เมื่อปิยศักดิ์เป็นปิยศักดิ์ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

เมื่อปิยศักดิ์เป็นปิยศักดิ์ | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

เมื่อผู้เขียนได้รับเชิญจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้เป็นหนึ่งในวิทยากรในการสัมมนาพิเศษ "Upgrade บุคลากรการเงินสู่การเป็น The Next Normal Financial Professional" ก็รู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่ง

แต่ในทางกลับกัน ก็รู้สึกหนักใจ เพราะภาพเศรษฐกิจสังคมโลกเปลี่ยนแปลงจนคาดการณ์ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ที่เข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจการเงินโลกขนานใหญ่

เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้เขียนจึงกลับไปพิจารณาถึงคำทำนายเศรษฐกิจการเมืองโลกต่าง ๆ ที่เพิ่งคาดการณ์ไป และลองคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยกลับมาสวมหมวกนักเศรษฐศาสตร์ที่มองโลกในแง่ร้าย เพื่อเตือนตนเองและผู้เข้าร่วมสัมมนาว่าอาจจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นได้บ้าง 

ในส่วนทิศทางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกในยุคหลัง COVID-19 และโอกาสของธุรกิจนั้น ผู้เขียนสรุปได้เป็น 3 ประเด็นย่อย กล่าวคือ "ลูกแก้วกำลังจะแตก ระบอบการเงินที่กำลังเปลี่ยน และสามธุรกิจที่กำลังรุ่ง"

"ลูกแก้วกำลังจะแตก" นั้นหมายถึงคำทำนายที่ผู้เขียนเคยได้วาดเมื่อต้นปีนั้น กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอแรงขึ้น ส่วนเงินเฟ้อคาดว่าที่จะกลับมาลดลงในครึ่งหลังของปีนั้น อาจยาวนานกว่านั้น ทำให้นโยบายการเงินโลกที่คาดว่าจะตึงตัวขึ้นอย่างช้า ๆ นั้น ต้องตึงตัวเร็วและแรง กดดันค่าครองชีพ รวมถึงต้นทุนธุรกิจแพงขึ้น

 นอกจากนั้น ความผันผวนทางการเงินโลกที่จะมีมากขึ้น อันเป็นผลจากนโยบายการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น จะกดดันเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไป ภาพเช่นนี้บ่งชี้ว่าโลกกำลังจะเข้าสู่ความเสี่ยง "Global Stagflation" 
 
"ระบอบการเงินที่กำลังจะเปลี่ยน" หรือ Financial Markets Regime Change นั้น คือ ภาวะที่สินทรัพย์ทางการเงินกำลังเข้าสู่ภาวะที่เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง โดยสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นที่เคยให้ผลตอบแทนดีมาตลอดนั้้น อาจให้ผลตอบแทนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยยาวนาน 10-20 ปี หรือที่เรียกว่า Secular bear market 

ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรที่เคยอยู่ในระดับต่ำนั้น มีแนวโน้มว่าจะปรับขึ้นต่อเนื่อง (Rising bond yield trend) เห็นได้จากมูลค่าของพันธบัตรทั่วโลกที่ให้ผลตอบแทนติดลบนั้น ลดลงอย่างรวดเร็วจากประมาณ 17 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว เหลือเพียง 6 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน โดยพันธบัตรรัฐบาลสำคัญที่เคยให้ผลตอบแทนติดลบอย่างพันธบัตร 10 ปีของเยอรมนี (10-year German bund) เริ่มกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง

สินทรัพย์สุดท้ายที่เปลี่ยนแปลงคือ โภคภัณฑ์ ที่ราคากำลังเป็นขาขึ้นอีกครั้ง (หรือที่บางฝ่ายเรียกว่า Commodity Super-cycle) จาก 3 ปัจจัย

ในปัจจัยแรก แม้โลกจะพยายามเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น แต่ศักยภาพในการผลิต รวมถึงการกักเก็บพลังงานสะอาดที่ยังไม่พอเพียง ทำให้เกิดวิกฤตพลังงานต่อเนื่อง และทำให้โลกต้องหันมาพึ่งพิงพลังงานปกติอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต่อเนื่อง และการขาดแคลนการลงทุนและสำรวจขุดเจาะในพลังงานปกติ ทำให้ราคาจะยังอยู่ในระดับสูง 

ปัจจัยที่สอง เมื่อโรค Covid-19 เปลี่ยนผ่านไปเป็นโรคประจำถิ่น จะทำให้มีความต้องการพลังงานจากประเทศในแถบเอเชียโดยเฉพาะจีนขึ้นมามาก ซึ่งจะผลักดันราคาต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยสุดท้าย ได้แก่ ความอ่อนแอของรัฐบาลสหรัฐที่ต้องการลดบทบาทการเป็นตำรวจโลกลง ทำให้ "อันธพาลประจำถิ่น" แสดงแสงยานุภาพมากขึ้น และเป็นปัจจัยที่กดดันราคาพลังงาน

ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ทำให้ครัวเรือนที่เคยเก็บออมเงินลงทุนในตลาดหุ้น เริ่มลดระดับการลงทุนลง ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่เคยทำนโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อไม่ให้ตลาดผันผวน จะต้องกลับมาเลือกที่จะคุมเงินเฟ้อมากขึ้น ดังนั้น เป็นไปได้สูงที่นโยบายการเงินในยุคต่อไปจะตึงตัวขึ้นยาว

"สามธุรกิจที่กำลังจะรุ่ง" แม้ว่าภาพในโลกอนาคตอันใกล้จะดูเลวร้ายลง แต่ก็มี 3 ธุรกิจที่จะยังไปได้ อันได้แก่

 (1) อุตสาหกรรมพลังงาน ทั้งในรูปแบบพลังงานปกติ โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และพลังงานทางเลือก ที่กำลังจะมีความต้องการมากขึ้นในอนาคตเพื่อตอบสนองกับนโยบายทางการทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลดีไปสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น รถยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุ 

(2) อุตสาหกรรมเทคโนโลยี ทั้งในแง่ของ Hardware เช่น อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์สื่อสาร ระบบ Data center รวมถึง Software และบริการต่าง ๆ เพราะได้ประโยชน์จาก Digital Transformation ยกเว้นธุรกิจ Fintech โดยเฉพาะ Digital Asset ที่จะเริ่มเติบโตยากขึ้นเนื่องจากผู้คุมกฎระเบียบทั่วโลกที่พยายามจะคุมเข้มมากขึ้น และ

 (3) อุตสาหกรรมสุขภาพ ที่จะได้ประโยชน์จากโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งแนวโน้มในการดูแลสุขภาพมากขึ้น

เมื่อโลกอนาคต โดยเฉพาะโลกการเงินท้าทายขึ้น แต่ก็ยังมีโอกาส บุคลากรด้านการเงินจึงจำเป็นต้องปรับตัว โดยผู้เขียนได้มองถึงปัจจัยท้าทายด้านตลาดแรงงานไทยที่เปลี่ยนไป 5 ประการ คือ STERM อันได้แก่ Stop-gap, Technology, Earning, Resilience & Re-skill, Mentoring 

โดยในประเด็นแรก Stopgap หรือ ช่องว่างของช่วงชีวิตงานหลังเผชิญวิกฤต Covid นั้น สะท้อนจากงานวิจัยของ SCB EIC ที่ค้นพบความเปลี่่ยนแปลงในตลาดแรงงานไทย 3 ข้อ คือ (1)  แรงงานที่มีงานทำมีรายได้ (Earning) ลดลงในวงกว้างจากชั่วโมงการทำงานที่ลดลง (2) การโยกย้ายของแรงงานไปทำงานที่มีรายได้ต่ำลง และ (3) แรงงานว่างงานนานขึ้น 

ในขณะที่ปัจจัยเทคโนโลยี ที่อนุญาตให้เราสามารถทำงานแบบ Work from home (WFH) ก็มีทั้งข้อดีและเสีย โดยในระดับองค์กร ข้อเสียคือการดูแลพนักงานอย่างไม่ทั่วถึง ทำให้เกิดการลาออกในระดับสูง (High turnover) และเกิดค่าเสียโอกาสมากจากตึกสำนักงานที่ได้ใช้เพียงเล็กน้อย 

ในระดับเจ้าหน้าที่่อาวุโส จะได้รับผลกระทบจากการที่ต้องปรับตัวรับกับเทคโนโลยีใหม่ การทำงานที่หาวันหยุดยากขึ้นและอาจหมดไฟ (Burn out) และจากความเสี่ยงที่จะถูกแทนที่โดยพนักงานใหม่ที่เก่งเทคโนโลยี ส่วนพนักงานเข้าใหม่ก็จะมีข้อเสียจากการขาดการสอนงาน (Mentoring) จากรุ่นพี่ (เพราะไม่สามารถจะได้เรียนแบบตัวต่อตัวโดยง่าย) รวมถึงไม่ได้รับการดูแลจากผู้บริหารเท่าที่่ควร

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว องค์กรในยุคต่อไปอาจหาเวลาให้พนักงานเข้าทำงานในสำนักงาน (On-site) บ้าง สลับกับ WFH ขณะที่พนักงานอาวุโสก็ต้องมีวินัยในการทำงานที่บ้าน (ต้องไม่ทำงานทั้งมากไปและน้อยไป) เรียนรู้เทคโนโลยีและพัฒนาการใหม่ ๆ และใส่ใจพนักงานใหม่มากขึ้น และสุดท้าย พนักงานใหม่ จะต้องเข้าใกล้รุ่นพี่ เพื่อเรียนรู้มากขึ้น และต้องทำงานหนัก

โลกการเงินในอนาคตจะไม่สดใส บุคลากรทางการเงินต้องปรับตัวและยืดหยุ่น จึงจะอยู่รอดได้ในโลกแห่งความผันผวน


บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่

คอลัมน์ : Global Vision  
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ฝ่ายวิจัยการลงทุน 
บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด
[email protected]