ว่าด้วยการสูงวัยและฉลาดขึ้น | วิทยากร เชียงกูล

ว่าด้วยการสูงวัยและฉลาดขึ้น | วิทยากร เชียงกูล

Vivian Clayton นักจิตวิทยา - ประสาทวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคชรา วิจัยพบว่า ลักษณะของคนฉลาด หรือภูมิปัญญานั้นประกอบไปด้วย การรู้คิด (Cognition) การไตร่ตรอง (Reflection) และความเห็นอกเห็นใจ (Compassion)

การวิจัยในหัวข้อศาสตร์ว่าด้วยกระบวนการคิด พบว่า คนสูงวัยมีข้อมูลสะสมอยู่ในหัวสมองของพวกเขามากกว่าคนหนุ่มสาว เวลาที่สมองของคนสูงวัยจะดึงข้อมูลมาใช้ย่อมใช้เวลานานกว่าคนหนุ่มสาว 
    แต่คนสูงวัยมีความความสามารถในการแยกแยะความแตกต่างเพียงเล็กน้อยของสิ่งต่างๆ ได้เหนือกว่าคนหนุ่มสาว

วิธีที่สมองของคนเราเรียนรู้คือ ยิ่งคนที่มีข้อมูลอยู่ในสมองเขามากเท่าไหร่ เมื่อเขาได้ข้อมูลใหม่เขาจะสามารถเชื่อมโยงกับแบบแผน (Pattern) ที่เขาคุ้นเคยได้มากขึ้นเท่านั้น 


ดังนั้น คนสูงวัยที่มีข้อมูลในสมอง สามารถจำได้และตระหนักถึงแบบแผนของสิ่งต่างๆ ได้มาก นี่เป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้พวกเขามีการตัดสินใจและพฤติกรรมที่ฉลาด

ดอกเตอร์เคลย์ตัน กล่าวว่า การจะเป็นคนฉลาดได้ คนเราต้องใช้เวลาในการที่จะเข้าใจการหยั่งรู้ (Insight) และมิติต่างๆ จากกระบวนการรู้คิดของเขา (มิติการไตร่ตรอง) คนๆ นั้นจึงจะสามารถใช้การหยั่งรู้ของเขาไปเข้าใจและช่วยเหลือคนอื่น (มิติด้านความเห็นอกเห็นใจ)

Monika Ardelt อาจารย์สาขาสังคมวิทยา กล่าวว่า การวิจัยชี้ให้เห็นว่าคนสูงวัยที่พอใจในชีวิต จะมาจากปัจจัยเช่น การมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี การมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับคนอื่นๆ และการมีจิตใจช่วยเหลือคนอื่น 

คนสูงวัยอาจมีข้อด้อยด้านสุขภาพ บทบาททางสังคมลดลง แต่การมีภูมิปัญญา (Wisdom) เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้คนสูงวัย สามารถที่จะค้นหาความหมาย ความพอใจ และการยอมรับในช่วงสูงวัยได้

เธอออกแบบการวิจัยเพื่อวัดภูมิปัญญาคนสูงวัยใน 3 ด้าน คือ การรู้คิด (Cognition) การไตร่ตรอง (Reflection) และความเห็นอกเห็นใจ (Compassion) และพบว่า คนที่ได้คะแนนว่าภูมิปัญญาสูงจะมีทักษะในการเผชิญกับปัญหาต่างๆ (Coping Skills) ที่ดีกว่า เช่น พวกเขาจะตอบว่า พวกเขาพร้อมจะจัดการกับความยากลำบากอย่างเอาการเอางาน (Active) มากกว่าแบบเฉื่อยเนือย (Passive)

Isabela S.Bick นักบำบัดทางจิต ผู้อายุ 81 ปี ยังทำงานบางเวลาให้คำปรึกษาคนไข้ที่บ้านของเธอ เธอมีคนไข้สูงวัยที่ไม่พอใจกับรูปร่างหน้าตาที่เปลี่ยนไปจากช่วงวัยก่อนหน้านี้, เรื่องความสามารถทางเพศ, ความสามารถทางร่างกายและความจำที่ลดลง

เธอกล่าวว่าอุปสรรคที่ขัดขวางเรื่องภูมิปัญญาคือคนที่คิดทำนองว่า “ฉันทนตัวเองตอนนี้ไม่ได้ เพราะฉันไม่เหมือนคนที่ฉันเคยเป็นอีกต่อไป”

ว่าด้วยการสูงวัยและฉลาดขึ้น | วิทยากร เชียงกูล

เธอมองว่าการยอมรับเรื่องความจริงเรื่องสภาพการสูงวัยเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการที่คนๆ หนึ่ง จะเจริญงอกงามต่อไปได้ ไม่ใช่การยอมรับอย่างสิ้นหวัง แต่เป็นการยอมรับความจริงอย่างเต็มใจ

ศาสตราจารย์ Ardelt กล่าวว่า “คนฉลาดจะสามารถยอมรับความจริงอย่างที่มันเป็นอยู่ ด้วยความสุขุมได้” เธอพบว่าในหมู่คนสูงวัยที่อยู่บ้านพักคนชราหรือเจ็บป่วยเรื้อรัง คนที่ได้คะแนนแสดงภูมิปัญญาสูง มีความรู้สึกเรื่องสุขภาวะมากกว่าคนที่มีภูมิปัญญาต่ำ  

ศาสตราจารย์ Staudinger อาจารย์ด้านจิตวิทยากล่าวว่า เมื่อคุณอายุมากขึ้น เป็นการฉลาดกว่าที่จะมองชีวิตในทางบวก เพราะนี่คือยุทธศาสตร์ในการจัดการกับชีวิตที่ดีกว่า 


