดถึงยูเครนซึ่งเป็นที่หมายปองของบรรดานักฮุบที่ดินเนื่องจากมีพื้นที่ชั้นดีจำนวนมากและแหล่งน้ำสำหรับทำเกษตรกรรมขนาดใหญ่ได้  แต่รัสเซียต่อต้านเพราะถือว่ายูเครนเป็นบ้านของตน  บทความนี้เขียนเมื่อเช้าวันพุธ  ถึงวันนี้ รัสเซียอาจโจมตียูเครนด้วยกองทัพนับแสนหลังส่งกำลังบางส่วนเข้าไปในภาคตะวันออกของอยู่เครนโดยอ้างว่าเพื่อรักษาความสงบทำให้ชาวยูเครนล้มตายอย่างเขียดไปแล้วก็ได้

การขาดแคลนน้ำทำให้เกิดการช่วงชิงกันอย่างเข้มข้นจนเป็นประเด็นใหญ่ ที่อาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์  คอลัมน์นี้อ้างถึงหลายครั้งรวมทั้งจากเนื้อหาของหนังสือที่ชื่อ Water Wars โดยตรง 2 เล่ม (2 เล่มนี้และอีกหลายเล่มที่เกี่ยวกับการชิงน้ำมีบทคัดย่อภาษาไทยให้ดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ดังกล่าว)  

ในช่วงนี้ มีรายงานว่าแม่น้ำโขงเริ่มเหือดแห้งจนบางแห่งแทบจะเดินข้ามได้ ทั้งนี้เพราะมีเขื่อนจำนวนมากสร้างขึ้นกั้นทั้งตัวแม่น้ำโขงและสาขาตอนบนเพื่อเก็บน้ำไว้  ในอนาคต จะมีเขื่อนในแนวเดียวกันเพิ่มขึ้นอีกมาก  เขื่อนเหล่านี้จะมีผลกระทบร้ายแรงต่อผู้ที่อยู่ส่วนปลายของแม่น้ำโขงโดยเฉพาะต่อชาวกัมพูชา

ก่อนที่จะมีเขื่อนดังกล่าว ในช่วงน้ำหลาก น้ำปริมาณมากในแม่โขงจะดันน้ำในแม่น้ำสายใหญ่ในกัมพูชาให้ไหลย้อนกลับไปขังอยู่ในโตนเลสาบและพื้นที่กว้างใหญ่ จนทำให้กัมพูชาเป็นเสมือนบ่อเลี้ยงปลาธรรมชาติขนาดมหึมา  มันเป็นที่มาของอาหารปริมาณมหาศาลและการทำปลากรอบอันลือชื่อที่ชาวกัมพูชาส่งออกทุกปี  

น้ำและปลานั้นมีความสำคัญสูงยิ่งต่อวิถีชีวิตของชาวกัมพูชามานับพันปี  แต่ต่อไปนี้เขื่อนดังกล่าวจะกักเก็บน้ำไว้ส่งผลให้น้ำไม่ไหลย้อนกลับไปขังจนเกิดบอเลี้ยงปลาขนาดมหึมาตรงตามฤดูกาล  ชาวกัมพูชาจะขาดปลาซึ่งเป็นอาหารสำคัญของตนและสำหรับทำปลากรอบส่งออก  

ณ วันนี้ ชาวกัมพูชาเริ่มมีปัญหาเรื่องการจับปลาได้น้อยลงอย่างต่อเนื่องแล้ว  เขื่อนต่าง ๆ สร้างเสร็จหมดเมื่อไร ชาวกัมพูชาจะจับปลาได้น้อยลงอีก  เมื่อขาดน้ำและขาดปลา เป็นไปได้ว่าชาวกัมพูชาบางส่วนจะอดอยากจนส่งผลต่อไปให้ถึงกับตายอย่างเขียด