เมื่อศาลไทยเปิดแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ "ฟ้องได้ 24 ชั่วโมง"

เมื่อศาลไทยเปิดแผนกคดีซื้อขายออนไลน์  "ฟ้องได้ 24 ชั่วโมง"

ในอดีต จำนวนคดีความที่เกี่ยวข้องการซื้อของออนไลน์ยังมีไม่มาก ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยนำเสนอข้อมูลว่า หลังจากทุกวิกฤติที่ผ่านมา เช่น วิกฤติต้มยำกุ้งและโรคซาร์ส คดีฟ้องร้องมักเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากวิกฤติเศรษฐกิจ ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง

  • เมื่อโควิด-19เป็นตัวเร่งอีคอมเมิร์ซ 

ในปัจจุบัน ผลกระทบจากโควิด-19 ย่อมเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้บริโภคอาศัยช่องทางออนไลน์ในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น อันส่งผลให้ธุรกิจแบบ B2C หรือ Business to Customer มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการชำระค่าสินค้า/บริทางผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่างๆ 

ข้อมูลสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ได้คาดการณ์ว่าธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ในปี 64 ของไทยอาจมีมูลค่าประมาณ 4 ล้านล้านบาท โดยเมื่อพิจารณาในรายอุตสาหกรรม พบว่า การค้าปลีกและการค้าส่งมีมูลค่ามากที่สุด 

  • ปัญหาที่ผ่านมา

จากข้อเท็จจริงในข้างต้น เมื่อวิเคราะห์ควบคู่กับข้อมูลของศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาซื้อของและภัยคุกคามออนไลน์ (1212 OCC) พบว่า ปัญหามีหลากหลายรูปแบบ นับตั้งแต่การหลอกให้ซื้อแล้วไม่ได้สินค้า สินค้าไม่ตรงกับที่โฆษณา การนำรูปภาพจากร้านอื่นมาใช้เป็นของตน การใช้ข้อความหลอกลวงและเกินจริง และการหลอกให้ซื้อของและส่งตรงเวลาในรอบแรก จากนั้นในรอบต่อมาผู้ขายปิดกิจการ (ปิดเพจ) ไป เป็นต้น

ซึ่งผู้เขียนสันนิษฐานว่า ในบางกรณี การซื้อขายอาจดำเนินการผ่าน Group Chat หรือ การส่งข้อความส่วนตัวผ่าน Social Media ซึ่งยากต่อการติดตาม

ปัญหาของผู้ซื้อในทางกฎหมาย คือ ไม่แน่ใจในเรื่องของหลักฐานว่าเพียงพอต่อการใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้หรือไม่ กังวลในประเด็นทุนทรัพย์ที่อาจไม่มากนัก และไม่แน่ใจว่าจะฟ้องคดีต่อศาลใดและอย่างไร?

  • ศาลที่ผ่านมา

นับแต่ปี 63 เป็นต้นมา ศาลไทยได้ยกระดับและพัฒนาในประเด็นการพิจารณาคดีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เรื่อยมา ยกตัวอย่างเช่น “ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563” ที่กำหนดเพื่อเป็นทางเลือกในการอำนวยความสะดวกให้การพิจารณาคดีความของศาลสามารถกระทำผ่านช่องทางออนไลน์ได้

โดยในเวลาต่อมาได้มี “ประกาศสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่อง การขอปล่อยชั่วคราวทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ” เพื่อรองรับระบบบริการออนไลน์ หรือ Court Integral Online Service (CIOS) ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการให้บริการเกี่ยวกับการยื่น/ส่งเอกสารในคดี และมีการขยายการให้บริการรวมไปถึงในคดีอาญา โดยผู้ต้องหา/จำเลยสามารถขอยื่นประกันตัวออนไลน์โดยไม่ต้องเดินทางมายังศาลได้ เป็นต้น

  • แผนกคดีออนไลน์ในศาลแพ่ง

ดังนั้น จากข้อมูลในข้างต้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ศาลไทยที่ผ่านมาได้พัฒนาเพื่อรองรับกับรูปแบบของเศรษฐกิจ สังคม และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยมา โดยในปัจจุบัน ได้มีการดำเนินการจัดตั้ง “แผนกคดีออนไลน์ในศาลแพ่ง” และใช้วิธีการอิเล็กทรอนิกส์แบบเต็มรูปแบบในทุกขั้นตอนของกระบวนการพิจารณา

  • ประเภทคดีที่รับฟ้อง 

เงื่อนไขมีอยู่ว่า คดีที่รับฟ้อง จะต้องเป็นคดีซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น โดยไม่จำกัดว่าสินค้าจะราคาเท่าไร โดยหากสินค้าที่เป็นเหตุแห่งการพิพาทนั้นมีราคาเพียงแค่หลักสิบหรือหลักร้อย ก็ไม่ตัดสิทธิในการฟ้องคดีของผู้ที่ได้รับความเสียหาย

