ธรรมชาติอำนาจเหนือ | ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

ธรรมชาติอำนาจเหนือ | ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

เมื่อก่อนมนุษย์ผยองในความสามารถของตนเอง จนบ่อยครั้งลืมไปว่าธรรมชาติมีอำนาจเหนือสรรพสิ่ง ‘โควิด’ ช่วยเตือนให้เห็นผู้มีอำนาจที่แท้จริง ผู้เขียนได้พบเรื่องซึ่งยืนยันความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ

เรื่องแรก  คือความสำคัญของสีฟ้าในการทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่รอด     การที่มนุษย์จำนวนมากชอบสีฟ้านั้นอาจเนื่องมาจากความชื่นชมในใจเกี่ยวกับสีฟ้าของท้องฟ้าและของน้ำสะอาด ซึ่งมีความหมายไปในทางที่ดี      
    ผึ้งก็เหมือนกันชอบสีฟ้ามากถึงแม้จะไม่ค่อยมีดอกไม้สีฟ้าให้บินเข้าไปดอมดมมากก็ตาม     ผึ้งทำให้เกสรผู้และเมียผสมกันเกิดเป็นผลและเป็นอาหารของมนุษย์ ซึ่งหนึ่งในสามของอาหารทั้งหมดมาจากกระบวนการนี้ 

ความคลั่งไคล้สีฟ้าของมนุษย์มีมานานแล้ว   มีหลักฐานจากอารยธรรมอียิปต์เมื่อ  5,000    กว่าปีก่อนว่าคนสมัยนั้นชอบสีฟ้าเป็นพิเศษ เช่น ดอกบัวสีฟ้า มีการตกแต่งประดับวัตถุต่างๆ รวมถึง เครื่องประดับด้วยสีฟ้าโดยการบดหินสีฟ้า เช่น  lapis  lazuli และ turquoise เป็นผงแล้วนำมาตกแต่ง
    การย้อมผ้าฝ้ายด้วยครามเพื่อให้ได้สีน้ำเงินมาจากยุคเก่าแก่ของเปรูเมื่อ 6,000 ปีก่อนแล้วมาถึงอินเดียในคริสต์ศตวรรษที่ 16 จนมีบทบาทในสีของเสื้อผ้าที่เราใส่กันทุกวันนี้เช่นกางเกงยีนส์และ เสื้อฟ้าสีโทนฟ้าจากการย้อมด้วยครามและสีวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน
    นักวิชาการสนใจเรื่องสีฟ้ากับแมลงเป็นพิเศษ เพราะมีนัยสำคัญด้านอาหารได้ตรวจสอบและไม่พบดอกไม้สีฟ้าใดเลยซึ่งไม่ต้องอาศัยการผสมเกสรด้วยผึ้ง แต่พบว่ามีดอกไม้สีฟ้าจำนวนไม่มากนักที่อาศัยมันเป็นตัวช่วยผสม      
    ธรรมชาติสอนให้พืชรู้ว่าหากไม่มีการผสมของเกสรก็จะอยู่ไม่รอด ดังนั้นต้นไม้ที่ออกดอกไม้สีฟ้าจึงมักอยู่ในบริเวณที่มีภาวะค่อนข้างแร้นแค้นทางธรรมชาติเช่นบริเวณเทือกเขาหิมาลัย มีการพบดอกไม้สีฟ้ามากโดยเปรียบเทียบกับบริเวณอื่นๆ ต้นไม้ต้องแข่งขันกันดึงดูดผึ้งให้มาช่วยผสมเกสรด้วยการพยายามปรับตัวให้มีการผลิตดอกสีฟ้าข้ามระยะเวลาเพื่อความอยู่รอด

ทำไมจึงมีดอกไม้สีฟ้าจำนวนไม่มากในโลกให้ผึ้งช่วยผสมพันธุ์? คำตอบอาจเป็นว่าธรรมชาติไม่ต้องการให้พืชขยายพันธุ์มากเกินไปเพราะแค่ดอกไม้สีแดง เหลืองและอื่นๆ ผึ้งก็ผสมเป็นว่าเล่นแล้ว ถ้าเป็นดอกไม้สีฟ้าอีกแยะๆ ผึ้งคงบ้าไปแน่เพราะเป็นสีที่ชอบเป็นพิเศษ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมผึ้งจึงชอบสีฟ้า
    ในสภาพการณ์ปัจจุบันที่จำนวนผึ้งและแมลงทั่วโลกมีน้อยลงเป็นลำดับอันเนื่องมาจากฝีมือมนุษย์ในการตัดถางป่า การเกษตร การสร้างถิ่นฐาน ฯลฯ และวิกฤตการณ์โลกร้อน

มนุษย์จึงต้องใส่ใจกับการมีสีฟ้าของดอกไม้มากเป็นพิเศษเพื่อให้เกิดการผสมของเกสรด้วยผึ้ง

การทำสวนดอกไม้ที่มีสีฟ้าอันถูกใจทั้งคนและผึ้งจึงเป็นการช่วยเหลือโลกทางอ้อม การปรับปรุงพันธุ์ของพืชเศรษฐกิจให้ดอกมีสีฟ้าหรือมีสีฟ้าผสมมากขึ้นเพื่อดึงดูดผึ้งจึงไม่ใช่เรื่องที่อยู่ไกลตัว
    เรื่องที่สอง    ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองมายาวนานในสมัยรัชกาลที่ 4 ภาพช้างอยู่บนธงชาติสยามเป็นพาหนะในการขนส่งและในการทำสงครามอีกด้วย  ไม่กี่ปีมานี้มีการพบว่าช้างเป็นสัตว์ใหญ่ที่แปลกมาก เพราะมีโอกาสเป็นมะเร็งน้อยมากอย่างสวนทางกับความเข้าใจของมนุษย์มายาวนาน     
    กล่าวคือมะเร็งเป็นผลพวงจากการแบ่งตัวของเซลล์ในร่างกายที่เกิดจากความผิดปกติ และการกลายพันธุ์นี้นำไปสู่เนื้องอกที่ไปขัดขวางระบบการทำงานของร่างกาย และการทำงานของอวัยวะตามปกติจนเกิดความเจ็บป่วยขึ้น ตรรกะในเรื่องนี้ก็คือเมื่อสัตว์ตัวใหญ่ขึ้นก็มีจำนวนเซลล์มากขึ้น โอกาสที่จะเกิดความผิดปกติในการแบ่งตัวของเซลล์ก็น่าจะมีมากขึ้น แต่ปรากฏว่าถึงแม้ช้างจะมีจำนวนเซลล์มากกว่ามนุษย์ประมาณ 100 เท่า มีอายุ 60-70 ปี แต่เป็นมะเร็งน้อยมาก
    ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 จึงได้ข้อสรุปว่าสัตว์มีโอกาสเป็นมะเร็งไม่เท่ากัน โดยโอกาสที่เป็นไม่ผูกพันกับขนาดหรืออายุขัย สัตว์บางชนิดมีกลไกของร่างกายอันเกิดจากลักษณะพิเศษทางพันธุกรรมในการควบคุมมะเร็งที่แตกต่างกัน ช้างมียีนที่มีชื่อเรียกว่า TP53 อยู่ 40 ก็อปปี้ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการเติบโตของเซลล์เนื้องอกไม่ให้ลุกลามขยายตัว ซึ่งต่างจากมนุษย์และสัตว์อื่นที่มีเพียง 2 ก๊อปปี้    
    นอกจากนี้ ช้างยังมีกลไกต่อสู้มะเร็งอีกด้วยกล่าวคือเซลล์ของช้างตอบรับจากการสัมผัสกับสารที่ทำลาย DNA อย่างแตกต่างออกไป แทนที่จะซ่อมแซมความเสียหายแต่กลับทำให้เซลล์นั้นตายไปเลย ซึ่งเป็นวิธีการที่ปลอดภัยกว่าเพราะเซลล์ที่พยายามซ่อมแซมตัวเองมีโอกาสที่จะกลายพันธุ์ และกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ ดังนั้น ช้างจึงมีโอกาสเป็นมะเร็งเพียง 5%
    สัตว์อื่นๆ ที่มีโอกาสเป็นมะเร็งได้น้อยมาก ได้แก่ ม้า วาฬ ค้างคาว กระรอกเทา ฯลฯ สำหรับสัตว์อื่นๆ นั้นมีโอกาสเป็นมะเร็งแตกต่างกันออกไป โดยทั่วไปสัตว์ส่วนใหญ่มีโอกาสเป็นมะเร็งในชีวิตประมาณ 20-40% มนุษย์มีโอกาส 50% สุนัขมีโอกาสเป็นมะเร็งตามพันธุ์ที่แตกต่างกัน  มากกว่าครึ่งหนึ่งของพันธุ์ golden  retrievers  ตายด้วยมะเร็ง พันธุ์ Scottish terriers มีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมากกว่าสุนัขทั่วไป 18 เท่า พันธุ์ Irish wolfhounds มีโอกาสเป็นมะเร็งในกระดูกมากกว่าสุนัขทั่วไป 100 เท่า
    สัตว์ที่ประหลาดที่สุดและน่าเกลียดที่สุดคือ blind naked mole rats หนูพันธุ์นี้มีขนาดประมาณ 5 นิ้ว ไม่มีขน ตัวมีสีชมพู ไม่มีตา อาศัยอยู่ในรูแถบตะวันออกของแอฟริกา มีอายุยืนถึง 30 ปี โดยแทบไม่เป็นมะเร็งเลย นักวิชาการกำลังศึกษากลไกในร่างกายที่ทำให้รอดจากมะเร็งเพื่อเอามาประยุกต์กับมนุษย์ งานวิจัยมีความก้าวหน้าเป็นลำดับ
    สองเรื่องนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่ว่ามนุษย์จะพยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ธรรมชาติกำหนดมาอย่างไรก็ไม่สามารถเอาชนะได้ทั้งหมด ธรรมชาติยังคงมีอำนาจเหนือมนุษย์อยู่เสมอ

ถ้ามนุษย์ปรารถนาอยู่ในโลกนี้ต่อไปอีกนานๆ ด้วยการต่อสู้กับธรรมชาติ ก็ต้องกระทำด้วยความเคารพธรรมชาติในระดับหนึ่ง และยอมสยบต่อความจริงที่ว่า “ธรรมชาติมีอำนาจเหนือสรรพสิ่ง” เสมอ