“ตรุษจีน 2565” กับสิ่งที่คนจีนรุ่นใหม่ “ไม่อยากเจอ” ในวันรวมญาติ

“ตรุษจีน 2565” กับสิ่งที่คนจีนรุ่นใหม่ “ไม่อยากเจอ” ในวันรวมญาติ

“ตรุษจีน 2565” เสียงครวญจาก “คนจีนรุ่นใหม่” กับ “สิ่งที่ไม่อยากเจอ” ในวันรวมญาติช่วง “ปีใหม่จีน” ปัญหานั้นคือ “แรงกดดันเรื่องชีวิตคู่” มาดูกันว่า สร้างความอึดอัดและกังวลใจให้กับคนจีนรุ่นใหม่ขนาดไหน? ต้องติดตาม

อีกไม่กี่วันก็จะเข้าสู่วัน “ตรุษจีน 2565” หรือ “ปีใหม่จีน” กันแล้ว ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 โดยในปฏิทินจันทรคติจีนเป็นวันแรกเดือนแรกของปี

สมัยที่ อ้ายจง ใช้ชีวิตในประเทศจีน มักจะได้ยินเสียงบ่นของทั้งเพื่อน คนรอบข้าง และในโลกออนไลน์จีนอยู่เสมอ เสมือนเป็นเสียงครวญของหนุ่มสาวชาวจีนที่พากันระบายความกังวลเมื่อต้องกลับบ้านไปเจอบรรดาญาติพี่น้องรวมถึงผู้คนในหมู่บ้าน โดยเฉพาะตามเขตชนบทที่ความสัมพันธ์ของแต่ละครัวเรือนจะใกล้ชิดกันมากกว่าในเมือง แต่นั่นก็ทำให้ความกังวลดูรุนแรงกว่าด้วย

สิ่งที่ผู้เขียนกำลังจะเล่าต่อไปนี้ เป็นปัญหาที่ผู้อ่านหลายท่านอาจจะร้องอ๋อกันแล้วตอนนี้ นั่นคือ “แรงกดดันเรื่องชีวิตคู่” นั่นเอง

ตรุษจีน” เป็นการรวมตัวของทุกคนในครอบครัว ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ทว่าสำหรับคนหนุ่มสาวที่ยังไม่มีแฟน หรือมีแฟนแล้ว แต่ยังไม่ได้แต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความอึดอัดก็ว่าได้ เพราะจะโดนบรรดาญาติพี่น้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวพ่อแม่ของพวกเขาเอง สอบถามพร้อมกดดันเบาบ้างหนักบ้างตามแต่ละครอบครัวว่า “เมื่อไหร่จะมีแฟน” และ “เมื่อไหร่จะแต่งงาน”

แม้ในปัจจุบันปัญหาเหล่านี้จะค่อยๆ เบาลง เนื่องจากคนจีนรุ่นใหม่ No สน No แคร์ การแต่งงาน แต่มุ่งเน้นไปที่การทำงานหาเงิน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีเสียมากกว่า ตัวครอบครัวก็เข้าใจคนรุ่นใหม่มากขึ้น กระแสสังคมก็เริ่มมาอยู่ฝั่งของ “คนรุ่นใหม่” ที่มีแนวคิด การแต่งงานไม่จำเป็นต้องแต่งงานเร็วเสมอไป แต่แต่งงานเมื่อพร้อม และจำนวนไม่น้อยก็เลือกที่จะครองตัวเป็นโสด 

เราได้เห็นตัวเลขค่าเฉลี่ยอายุของผู้หญิงจีนที่แต่งงานเป็นครั้งแรก เพิ่มขึ้นจาก 21.4 ปี ในปี 1990 เพิ่มเป็น 25.7 ในปี 2017 และเรายังได้เห็นสัดส่วนครัวเรือนในจีนที่ประกอบไปด้วยสมาชิกเพียง “คนเดียว” เพิ่มอย่างต่อเนื่อง จาก 13.15% ในปี 2015 เป็น 18.45% ในปี 2019

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายครอบครัวยังมีแรงกดดันส่วนนี้กับลูกหลานของพวกเขา ดังที่เรายังคงได้เห็นพ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ของแต่ละครอบครัว ไปประกาศหาคู่ให้ลูกหลานตามสวนสาธารณะในเมืองต่างๆ ที่ตนเองอยู่ หรือที่เรียกว่า จุดนัดพบหาคู่ 相亲角 (เซียงชินเจี่ยว)

ความกดดันเรื่องคู่จากครอบครัวของคนจีน ยังสะท้อนออกมาเป็นข่าวดังในปี 2017 เมื่อสาวจีน อายุ 28 ปี (ในขณะนั้น) ซึ่งสื่อจีนระบุว่า หน้าตาดี ผิวขาว โพรไฟล์ดี เคยเรียนเมืองนอก ระบายความในใจออกมาในโลกโซเชียล เพราะโดนทางบ้านกดดันอย่างหนักที่ยังไม่มีคู่ จนต้องไปนัดบอดเป็นสิบรอบ แต่ก็ยังไม่มีคู่ ไม่ได้แต่งงานเสียที ทางบ้านจึงหาว่าเธอมีปัญหาทางจิต  

นอกจากคำถามเรื่องคู่ เรื่องการมีแฟน ยังมีคำถามอีกมากมายที่คนจีนรุ่นใหม่ไม่อยากฟัง พวกเขารู้สึกว่ามันละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และทำให้เกิดความอึดอัด พลังคนจีนรุ่นใหม่จึงได้ปะทุออกมาผ่านไอเดียธุรกิจสุดสร้างสรรค์ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในปี 2018 

ไอเดียธุรกิจสุดสร้างสรรค์ บอกเล่าถึงความอึดอัดที่ต้องเผชิญความกดดันเรื่องคู่

เสื้อสกรีนข้อความระบายความอัดอั้นตั้นใจ รวมคำถามที่ไม่อยากเจอในวันรวมญาติเทศกาลตรุษจีน เป็นไอเดียธุรกิจดังกล่าว ได้ผสานหลักการตลาด ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งก็คือ กลุ่มวัยรุ่น-คนจีนรุ่นใหม่ ที่เบื่อแล้วกับการเจอคำถามชวนอึดอัดเวลากลับบ้านวัน ตรุษจีน มันจึงกลายเป็นกระแสไวรัลในจีน รับเทศกาลตรุษจีนปี 2018 ที่แม้แต่สื่อใหญ่ของจีน เช่น China Daily ยังต้องรายงานกระแสนี้

ตัวอย่างข้อความบนเสื้อที่ชาวเน็ตจีนพากันบอกว่า โดนใจวัยรุ่นเหลือเกิน สามารถสะท้อนสิ่งที่พวกเขาต้องเจอมาโดยตลอดได้อย่างชัดเจน อาทิเช่น กรุณาอย่าถามถึงเกรดเฉลี่ยการสอบ, ลูกของคุณนั้นยอดเยี่ยมมาก, งดพูดถึงเงินเดือน, ลดน้ำหนักอยู่ กินได้ไม่มากหรอก เป็นต้น

ในขณะที่กำลังเป็นกระแส ณ ตอนนั้น นักข่าวจากสื่อจีน Yangtse Evening Post ได้ข้อมูลจากคนขายเสื้อรายหนึ่งว่า เสื้อสกรีนข้อความเหล่านั้นขายดีมาก วันเดียวขายได้มากกว่า 400 ตัว ซึ่งสีที่ค่อนข้างขายดีคือ สีแดง ด้วยเหตุที่เป็นสีมงคลในวัน ตรุษจีน คนนิยมใส่เสื้อสีแดงช่วงเวลานั้นอยู่แล้ว 

อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่แสดงออกว่า “ไม่เห็นด้วย” กับไอเดียเสื้อระบายความในใจช่วงตรุษจีน พวกเขามองว่า มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย ถึงจะใส่เสื้อดังกล่าวก็ไม่พ้นโดนถามอยู่ดี และอาจจะโดนพ่อแม่ ผู้หลักผู้ใหญ่ในครอบครัวตำหนิหนักกว่าเดิมเสียอีก ซึ่งชาวเน็ตจีนบางคน แสดงความเห็นว่า คนเป็นเด็ก เป็นลูกหลาน ก็ควรรับฟังและทำตามคำแนะนำของพ่อแม่ผู้ใหญ่ หากทำได้ มันก็ไม่น่าจะเกิดปัญหาอะไรนี่

แล้วทุกคนล่ะครับ “ตรุษจีน 2565” คิดอย่างไรกับเรื่องนี้?  

ผู้เขียน: ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่