เมื่อศาลไทยเปิดแผนกคดีซื้อขายออนไลน์  \"ฟ้องได้ 24 ชั่วโมง\"
    

  • ยื่นฟ้องได้ 24 ชั่วโมง

ข้อดีของการยื่นฟ้องคดีออนไลน์ คือ ผู้เสียหายสามารถยื่นฟ้องได้ 24 ชั่วโมง ทุกวัน และทุกเวลา โดยไม่ต้องรอติดต่อในเวลาเวลาราชการอย่างในกรณีปกติ อย่างไรก็ดี หากผู้เสียหายยื่นฟ้องหลัง 16.30 น. หรือ ในวันเสาร์-อาทิตย์ การลงวันฟ้องจะนับวันทำการถัดไป

  • หมายจะถึงจำเลยทางอีเมล

ทั้งนี้ ผู้ประสงค์จะยื่นฟ้องสามารถดำเนินการผ่านเว็บไซต์ของศาลแพ่ง สร้างบัญชีผู้ใช้งาน ลงทะเบียนเพื่อล็อกอิน โดยเมื่อกรอกข้อความที่กำหนดแล้วเสร็จ ระบบจะส่งคำฟ้องให้เจ้าพนักงานคดีในศาลแพ่งตรวจสอบ

ซึ่งหากตรวจสอบแล้วตรงตามเงื่อนไขและมีข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน เจ้าพนักงานจะเสนอคำฟ้องเพื่อให้ศาลรับคำฟ้อง และหมายเรียกจะถูกส่งไปยังอีเมลของจำเลยหรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ในลำดับต่อมา

  • ออนไลน์ทุกขั้นตอน : ไม่ต้องมีทนาย ไม่ต้องมาศาล

เมื่อเข้าสู่กระบวนการของศาลโดยชอบแล้ว คู่ความไม่จำเป็นต้องใช้ทนายความและไม่ต้องมาแสดงตนที่ศาลในวันพิจารณาคดี โดยการสืบพยาน ไกล่เกลี่ย และการยื่นคำให้การของจำเลย สามารถทำออนไลน์ได้ในทุกขั้นตอน 

  • สิ่งที่ผู้ฟ้องต้องเตรียมตัว

ในมุมของผู้เขียน หากให้วิเคราะห์จากกระบวนการออนไลน์ข้างตน ก็มีข้อสังเกตว่า การซื้อของออนไลน์ต่อไปนี้  ผู้ซื้อควรเก็บข้อมูลที่สำคัญดังต่อไปนี้ให้ได้มากที่สุด  

1) ข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนของผู้ขายได้ เช่น ชื่อ เบอร์โทร อีเมล และช่องทางการติดต่อผู้ขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่าง ๆ

2) ข้อมูลและหลักฐานการซื้อขาย โดยควรรวบรวมตั้งแต่ข้อความที่ผู้ขายได้เชิญชวนหรือเสนอขายสินค้าบนหน้าเว็บไซต์ หรือช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ (ที่ผู้ขายได้โพส พร้อมคำอธิบายสรรพคุณ และราคาของสินค้า) บทสนทนาหรือข้อความที่แสดงถึงการตกลง/เจรจาหรือต่อรองอันเกี่ยวกับสินค้ารายการนั้น อย่างไรก็ดี กรณีที่ ผู้ขายบางรายอาจใช้วิธีการขายผ่านวิธีการไลฟ์ (Live) ผู้ซื้ออาจเก็บข้อมูลที่แสดงถึงหลักฐานของภาพและเสียงในขณะที่ผู้ขายนำเสนอสินค้าด้วยก็ได้

3) หลักฐานการชำระเงินของผู้ซื้อ ที่แสดงถึงรายละเอียดของผู้โอน ผู้รับโอน วัน และเวลาที่ทำการชำระเงินได้ นอกจากนี้ การเก็บหลักฐานในการนำส่งรายละเอียดในการชำระราคาไปยังผู้ขาย ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ซื้อ เช่น การบันทึกการนำส่งใบสลิปธนาคารไปยังกล่องข้อความของผู้ขาย เป็นต้น

ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเก็บข้อมูลในข้างต้น คือ การพิสูจน์ต่อศาลให้ได้ว่า ข้อมูล/ข้อความเหล่านั้นมิได้ถูกเปลี่ยนแปลง และคงความหมายเดิมนับแต่แรกสร้าง อันเป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ท้ายที่สุด ผู้เขียนหวังว่าบทความฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักช้อปออนไลน์ทุกท่าน ซึ่งรวมถึงตัวผู้เขียนด้วย

คอลัมน์ : Legal Vision : นิติทัศน์ 4.0 
ดร. สุมาพร มานะสันต์
ผู้อำนวยการส่วนกฎหมายการออม การลงทุน และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง