การเจริญวัยอย่างมีความสุข | วิทยากร เชียงกูล

การเจริญวัยอย่างมีความสุข | วิทยากร เชียงกูล

“จงทำให้ดีที่สุดในเรื่องที่อยู่ภายใต้อำนาจของเธอที่จะทำได้ และยอมรับเรื่องอื่นๆ ที่เธอไม่มีอำนาจจะไปกำหนดมันได้” อีปิคตีตัส, คู่มือการใช้ชีวิตเพื่อความสุขที่แท้จริง สนพ.มูลนิธิเพื่อนหนังสือ ๒๕๖๕

แพทย์และนักจิตวิทยาเสนอว่า ยุทธวิธีเพื่อการเจริญวัยอย่างมีความสุข คือ
    1. การออกกำลังกายทางสมอง หรือการฝึกฝนเรื่องความคิดจิตใจ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขภาพและการเจริญวัยที่ประสบความสำเร็จ ควบคู่กันไปกับการออกกำลังทางร่างกายอย่างเหมาะสมกับวัย 
    สมองคนเราเป็นสมองที่เรียนรู้ และตอบสนองทำงานต่างๆ ตลอดชีวิต สำหรับคนสูงวัยมีเฉพาะเซลล์ประสาทบางกลุ่มเกี่ยวกับความจำบางเรื่องเท่านั้นที่เสื่อมลง แต่คงมีเซลล์ประสาทบางกลุ่มที่ยังคงทำงานได้ดี หรือเพิ่มขึ้นมา ทำงานได้ดีขึ้น เมื่อคนสูงวัยยังคงฝึกฝนใช้สมองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
 

การได้รับสิ่งกระตุ้นใหม่ๆ ด้วยการอ่าน การฟัง การชม การเล่นเกมที่ใช้สมอง การเข้าชั้นเรียน การฝึกอบรม สัมมนา การท่องเที่ยว การร่วมกิจกรรมทางสังคม ฯลฯ เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนสูงวัย ที่จะช่วยให้สมองเขายังคงทำงานได้ดี หรือทำในบางเรื่องได้ดีขึ้น  

การฝึกใช้สมอง – ความคิดจิตใจ เพื่อความเพลิดเพลิน และการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพและสุขภาวะสำหรับคนสูงวัย ส่วนความเครียด (Stress) เป็นปัจจัยแทรกแซงการเรียนรู้ ความจำ และสุขภาพของเราได้ ความเครียดเป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่อยู่ที่การเข้าใจและรู้วิธีบริหารจัดการกับมัน 

การเจริญวัยอย่างมีความสุข | วิทยากร เชียงกูล

เราควรเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการความเครียด เพื่อที่เราจะรักษาความรู้สึกว่าเราเป็นผู้ควบคุมชีวิตของเราเองได้ การออกกำลังกายทางร่างกาย และการเข้าร่วมกิจกรรม มีปฏิสัมพันธ์คนอื่นในทางบวก จะช่วยลดความเครียดได้

 เช่นเดียวกับเทคนิคอื่นๆ เช่น การนั่งสมาธิ  เล่นโยคะ การบำบัดแบบผ่อนคลายด้วยวิธีต่างๆ เราควรเรียนรู้จักตัวเอง รู้จักจุดอ่อนของเรา และรู้ว่าเราควรจะเลือกใช้เวลาโดยการจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยให้เราเพลิดเพลิน ช่วยลดความเครียดในชีวิตประจำวัน

การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอในแต่ละคืน (หรือรวมการนอนงีบสั้นๆตอนกลางวันด้วย) เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้สมองได้พักผ่อนและฟื้นฟูตัวเองได้ดี ทำให้ระดับความเครียดลดลง

 คนมีปัญหาการนอนหลับยาก ต้องหาแนวทางแก้ไขตามคำแนะนำจากมูลนิธิการนอนหลับแห่งชาติ ของสหรัฐฯ เช่น ฝึกเวลาเข้านอนและเวลาตื่นที่สม่ำเสมอ เป็นกิจวัตรประจำวัน ไม่ควรดื่มเลยหรือดื่มน้อยลง (เฉพาะช่วงเช้า) พวกกาแฟ ชา น้ำอัดลม ฯลฯ ที่มีสารคาเฟอีน และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การกินอาหารหนักก่อนใกล้เวลาเข้านอน ฯลฯ

2. การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเพียงพอ การออกกำลังกาย เช่น การเดินเร็ว, การทำสวน การว่ายน้ำ การทำงานบ้านแบบเคลื่อนไหวร่างกาย ฯลฯ แบบติดต่อกันครั้งละ 30 – 40 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 -5 วัน ช่วยการยืดเส้นยืดสาย ได้เคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆ ช่วยเรื่องหัวใจ และสุขภาพโดยทั่ว  และยังช่วยเรื่องการพัฒนาสมองและช่วยลดโอกาสการเกิดโรคความจำเสื่อมด้วย (ทำร่วมกับการออกกำลังกายทางสมอง)

3. การรู้จักการกินอาหารที่มีคุณค่าต่อสมองและสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ปลา ธัญพืชแบบไม่ขัดขาว (ข้าวกล้อง, ลูกเดือยกล้อง, ถั่วชนิดต่างๆ, ขนมปังแบบใช้แป้งโฮลวีต) นมพร่องมันเนย นมถั่วเหลือง กินอาหารให้หลากหลาย และในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป อาหารเหล่านี้มีทั้งวิตามิน เกลือแร่ สารต่อต้านอนุมูลอิสระ ที่เป็นประโยชน์ มีไขมัน และแคลอรี่ต่ำ

 คนสูงวัยควรดูแลไม่ให้ตัวเองน้ำหนักมาก (อ้วน) เกินไป รวมทั้งควรดูแลตัวเลขที่สำคัญ เช่น ความดันโลหิต, ไขมันในเส้นเลือด, น้ำตาลในเส้นเลือด ไม่ให้สูงเกินกว่าปกติ เพราะจะนำไปสู่ความอ่อนแอและโรคภัยอื่นๆ 

4. การเชื่อในความสามารถของตนเองว่าจะบรรลุเป้าหมายบางอย่างได้ (Self - Efficacy) Self – Efficacy หมายถึง ความเชื่อ/การรับรู้ความสามารถของตนเองว่าตนสามารถที่จะทำกิจกรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายบางอย่างได้ 

   คนที่ฝึกให้ตนเองมีความเชื่อ/การรับรู้ความสามารถของตนเองในระดับสูง จะปรับตัวให้เข้ากับการท้าทาย, การเปลี่ยนแปลงของชีวิต ดูแลชีวิตของตนเองได้ดีขึ้น ซึ่งรวมทั้งเรื่องการดูแลสุขภาพกายและใจของตนเอง การมีความสัมพันธ์กับญาติ และเพื่อนที่ดี 

   การพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์หรือวุฒิภาวะความเป็นผู้ใหญ่โดยรวม, มองโลกในแง่ดีหรือแง่บวกอย่างสมเหตุสมผล, รู้จักวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนตัวเอง รู้จักการบริหารจัดการเรื่องการลด/หลีกเลี่ยงความเครียดของตนเองได้ดี

ฝึกลงมือทำอะไรให้สำเร็จด้วยตัวเอง เพื่อจะได้เพิ่มความมั่นใจว่าเรามีความสามารถ และพร้อมที่จะทำกิจกรรมทำนองนี้และยกระดับขั้นต่อไป ควรจะตั้งเป้าหมายระดับต่ำที่เราประเมินว่าพอจะทำได้ก่อน และถ้ายังทำไม่สำเร็จก็ต้องฝึกทำใจยอมรับและพยายามทำใหม่ 

  มองโลกในแง่บวก พัฒนาวุฒิภาวะในการรับฟังคำวิจารณ์หรือความล้มเหลว ฝึกการเป็นคนประเภทฮึดสู้ ปรับตัวได้ดี

เรียนรู้จินตนาการถึงประสบการณ์ของคนอื่นที่ประสบความสำเร็จ และถือเป็นตัวอย่างให้แรงจูงใจว่าเราก็น่าจะทำแบบเขาได้ในวันหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในชีวิตจริงหรือในวรรณกรรมในตำราก็ตาม

พูดกับตัวเองแบบยืนยันส่วนดีๆ ที่เราได้ทำไปแล้วได้ หรือเพื่อสร้างความมั่นใจได้ เช่น “ฉันกำลังพยายามอย่างหนัก” “ฉันจะต้องเอาชนะให้ได้” “ฉันกำลังทำไปได้ดี” ฯลฯ


สร้างสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ทางอารมณ์ที่เป็นไปในทางบวก มีความสุข ความพอใจที่จะช่วยให้เราเชื่อในความสามารถของตนเอง ฝึกการมองโลกในแง่บวกอย่างสมจริง
 
   ทำใจให้เป็นกลาง พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่หรือได้รับ พร้อมที่จะยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้กังวล กลัว เครียดมากเกินไป หรือพยายามหาวิธีการลดความเครียด ความกังวล.