คนฉลาดควรจะยอมรับความผิดพลาดและการสูญเสีย และยังคงพยายามที่จะปรับปรุงตัวเองต่อไป คนฉลาดจะยอมรับด้านลบทั้งจากภายในหรือภายนอกตัวเขา และพยายามที่จะเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้

ภูมิปัญญายังรวมถึงความเมตตากรุณาต่อคนอื่น เรื่องนี้เป็นประโยชน์ในทางจิตใจต่อเราโดยตรง ภูมิปัญญาเกี่ยวข้องกับ “การลดการยึดติดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง” คนฉลาดจะพยายามเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ จากหลายมุมมอง ไม่ใช่จากมุมมองของเขาเท่านั้น และดังนั้นเขาจะเป็นคนอดกลั้นได้มากกว่า

Laura L.Cartensen ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเรื่องการมีอายุยืน มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า “มีหลักฐานว่าคนที่มีปัญหาโรคประสาท (Neuroticism) สูง มักจะไม่ใช่คนฉลาดอย่างแท้จริง พวกเขามองสิ่งต่างๆ โดยใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลางและมักมองด้านลบ ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ได้เรียนรู้เรื่องการพัฒนาอารมณ์จากประสบการณ์ แม้ว่าพวกเขาจะมีสติปัญญาที่เฉลียวฉลาดในเรื่องอื่นๆ มากก็ตาม”

ศาสตราจารย์ Cartensen วิจัยเรื่องการควบคุมทางอารมณ์ และกล่าวว่านี่คือส่วนที่สำคัญของภูมิปัญญา เธอกล่าวว่า “ถ้าคุณฉลาด คุณไม่เพียงแต่รู้จักควบคุมสถานการณ์ด้านอารมณ์ของคุณได้ดีเท่านั้น คุณยังเอาใจใส่สถานการณ์ด้านอารมณ์ของคนอื่นๆ ด้วย คุณไม่ได้เน้นเฉพาะเรื่องที่คุณต้องการและคิดว่าคุณควรได้รับมัน แต่คุณยังคิดว่าคุณจะสามารถทำประโยชน์อะไรให้คนอื่นด้วย”
Danie Goleman นักจิตวิทยาผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ความฉลาดทางอารมณ์” และหนังสือขายดีเล่มอื่นๆ กล่าวว่า “ด้านหนึ่งของภูมิปัญญา คือการรู้จักมองเรื่องต่างๆ ในมุมมองที่กว้างขวางมาก ไม่ใช่มีศูนย์กลางในการมองเฉพาะแค่ตัวเราเอง หรือแม้แต่กลุ่มของเราองค์กรของเรา”

เขาสนับสนุนแนวคิดของ Erik Erikson นักจิตวิทยารุ่นอาวุโสในเรื่องว่าคนสูงวัยนั้นควรมี Generativity - ความรู้สึกเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนอื่น โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน “คนที่ฉลาดที่สุด ให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่โดยไม่ต้องมานั่งคิดถึงว่าตัวเขาเองกำลังมีช่วงเวลาของชีวิตที่จำกัด”

Joan Ericson “คนเราจะต้องเข้าร่วมกับกระบวนการปรับตัว จะด้วยยุทธวิธีหรือภูมิปัญญาอะไรก็ตามแต่ที่เราสามารถหามาใช้ได้ เราจะต้องยอมรับข้อจำกัดด้านสมรรถภาพของเราอย่างใจเย็นและมีอารมณ์ขัน”

ว่าด้วยการสูงวัยและฉลาดขึ้น | วิทยากร เชียงกูล

ดอกเตอร์เคลย์ตัน กล่าวว่า ไม่ว่าธรรมชาติของข้อจำกัดของคนเราจะเป็นอะไรก็ตาม การรู้จักใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย คือสัญญาณหนึ่งของภูมิปัญญา เช่น การบริจาคข้าวของที่เกินความจำเป็นที่จะต้องใช้ให้คนอื่นขณะที่คุณยังมีชีวิต แทนที่จะคิดแต่เรื่องการสะสมและหวงข้าวของเอง

การใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย มีข้าวของน้อยลง เป็นคนละเรื่องกับการยอมแพ้ คนสูงวัยควรมีเป้าหมายในการใช้ชีวิตบางอย่างที่สอดคล้องกับความสามารถขณะนั้นของเขา หากคนสูงวัยขาดความรู้สึกท้าทาย เขาอาจจะหมกมุ่นคิดถึงแต่เรื่องตัวเองและหยุดนิ่งอยู่กับที่

การเรียนรู้ต่อเป็นวิธีที่สำคัญในการพัฒนาภูมิปัญญาในช่วงสูงวัย อย่างแรกคือช่วยให้ไม่ต้องอยู่คนเดียวมากไป สำหรับคนสูงวัย การเรียนรู้ทักษะสมัยใหม่อาจเป็นประโยชน์น้อยกว่าการเรียนวิชาทางมนุษยศาสตร์ เช่น จิตวิทยา ปรัชญา ศิลปวรรณกรรม ฯลฯ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องชีวิตและตัวเขาเองได้มากขึ้น

“ความพอใจหรือไม่พอใจต่อการกระทำของคนอื่น เป็นเรื่องที่ตัวเธอเองเป็นคนเลือกที่จะตีความ ไม่ใช่ตัวการกระทำนั้นโดยตรง”.
            อีปิคตีตัส,คู่มือการใช้ชีวิตเพื่อความสุขทีแท้จริง สำนักพิมพ์มูลนิธิเพื่อนหนังสือ ม.ค.2565