เศรษฐกิจโลกอาจตกที่นั่งลำบากเพราะธนาคารกลางสหรัฐประเมินเงินเฟ้อผิดพลาด

เศรษฐกิจโลกอาจตกที่นั่งลำบากเพราะธนาคารกลางสหรัฐประเมินเงินเฟ้อผิดพลาด

ฝ่ายวิจัยของธนาคารกลางสหรัฐมีหน้าที่หลักด้านนโยบายการเงินเพียง 2 ประการคือ คาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานให้ถูกต้องแม่นยำ

หน้าที่หลักของธนาคารกลางสหรัฐตามกฎหมายคือ การบริหารนโยบายการเงินให้เกิดภาวะ “full employment and price stability” อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของการว่างงานที่ต่ำที่สุดที่ไม่กระตุ้นให้เงินเฟ้อสูงขึ้นนั้นน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.5-5.0% 

ในขณะที่เสถียรภาพของราคานั้น ธนาคารกลางสหรัฐตั้งเป้าหมาย (อย่างไม่เป็นทางการ) เอาไว้ว่าเงินเฟ้อควรจะเฉลี่ยประมาณ 2% ต่อปี จะถือได้ว่าสามารถทำให้เกิดเสถียรภาพของราคา

ข้อมูลจากธนาคารกลางสหรัฐแจ้งว่ามีพนักงานที่ได้ปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์กว่า 400 คนและในส่วนของฝ่ายวิจัยนั้นเข้าใจว่ามีนักวิเคราะห์เศรษฐกิจในมิติต่างๆ กว่า 350 คน เพียงเพื่อคาดการณ์เงินเฟ้อและอัตราการว่างงานที่ถูกต้อง 

เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการกำหนดมาตรการปรับดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตร (คิวอี) ที่เหมาะสม แต่ปรากฏจากข้อเท็จจริงที่ผ่านมาว่า ธนาคารกลางสหรัฐนั้นไม่สามารถคาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อที่ถูกต้องได้

กล่าวคือเมื่อต้นปีที่แล้วธนาคารกลางสหรัฐรับรู้ว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นตอนต้นปี เพราะการเปิดเศรษฐกิจและนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่กระตุ้นให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวอย่างเร่งรีบ 

แต่ยืนยันว่าเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นตอนต้นปีจะเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวเพราะฐานตัวเลขของปี 2020 ที่ต่ำมากและการปรับตัวของภาคอุปทานตลอดจนปัญหาระยะสั้นที่เกิดขึ้นจากห่วงโซ่ภาคการผลิต 

กล่าวคือเงินเฟ้อจะไม่ต่อเนื่องหรือยืดเยื้อ (transitory) โดยคาดการณ์เมื่อต้นปี 2021 อย่างมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐจะลดลงมาเหลือประมาณ 2.1% ตอนปลายปี 2021 ที่ผ่านมา

แต่ปรากฏว่าเงินเฟ้อสหรัฐหากวัดจากดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค (CPI) ตอนเดือนธันวาคม 2021 นั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 7.2% ในขณะเดียวกันหากวัดอัตราเงินเฟ้อของการใช้จ่ายของภาคเอกชน (Personal Consumption Expenditure หรือ PCE) ที่ธนาคารกลางสหรัฐให้ความสำคัญมากกว่า ก็ยังอยู่ที่ระดับสูงเกินกว่าที่ธนาคารกลางสหรัฐได้ประเมินเอาไว้กว่าเท่าตัว 

กล่าวคือเงินเฟ้อ PCE ในเดือนธันวาคม 2021 นั้นสูงถึง 5.8% ในขณะที่ Core PCE (ไม่รวมราคาน้ำมันและอาหาร) ในเดือนเดียวกันเท่ากับ 4.9%

ได้มีการรายงานเชิงวิเคราะห์ของ CNBC เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อหาสาเหตุว่าทำไมการคาดการณ์จึงผิดพลาดไปได้อย่างมาก ซึ่งมีข้อสรุปหลักๆ อยู่ 2 ข้อคือ 

1. ความเชื่องช้าในการปรับเปลี่ยนความคิด แม้ว่าข้อมูลที่ปรากฎนั้นจะย้อนแย้งกับการคาดการณ์ของแบบจำลองทางเศรษฐกิจที่ถูกจัดทำโดยฝ่ายวิจัยของธนาคารกลางสหรัฐและ

