สมรส(ไม่)เท่าเทียม อุดมคติวาเลนไทน์แบบไทยๆ

สมรส(ไม่)เท่าเทียม อุดมคติวาเลนไทน์แบบไทยๆ

ช่วงวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา สำนักงานเขตบางขุนเทียนได้จัดแคมเปญ “จดแจ้งความรัก” สำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ซึ่งก็ได้รับความสนใจจนมีคู่ LGBTQ+ มาจดแจ้งความรักถึง 269 คู่

การจดแจ้งความรักที่จัดขึ้นนี้ถือเป็นความตั้งใจที่ดีและเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดี เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของความรักที่สมบูรณ์ตามอุดมคติดั้งเดิม แต่ในทางกฎหมายแล้ว กระดาษแผ่นนี้มีค่าเท่ากับศูนย์ เพราะไม่ได้มีผลเฉกเช่นการจดทะเบียนสมรสปกติเนื่องจากยังไม่มีกฎหมายรองรับ

เมื่อปลายปีที่แล้ว มีกรณีการฟ้องร้องกรณีการถูกปฏิเสธการขอจดทะเบียนสมรสของคู่รักเพศหญิงคู่หนึ่ง ที่ร้องถึงความไม่เป็นธรรมของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง เท่านั้น โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่ากฎหมายดังกล่าวนั้นไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ประเด็นสำคัญคือศาลให้ข้อสังเกตว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสมควรดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศต่อไป

และล่าสุดก่อนช่วงวาเลนไทน์ไม่นาน สภาฯได้มีมติเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ออกไปอีก 60 วัน ผมจำได้ว่าเคยเขียนบทความถึง “ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจาก พ.ร.บ.คู่ชีวิต” ซึ่งต่อมาพัฒนาและเปลี่ยนชื่อเป็นสมรสเท่าเทียม ตั้งแต่กลางปี 2563 ตอนนั้นยังดีใจและยินดีกับประเทศไทยที่จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่สองของเอเชียที่จะยอมรับสิทธิบางประการของกลุ่ม LGBTQ+ ถึงแม้จะยังไม่ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำอีกกว่า 30 ประเทศทั่วโลกแต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

ในปัจจุบัน กว่า 30 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลกนั้นยอมรับการสมรสเท่าเทียมในกลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในแถบยุโรป อาทิ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ กลุ่มประเทศที่มีความเป็นเสรีประชาธิปไตยสูง อาทิ สหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

ในกลุ่มนี้ มี 2 ประเทศ/ดินแดนที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่งคือ โปรตุเกสและไต้หวัน เพราะโปรตุเกสมีประชากรกว่า 80% นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกตั้งแต่โบราณที่มีความเป็นอนุรักษนิยมสูงและความเชื่อแบบดั้งเดิมนี้ก็ยังคงหยั่งรากลึกส่งอิทธิพลมาจนปัจจุบัน แต่รัฐสภาโปรตุเกสก็มีความกล้าหาญและยืนหยัดต่อหลักการความเท่าเทียมคลอดกฎหมายสมรสเท่าเทียมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ก่อนสหรัฐ (ในปี พ.ศ.2558) และสหราชอาณาจักร (ในปี พ.ศ.2563) ด้วยซ้ำ

ไต้หวันถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างเพราะเป็นดินแดนแรกในเอเชียที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งก็ทำให้ภาพลักษณ์ของตนโดดเด่นและถูกใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการตลาดเพื่อกระตุ้นดึงดูดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มเข้ามาท่องเที่ยวใช้จ่ายในไต้หวัน

หากมองในภาพรวมของโลกแล้ว จะพบว่าประเด็นการสมรสเท่าเทียมนั้นมักจะถูกต่อต้านในกลุ่มประเทศที่มีความเป็นอนุรักษนิยมสูง เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศที่มีความเคร่งครัดในศาสนาอย่างมาก แต่อุปสรรคที่แท้จริงของร่างพ.ร.บ.นี้คือ ความไม่ตระหนักรู้ของสังคม สังคมที่หลับใหลไม่รู้ไม่ทราบไม่สนใจในสิทธิเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น

หากคุณมีคนที่รักเจ็บป่วยแต่ไม่สามารถเข้าเยี่ยมหรือตัดสินใจแทนเพื่อการรักษาพยาบาลที่ปัจจุบันเร่งด่วนได้ หากคุณอยากมีบ้านสวยๆ แต่คุณกู้คนเดียวไม่ได้ต้องกู้ร่วม หากคุณสุขภาพไม่ดีไม่สามารถมีบุตรได้แต่อยากมีรับบุตรบุญธรรมสักคน หรือหากคู่สมรสคุณมีสิทธิในการรักษาพยาบาลครอบครัวหรือสิทธิอื่นๆ แต่คุณไม่สามารถใช้ได้ ตัวอย่างเหล่านี้น่าจะเป็นตลกร้ายที่คงขำทั้งน้ำตา

เราอยู่ในประเทศประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นใหญ่ในอุดมคติ แต่ในความเป็นจริงแล้วสังคมที่ตื่นรู้และเข้มแข็งนั้นสามารถชี้นำรัฐรวมไปถึงการร่างกฎหมายที่รับรองสิทธิเสรีภาพของทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียมได้ แค่เปิดใจ รับรู้และแสดงพลัง