โครงสร้างธุรกิจประกัน กับดอกเบี้ยขาขึ้น

โครงสร้างธุรกิจประกัน กับดอกเบี้ยขาขึ้น

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ผ่านปีใหม่มาหนึ่งเดือนแล้ว ท่านผู้อ่านเป็นอย่างไรกันบ้างครับ หลายๆคน แซวกันเป็นมีมขำๆในโซเชียล ว่าม.ค.ที่ผ่านมาเป็นเดือนที่ยาวนาน เพราะว่ามีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นกับชีวิตจริงมั้ยครับ

ไม่ว่าจะเป็นการขยายสายพันธ์ของ Covid-19 ความผันผวนของตลาด Cryptoวมไปถึงการรอการแถลงการของ FED และหลายๆท่านคงได้ยินข่าวกันมาบ้างแล้วใช่มั้ยครับ ว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ดอกเบี้ยกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ปัจจัยหลักๆที่ทำให้ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นนั้น ก็มาจากเรื่องของเงินเฟ้อ อีกส่วนก็เป็นการขึ้นดอกเบี้ยจากธนาคารกลางของแต่ละประเทศนั่นเอง

ท่านผู้อ่านคงเริ่มคิดแล้วใช่มั้ยครับ แล้วถ้าดอกเบี้ยขาขึ้นแบบนี้ แล้วจะมีธุรกิจแบบไหนหรือไม่ ที่จะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น

วันนี้ผมจะมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักธุรกิจหนึ่ง ที่จะได้ผลประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ คือธุรกิจประกันครับ ท่านผู้อ่านอ่านมาถึงตรงนี้ อาจมีข้อสงสัยแล้วใช่มั้ยครับ ว่าธุรกิจประกันจะได้กำไรจากดอกเบี้ยขาขึ้นได้อย่างไร วันนี้ผมจะมาเล่าโครงสร้างของธุรกิจประกันให้ทุกท่านได้ทราบว่าจริงๆแล้วเป็นอย่างไร และทำไมได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น

ธุรกิจประกันนั่นจะถูกดูแลโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดย คปภ.จะเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้กับโบรคเกอร์ บริษัทประกันภัย และบริษัทประกันชีวิตต่างๆ ตามขั้นตอนแล้ว การรับงานประกันส่วนใหญ่ก็จะรับมาจากตัวแทน หรือนายหน้า ผ่านทางโบรคเกอร์ ที่เราได้ยินกันอย่างคุ้นหูก็เช่น TQM และBancassurance คือผ่านทางช่องทางต่างๆของธนาคาร โดยโบรคเกอร์ และBancassurance เหล่านี้เมื่อได้รับงานมา ก็จะส่งต่อการประกันภัยไปยังบริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิต โดยโบรคเกอร์ไม่ต้องรับความเสี่ยงไว้เอง

ซึ่งในประเทศไทยนั่น จะมีใบอนุญาตที่เกี่ยวกับบริษัทประกัน อยู่ 2 ประเภท คือ ใบอนุญาตประกันชีวิต และใบอนุญาตประกันวินาศภัย โดยบริษัทที่มีใบอนุญาตเกี่ยวกับประกันชีวิตที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เช่น BLA และปีนี้กำลังจะมีอีกบริษัทที่กำลังยื่นจดทะเบียนก็คือ TLI หรือบริษัทไทยประกันชีวิตนั่นเอง บริษัทประกันชีวิตหลักๆที่ทุกท่านทราบ คือการรับประกันชีวิต ประกันสุขภาพ รวมไปถึงประกันแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งประกันประเภทเหล่านี้เป็นประกันภัยที่มีระยะเวลาสัญญายาว บริษัทประกันชีวิตเหล่านี้ก็จะเก็บเงินของผู้เอาประกันภัยที่ได้จ่ายในช่วงเวลาต่างๆของชีวิตของเค้าไว้ ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก และระหว่างทางนี้เอง บริษัทฯก็จะนำเงินตรงนี้ไปสร้างผลกำไร ไม่ว่าจะเป็นการนำไปซื้อตราสารหนี้ หรือนำไปลงทุนอื่นๆ เป็นเหตุว่า เมื่อดอกเบี้ยขาขึ้นแบบนี้ บริษัทประกันชีวิตก็จะได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่จากดอกผลที่ได้รับนั่นเอง