ข้อ 2. คือการที่นาง Janet Yellen อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้นได้โอนเจ้าหน้าที่หลายคนจากธนาคารกลางสหรัฐให้ไปดำรงตำแหน่งระดับสูง สำคัญๆ ในกระทรวงการคลัง 

ซึ่งย่อมจะเป็นประโยชน์ในการประสานนโยบายเศรษฐกิจมหภาคระหว่างกันของทั้ง 2 หน่วยงาน นอกเหนือไปจากการที่ Yellen กับผู้ว่าการธนาคารกลางนาย Jerome Powell นั้นจะร่วมปรึกษาหารือโดยการกินอาหารเช้าร่วมกันทุกสัปดาห์ 

แต่บทวิเคราะห์สรุปว่าสภาวะที่เกิดขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาคือการที่แนวคิดของกระทรวงการคลังสหรัฐถูกครอบงำโดยจุดยืนของธนาคารกลางสหรัฐและทำให้เกิดการคิดและข้อสรุปที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ได้มีการรับฟังข้อมูลที่โต้แย้งแนวคิดหลักดังกล่าวอย่างจริงจัง 

ดังนั้น แม้ว่านักวิเคราะห์บางคน เช่น นาย Larry Summers อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีคลินตันและนาย Jason Furman ประธานที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโอบามา

ซึ่งทั้ง 2 คนเป็น “ผู้ใหญ่” ในด้านเศรษฐศาสตร์ของพรรคเดโมแครตจะออกมาเตือนว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก คำเตือนดังกล่าวจึงไม่ได้ถูกรับฟังอย่างทันท่วงที

การที่เงินเฟ้อของสหรัฐสูงเกินคาด กำลังส่งผลกระทบออกไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง เช่น การที่ดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐกำลังปรับตัวขึ้นใกล้ 2% ย่อมทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวในประเทศอื่นๆ เช่นที่ยุโรปกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย 

นอกจากนั้นอุปสงค์ที่สูงกว่าอุปทานที่สหรัฐย่อมเติมแรงกดดันเงินเฟ้อที่กำลังขยับตัวขึ้นอยู่แล้วในประเทศอื่นๆ ด้วย เช่นที่อังกฤษซึ่งธนาคารกลางว่าเป็นต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 2 ครั้งซ้อน

การเผชิญหน้ากันที่ยูเครนที่กำลังทำให้ราคาพลังงาน (ทั้งก๊าซและน้ำมัน) ปรับตัวสูงขึ้นนั้นย่อมจะทวีความรุนแรงขึ้นไปอีกในสภาวการณ์ที่กำลังซื้อในประเทศพัฒนาแล้วกำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแรง  

กล่าวคือในอดีตเมื่อราคาพลังงานปรับตัวขึ้นนั้น หากอุปสงค์โดยรวมอ่อนแอ ราคาพลังงานก็จะถึงจุด demand destruction price (ราคาน้ำมันที่เริ่มทำให้อุปสงค์ลดลง) อย่างรวดเร็วแต่ในรอบนี้เมื่ออุปสงค์แข็งแรงมาก demand destruction price สำหรับพลังงานอาจอยู่อีกไกลจากราคาปัจจุบัน 

สำหรับประเทศไทยนั้นน่าจะกำลังได้รับผลกระทบอย่างมากและยืดเยื้อเพราะมีมิติทางการเมืองเข้ามาแทรก กล่าวคือมูลค่านำเข้าพลังงานและน้ำมันหล่อเลื่อนต่างๆ นั้นได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 194,569.45 ล้านบาทในไตรมาส 4 ของปี 2020 มาเป็น 417,176.98 ล้านบาทในไตรมาส 4 ของปี 2021 (เพิ่มขึ้นถึง 115%) 

ในปีนี้กระทรวงพลังงานแจ้งว่าการที่กองทุนน้ำมันพยายามตรึงราคาก๊าซหุงต้มและดีเซล ได้ทำให้ต้องใช้เงินไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาทในเดือนมกนาคมที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่กล้าปล่อยให้ราคาพลังงานปรับสูงขึ้น เพราะใกล้เวลาเลือกตั้ง ก็จะทำให้กองทุนน้ำมันต้องขาดทุนอีกเป็นจำนวนมาก (ประมาณ 6,500 ล้านบาทต่อเดือน) และคนไทยก็จะไม่มีแรงจูงใจในการประหยัดการใช้พลังงาน ทำให้ไทยต้องเสียเงินนำเข้าพลังงานเพิ่มขึ้นอีกมากในปีนี้และต่อไปในอนาคต.