เทียบ เงินอุดหนุน/ลดภาษี รถยนต์ไฟฟ้าไทย VS ทั่วโลก

เทียบ เงินอุดหนุน/ลดภาษี รถยนต์ไฟฟ้าไทย VS ทั่วโลก

แพ็กเกจส่งเสริมการใช้และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทยที่รัฐจะช่วยอุดหนุนรถไฟฟ้าที่ 70,000-150,000 บาทต่อคัน และลดภาษีทั้งศุลกากรและสรรพสามิต

ถือได้ว่ามาถูกจังหวะสะท้อนรับกับกระแสอุดหนุนพลังงานสะอาดเพื่อมาทดแทนพลังงานน้ำมันที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นทั่วโลก บวกกับเทรนด์ราคาน้ำมันที่ทะยานพุ่งสูงขึ้นโดยในช่วงวิกฤติการเมืองในยูเครน ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็ดูเหมือนเจ้าชายขี่ม้าขาวมาแต่ไกล

โดยมาตรการอุดหนุนรถไฟฟ้า (EV) คือ การลดภาษีศุลกากรเหลือ 0 สำหรับรถนำเข้าซึ่งปกติจะต้องเสียภาษีต่างกันไปตามประเทศผู้ส่งออกและข้อตกลงทางภาษีระหว่างไทย อาทิ รถญี่ปุ่นที่ 20% รถเกาหลีใต้ที่ 40%

นอกจากนี้ รัฐยังลดภาษีสรรพสามิตเดิมจาก 8% เหลือ 2% ไม่รวมเงินอุดหนุนจากรัฐบาลที่ 70,000-150,000 บาทต่อคันพิจารณาตามขนาดของแบตเตอรี่ หากรถไฟฟ้าคันนั้นราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท

ถือว่าเป็นมาตรการที่ดูคร่าว ๆ แล้วน่าสนใจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ถึงแม้ส่วนลดเหล่านี้จะให้เฉพาะรถไฟฟ้า 100% หรือ Battery Electric Vehicle (BEV) ขณะที่ประเทศต่าง ๆ นั้นมีมาตรการอุดหนุนที่บูรณาการ ครอบคลุมไปถึงรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) และ​​รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid-HEV) ด้วย

มาตรการอุดหนุนโดยรัฐบาลสหรัฐ ออกมาในรูปแบบเครดิตภาษีโดยให้รถไฟฟ้าสูงสุดคันละ 7,500 ดอลลาร์หรือ 240,000 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนที่ 32 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งโควตาของเงินอุดหนุนก้อนนี้จำกัดให้ไม่เกิน 200,000 คันของแต่ละบริษัทผู้ผลิต ซึ่งในปัจจุบันมีแค่ 2 บริษัทเท่านั้นที่ถึงโควตานี้แล้ว

เยอรมนี ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของแบรนด์รถระดับโลกอย่าง BMW, Mercedes-Benz, Porsche, Audi และ Volkswagen ก็อุดหนุนรถไฟฟ้าคันละถึง 4,000 ยูโร (หรือเกือบ 150,000 บาท) โดยรัฐกับผู้ผลิตรถยนต์ แบ่งกันออกคนละครึ่ง

รัฐบาลฝรั่งเศสอุดหนุนในรูปแบบ ecobonus ซึ่งมีมูลค่าสูงสุดถึง 6,000 ยูโร โดยมีเงื่อนไขว่ามูลค่าที่เคลมนั้นจะต้องไม่มากกว่า 27% ของมูลค่ารถที่ซื้อ และยังมีโบนัสมูลค่าสูงสุดถึง 2,500 ยูโรสำหรับผู้ซื้อที่นำรถเก่าที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงเดิมเข้ามาเทิร์น ทำให้ยอดรวมเงินอุดหนุนสูงถึง 8,500 ยูโร (ราว 310,000 บาท)

หากซื้อรถไฟฟ้า 100% (BEV) ที่อังกฤษจะได้รับ 3,500 ปอนด์ (หรือเกือบ 150,000 บาท) ขณะที่ในเนเธอร์แลนด์เงินอุดหนุนจะออกมาในรูปแบบการงดเว้นค่าลงทะเบียนรถทั่วไปที่ไม่ใช่รถไฟฟ้า ที่จะเรียกเก็บตามจำนวนการปล่อยคาร์บอนที่มีมูลค่าสูงถึง 2,355 ยูโร (86,000 บาท)

สวีเดนอุดหนุนในรูปแบบของ Climate bonus ที่มีมูลค่าถึง 60,000 โครนสวีเดน (200,000 บาท) โดยมีเงื่อนไขว่ามูลค่าที่อุดหนุนนั้นจะต้องไม่มากกว่า 25% ของมูลค่ารถที่ซื้อ

หากพูดถึงการมองเรื่องการซื้อขายรถไฟฟ้าอย่างบูรณาการ ก็ต้องพูดถึงนิวซีแลนด์เพราะอุดหนุนทั้งรถยนต์ไฟฟ้าใหม่และมือสอง ผู้ซื้อรถคันใหม่จะได้ส่วนลดเงินสดสูงสุดถึง 8,625 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ (เกือบ 190,000 บาท) ขณะที่ผู้ซื้อมือสองนั้นก็จะได้รับส่วนลดเงินสดสูงสุดถึง 3,450 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ (ราว 75,000 บาท)

ขณะที่ทุกประเทศในโลกยังคงตื่นเต้นหรือริเริ่มการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า แต่จีนซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่อุดหนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาแต่ต้นและอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ยอดการขายรถไฟฟ้าในจีนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะนอกจากเงินอุดหนุนที่ผู้ซื้อได้รับส่วนลดหรือเงินสนับสนุนแล้วยังสามารถใช้รถไฟฟ้าได้ทุกวัน

ไม่เหมือนกับรถยนต์แบบดั้งเดิมที่ถูกจำกัดโควตาการใช้งานได้เพียงบางวันโดยเฉพาะในเมืองใหญ่อันเป็นมาตรการหรือยาแรงที่รัฐออกมาเพื่อลดมลพิษ ซึ่งมูลค่าการช่วยเหลือก็อยู่ที่ 25,000 หยวน (127,000 บาท) และมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ

ตลาดรถไฟฟ้าและมาตรการส่งเสริมอุดหนุนที่ไทยเริ่มนั้นถือว่าดี แต่หากเทียบกับต่างประเทศแล้วจะพบว่ายังมีช่องว่างให้คิดให้พัฒนาอีกมาก หากจะส่งเสริมพลังงานสะอาดอย่างจริงจัง