ส่วนการประกันภัยอีกประเภท คือการประกันวินาศภัย บริษัทที่เราเคยได้เห็นชื่ออยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น TIPH TVI SMK เป็นต้น บริษัทกลุ่มนี้จะรับความคุ้มครองเกี่ยวกับวินาศภัยต่างๆ เช่น ประกันรถยนต์ ประกันขนส่ง ประกันอัคคีภัย รวมไปถึงประกันที่พวกเราคุ้นหูอยู่ในตอนนี้ คือประกัน Covid-19 แบบค่ารักษา เจอจ่ายจบ ฯลฯ เป็นประกันภัยที่ไม่จำเป็นต้องพ่วงกับประกันชีวิต บริษัทประกันภัยสามารถรับความคุ้มครองได้เลย ซึ่งผู้อ่านคงได้เห็นข่าวกันมาแล้วใช่มั้ยครับ เกี่ยวกับวิกฤติของบริษัทประกันวินาศภัยหลายบริษัทที่ปิดตัว หรือ กำลังยื่นของปิด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเคลมประกันเจอจ่ายจบไป เพราะว่าประกันเจอจ่ายจบนั่น เบี้ยไม่ได้สูงและเคลมได้ง่าย จึงทำให้มีผู้เรียกร้องสินไหมเข้ามาอย่างมากมาย จนส่งผลให้บริษัทต่างๆเหล่านั้น จึงต้องปิดตัวลง

และตามหลักการประกันภัยแล้วนั่น จะต้องรับการประกันภัยแบบกระจาย จะไม่รับแบบกระจุก เมื่อบริษัทประกันภัย และบริษัทประกันชีวิตรับงานมาแล้ว ก็จะต้องมีการกระจายความเสี่ยงออกไป โดยบริษัทประกันบางบริษัทก็จะส่งต่อไปยัง โบรคเกอร์รีประกัน ซึ่งโบรคเกอร์รีที่ได้มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็คือ TQR ซึ่งโบรคเกอร์รีนี้จะทำหน้าที่เฉลี่ยการรับประกันภัยออกไปยังที่ต่างๆ เนื่องจากบริษัทที่รับ Reinsurance ในโลกมีจำนวนมาก โบรคเกอร์เหล่านี้ก็จะวางแผนและส่งต่อการรับประกันออกไป

ดังนั้นจึงมีใบอนุญาตอีกประเภทในธุรกิจการประกัน คือ ใบอนุญาตเกี่ยวกับบริษัทที่รับประกันภัยต่อ ซึ่งบริษัทไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด(มหาชน) (THRE) คือบริษัทรับประกันภัยต่อหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับใบอนุญาตประเภทนี้ ที่เป็นผู้รับความเสี่ยงด้านการประกันภัย และอีกบริษัทหนึ่ง ที่คนส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยรู้จัก ก็เป็นบริษัทหนึ่งเดียวอีกเช่นกันที่ได้รับใบอนุญาตรับประกันชีวิตต่อ นั่นก็คือ บริษัท ไทยรีประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) (THREL) เป็นบริษัทที่บริหารในการรับและส่งต่อความเสี่ยงของประกันชีวิต

ในความเห็นของผู้เขียน ผู้ที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นก็คือคนที่เอาเงินไว้กับตัวเองได้ ดังนั้นธุรกิจที่ได้ประโยชน์มากๆในอุตสาหกรรมการประกันเลยก็คือกลุ่มประกันชีวิต ที่รับเงินลูกค้ามาจำนวนมาก และทยอยจ่ายเมื่อกรมธรรม์ลูกค้าครบสัญญา หรือ มีการเสียชีวิต ก็จะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่วนบริษัทประกันภัย เนื่องจากโครงสร้างการประกันภัยส่วนใหญ่จะเป็นแบบปีต่อปี ก็อาจจะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นอยู่บ้าง แต่ไม่มากเท่าประกันขีวิต

เพราะทุกอย่างมันจะมีฤดูกาลของมัน หากเป็นฤดูหนาวต้นไม้ก็จะถูกปกคลุมด้วยหิมะ ทำให้เราไม่ได้เห็นความงามของดอกไม้ แต่เมื่อผ่านหน้าหนาว ผ่านมรสุมไปแล้ว จนไปถึงฤดูใบไม้ผลิ ต้นไม้ต้นเดิมก็จะออกดอกสวยงามให้พวกเราได้มองเห็น ดังนั้น เราต้องเข้าใจเหตุผลว่าทำไมทุกอย่างถึงเป็นแบบนี้ ผมอยากให้ผู้อ่านทุกท่านลองจับจังหวะการเงินการลงทุน จับจังหวะชีวิตดูนะครับ แล้วทุกท่านจะได้ประโยชน์ผ่านทุกจังหวะการลงทุนครับ ขอให้ทุกท่านปลอดภัยจากโควิดและมีความสุขกับการลงทุนนะครับ