สถิติใช้ดิจิทัลทั่วโลก'คนไทย' เป็นอันดับต้นหลายด้าน

สถิติใช้ดิจิทัลทั่วโลก'คนไทย' เป็นอันดับต้นหลายด้าน

ทุกๆ ปี We are socia จะจัดทำรายงานเกี่ยวกับ สรุปสถิติการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั่วโลก รวบรวมข้อมูล การใช้อินเทอร์เน็ต การใช้มือถือ อุปกรณ์ต่างๆ พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต การใช้สื่อสังคมออนไลน์ การใช้แอพพลิเคชันต่างๆ ตลอดจนการใช้อีคอมเมิร์ช และการชำระเงินออนไลน์

ล่าสุดได้ออกรายงาน Digital 2022 Global Overview เมื่อปลายเดือนมกราคมนี้ ซึ่งสรุปการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ทำให้เราเห็นแนวโน้มการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในแง่มุมต่างๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้

จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกมีจำนวน 4,950 ล้านคน คิดเป็น 62.5% ของประชากรทั้งโลก โดยเฉลี่ยจะใช้เวลาเล่นอินเทอร์เน็ตถึงคนละ 6 ชั่วโมง 58 นาทีต่อวัน สำหรับประเทศไทยมีอัตราส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตต่อประชากรทั้งหมดอยู่ที่ 77.8% ติดอันดับที่ 34 ของโลก แต่เราใช้เวลาในการเล่นอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยสูงถึง 9 ชั่วโมง 06 นาทีต่อวัน ติดอันดับที่ 7 ของโลก
 

อุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่คนทั่วโลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ต จะมาจากมือถือที่คิดเป็น 92.1% เมื่อเทียบเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ 71.2% และที่น่าสนใจอย่างมากก็คือ คนไทยติดอันดับสองของโลกที่ใช้เวลาเฉลี่ยการเล่นอินเทอร์เน็ตจากมือถือที่ 5 ชั่วโมง 28 นาทีต่อวัน โดยที่ฟิลิปปินส์เป็นอันดับหนึ่งของโลก ส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตจากเครื่องคอมพิวเตอร์คนไทยใช้เวลาเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน ติดอันดับที่ 18 ของโลก

ส่วนในด้านความเร็วของอินเทอร์เน็ตตามบ้านพบว่า ประเทศไทยติดอันดับสองของโลก ที่ความเร็ว 171.37 Mbps รองจากสิงคโปร์ และความเร็วของอินเทอร์เน็ตทางมือถือของประเทศไทยอยู่ที่ 31.91 Mbps ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 29.06 Mbps ไม่มากนัก และติดอันดับที่ 29 ของโลก
 

ในรายงานระบุว่า ผู้คนทั่วโลกเข้าเว็บไซต์หรือเล่นแอพต่างๆ เพื่อพูดคุยหรือส่งข้อความหาเพื่อนสูงถึง 95.6% ตามมาด้วยการใช้โซเชียล มีเดีย 95.2% และการค้นหาข้อมูล 83.6% อันดับที่สี่คือ การดูสินค้าออนไลน์ 58.1% การค้นหาสถานที่หรือดูแผนที่ 56.9% การใช้อีเมล 50.4% การฟังเพลง 46.9% ติดตามข่าวสาร 42.3% การเล่นเกมส์ 34.8% และเพื่อการศึกษาเพียง 26.5%

รายงาน Digital 2022 แม้มีข้อมูลพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต สถิติเว็บไซต์ยอดนิยม การเข้าชม NetFlix หรือการฟังเพลงจาก Spotify ตลอดจนการค้นหาข้อมูลต่างๆ แต่ก็ยังเป็นภาพรวมทั่วโลก ยังไม่ได้แยกให้เห็นสถิติเป็นรายประเทศซึ่งโดยมากทาง We are social จะออกรายงานของแต่ละประเทศตามหลังมาอีก

แต่เท่าที่พบในขณะนี้ สถิติที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยที่มาจากการสอบถามข้อมูลผู้ใช้ช่วงอายุระหว่าง 16 -64 ปีทั่วโลก ของ GWI.com มีข้อมูลที่น่าสนใจในหลายเรื่อง เช่น คนไทยติดอันดับสองของโลก ในการเล่นวิดีโอเกมส์จากทุกอุปกรณ์ โดยมีจำนวน 94.7% ของจำนวนผู้สอบถามที่ใช้อินเทอร์เน็ต โดยอันดับหนึ่งคือประเทศฟิลิปปินส์ ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 83.6%

คนไทยติดอันดับหนึ่งของโลก ในการถือของเงินสกุลคริปโทฯ มีจำนวน 20.1% นำหน้าประเทศ ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ และแอฟริกาใต้ ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 10.2%

คนไทยติดอันดับหนึ่งของโลก ในการซื้อสินค้าออนไลน์เป็นประจำทุกสัปดาห์โดยมีจำนวน 68.3% ของจำนวนผู้สอบถามที่ใช้อินเทอร์เน็ตนำหน้าประเทศ มาเลเซีย เกาหลีใต้ เม็กซิโก และจีน ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 58.4%

คนไทยติดอันดับสามของโลก ในการชำระเงินผ่านมือถือ โดยมีจำนวน 36.2% ของจำนวนผู้สอบถามที่ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งฮ่องกงและไต้หวันเป็นอันดับหนึ่งและสอง ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 25.8% ขณะที่ คนไทยใช้ออนไลน์วิดีโอเพื่อการศึกษา ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก โดยอยู่ที่ 41.7% ติดอันดับที่ 26 ของโลก ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 46.8%

คนไทยให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้งานในทางที่ไม่เหมาะสมต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกมาก โดยอยู่ที่ 26.1% ติดอันดับที่ 45 ของโลก ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 38.8%

จากข้อมูลในรายงานได้สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านอินเทอร์เน็ตที่ค่อนข้างดี ประชาชนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น และมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ค่อนข้างสูง แต่ก็มีความน่าเป็นห่วงว่าคนไทยใช้เวลาเล่นอินเทอร์เน็ตและอยู่กับมือถือมากเกินไป สูงกว่าหลายประเทศในโลก และเน้นไปที่ความบันเทิง การเล่นเกมส์ มากกว่าการค้นข้อมูลด้านการศึกษา

ทั้งนี้สิ่งที่น่าสนใจ คือ คนไทยหันมาให้ความสำคัญการด้านการเงินมากขึ้น ทั้งด้านการชำระเงินและการถือครองคริปโทฯ

อย่างไรก็ตาม เราควรต้องหาแนวทางที่จะทำให้คนของเราใช้เวลากับโลกออนไลน์ให้น้อยลง และเน้นใช้เพื่อการทำงานมากกว่านี้ จึงจะมั่นใจได้ว่า เราใช้เทคโนโลยีได้เหมาะสม และนำไปใช้เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศได้