แชร์ลูกโซ่กับสินทรัพย์ดิจิทัล (1) | พิเศษ เสตเสถียร

แชร์ลูกโซ่กับสินทรัพย์ดิจิทัล (1) | พิเศษ เสตเสถียร

จากคลิป “แบไต๋ประสบการณ์ “เสียค่าโง่ 4 ล้าน” แฉกลโกงเจ้ามือแชร์ DeFi : GameFi” (www.youtube. com/watch?v=hW8N1tesi9w ) กำลังบอกเราว่า “แชร์ลูกโซ่” ได้เข้ามาสู่วงการสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยแล้ว

“แชร์ลูกโซ่” ดูเหมือนจะมีทุกยุคทุกสมัย แต่ของที่เขาบอกให้ไปลงทุนจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เมื่อสมัยนี้เป็นยุคของ Disruption แชร์ลูกโซ่ก็ปรับให้ทันสมัยด้วยการให้มาลงทุนใน “สินทรัพย์ดิจิทัล” 
    แชร์ลูกโซ่สมัยใหม่ที่เกิดเป็นคดีความก็เห็นจะเป็น “แชร์แม่ชม้อย” ที่มีเรื่องเป็นข่าวขึ้นมาเมื่อประมาณปี 2526     แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า ก่อนหน้านั้นหลายสิบปีก็มีคดีแชร์ลูกโซ่สู่ศาลฎีกามาแล้ว 

คำพิพากษาศาลฎีกาในปี 2498 ซึ่งตัดสินว่า “จำเลยตั้งสำนักงานขึ้นให้ชื่อว่า บริษัท ช. มีวัตถุประสงค์ทำการค้าและชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาฝากเป็นการเข้าหุ้น แต่การเข้าหุ้นนี้จำเลยคิดผลประโยชน์ให้ร้อยละ 50 บาทต่อเดือนเป็นรายเดือน มีประชาชนหลายจังหวัดนำเงินมามอบให้จำเลยเป็นจำนวนมากมายหลายสิบล้านบาทเพราะหวังผลประโยชน์ตอบแทนอันสูง 
    ดังนี้ เมื่อคำนวณอัตราผลประโยชน์ร้อยละ 50 ต่อเดือนที่จำเลยคิดให้แล้วในเงินต้นเพียง 100 บาท ถ้าฝากจำเลยสมทบทั้งต้นและผลประโยชน์ ในปีหนึ่งจำเลยจะต้องจ่ายเงินเป็นเงินหนึ่งหมื่นเศษ ถ้าถึงปีที่ 2  ก็เป็นจำนวนเกินล้านบาท ซึ่งเป็นที่เห็นได้ชัดว่าจำเลยจะไปหาผลกำไรมาจากที่ไหนมาจ่ายให้ได้
    แม้จำเลยเองก็ว่าหุ้นส่วนมีกำไรเท่าใดไม่อาจรู้ได้ แต่กระนั้นจำเลยก็ยังคงจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ฝากไปได้ เหตุที่จำเลยจ่ายเงินปันผลทั้ง ๆที่ไม่รู้ว่ามีกำไรเท่าใดนั้น ย่อมประกอบให้เห็นเจตนาจำเลยในการลวงให้เขาหลงเชื่อโดยแท้ 
    การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้อุบายเป็นทำนองที่ว่า ตนทำการค้าใหญ่โตให้เขานำเงินมาฝากเข้าเป็นหุ้นส่วน โดยสัญญาจะจ่ายเงินปันผลให้ร้อยละ 50 ต่อเดือนทั้ง ๆที่ตนเองก็รู้ดีว่า ไม่สามารถจะจ่ายให้เขาได้ จึงนับว่าเป็นความเท็จและคนหลงเชื่อนำเงินมาฝากมากมายเช่นนี้ยอมเข้าเกณฑ์ความผิดฐานฉ้อโกงตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 304” (คำพิพากษาฎีกาที่ 2498 1201 - 1203/2498)

ต่อจากนั้น ถึงจะมาเป็นคดี “แชร์แม่ชม้อย” ที่ลือลั่น โดยบอกให้เหยื่อลงทุนในรถน้ำมัน  โดยวิธีการรับกู้ยืมเงินจากประชาชนและให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงเป็นรายเดือน โดยกำหนดวิธีการรับกู้ยืมเงินเป็นคันรถบรรทุกน้ำมันคันรถละ 160,500 บาท ให้ผลตอบแทนเดือนละ 12,000 บาท หรือร้อยละ 6.5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 78 ต่อปี มีประชาชนและผู้เสียหายในคดีนี้ที่หลงเชื่อจำนวน 13,248 คน ซึ่งต่างคนต่างให้กู้ยืมเงินไป 23,519 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,043,997,795 บาท 
    ในขณะนั้นรัฐบาลเห็นท่าไม่ดี และความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาไม่รัดกุมพอและอาจไม่สามารถเอาผิดกับนางชม้อยได้ ก็เลยตราพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน 
    พระราชกำหนดดังกล่าวได้ประกาศและมีผลใช้บังคับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2527 มาจัดการ ผลสุดท้าย ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อ 27 กรกฎาคม 2532 ว่า จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา รวม 23,519 กระทง 
    โดยให้จำคุกจำเลย กระทงละ 5 ปี รวม 23,519 กระทง จำคุก 117,595 ปี ฐานฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 รวม 3,641 กระทง ตัดสินให้จำคุกจำเลยกระทงละ 10 ปี รวม 3,641 กระทง จำคุก 36,410 ปี รวมจำคุกทั้งหมด 154,005 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดแล้ว คงจำคุกทั้งสิ้นคนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ที่แก้ไขแล้ว (ขอขอบคุณข้อมูลจาก Wikipedia)
    นับจากคดีแชร์ชม้อยมาจนถึงปัจจุบันก็ 30 กว่าปี ก็มีคดีแชร์ลูกโซ่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ  นับตั้งแต่ แชร์ยูฟัน แชร์ซินแสโชกุน แชร์ Forex 3D และอีกมากมาย จนกระทั่งล่าสุด ก็มีคดีบ้านออมเงิน บ้านแชร์  Milk Milk ที่ท้าวแชร์เป็นแค่นักศึกษานิติศาสตร์ ปี 4 ได้เงินไปกว่า 300 ล้านบาท
    แชร์ลูกโซ่เกิดขึ้นมาต่อเนื่อง ครั้งแล้วครั้งเล่าเป็นเวลาหลายสิบปี ความจริงประชาชนก็น่าจะรู้กันดีอยู่แล้ว แต่ผู้เสียหายในทุกคดีก็จะบอกเสมอว่า ถูกหลอกลวงให้ไปลงทุน  แปลกนะครับ ?????