เมื่อ Fed อาจจะใช้ยาแรงสกัดเงินเฟ้อ กับการลดขนาดงบดุลที่เร็วกว่าคาด

เมื่อ Fed อาจจะใช้ยาแรงสกัดเงินเฟ้อ กับการลดขนาดงบดุลที่เร็วกว่าคาด

บเป็นข่าวที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อตลาดการเงินต้อนรับปีเสือ หลังจากรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ เผยว่าประเด็นเรื่องของการ “ลดขนาดงบดุล” ถูกหยิบยกมาพูดคุยในที่ประชุม ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในไตรมาส 2 หรือ 3 ของปีนี้ทันที

ภายหลังการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งเป็นท่าทีที่ค่อนข้าง Hawkish กว่าที่นักลงทุนคาดไว้ ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 ปี ปรับสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์แรก 25 bps มาอยู่ที่ 1.76% ในขณะที่ดัชนี NASDAQ Composite ที่เป็นตัวแทนของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับลดลง 4.5% ซึ่งทั้งสองนับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างรุนแรงเมื่อเทียบกับความผันผวนตามปรกติ และสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

ทำไมนักลงทุนถึงกังวลนั้นคาดเดาไม่อยาก โดยเมื่อเทียบกับการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed รอบก่อนที่ใช้เวลากว่าสองปีหลังจากเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน ธ.ค. 2015 ถึงจะเริ่มกระบวนการทำให้งบดุลของธนาคารกลางกลับสู่ภาวะปรกติ (Balance Sheet Normalization Program) ในเดือน ต.ค. 2017 โดยในช่วงเวลาดังกล่าวมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 9 ครั้งจาก 0.00% - 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% - 2.50%

นอกจากนั้นกระบวนการลดงบดุลนั้นทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากการปล่อยให้ตราสารหนี้ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน หรือ Mortgage-Backed Securities (MBS) ที่ Fed ถือครองอยู่ครบกำหนดโดยไม่นำเงินไปลงทุนใหม่ (Reinvestment) และมีการกำหนดเพดานของจำนวนดังกล่าวไว้ที่ 6 พันล้านดอลลาร์ สำหรับพันธบัตรรัฐบาล และ 4 พันล้านดอลลาร์ สำหรับ MBS

ในช่วงเริ่มต้นก่อนจะค่อยๆ ปรับเพิ่มเพดานดังกล่าวขึ้นเป็น 3 หมื่นล้าน และ 2 หมื่นล้านตามลำดับ ก่อนจะยกเลิกเพดานดังกล่าวในเดือน มี.ค. ในปี 2019 โดยนับจากเดือน ก.ย. 2017 ขนาดงบดุลของ Fed ปรับลดลง 15.5% จากระดับ 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ เป็น 3.7 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือน ส.ค. 2019 ก่อนที่จะปรับขึ้นอีกครั้งเป็น 8.7 ล้านล้านดอลลาร์ อันเป็นผลกระทบจากนโยบายที่ใช้ในช่วงของการแพร่ระบาดของ COVID-19

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนผ่านนโยบายของ Fed ในรอบก่อนมีลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไปและกินเวลาต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายปีจากการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Quantitative Easing) สู่การขึ้นดอกเบี้ย และส่งผ่านไปเป็นนโยบายการเงินแบบ Quantitative Tightening ในท้ายที่สุด ดังนั้นการที่ประเด็นการลดขนาดงบดุลถูกหยิบยกมาพูดถึงในเวลาปัจจุบันที่การขึ้นดอกเบี้ยยังไม่ทันเริ่มต้นขึ้นเสียด้วยซ้ำ ย่อมสร้างแรงกังวลให้กับนักลงทุนไม่น้อย

การลดสภาพคล่องในตลาดการเงินลงย่อมส่งผลเชิงลบต่อสินทรัพย์เสี่ยง นอกจากนี้ดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นมีผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดทุนที่เป็นกลไกสำคัญในระบบเศรษฐกิจสหรัฐ และอาจส่งผลกระทบไปยังสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เช่น หุ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา หรือ ตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือไม่สูงนัก หรือยังอยู่ในอุตสาหกรรมที่ยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดและยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

ดังนั้นในปีนี้ เมื่อรวมกับปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูง ภาพรวมของการลงทุนน่าจะมีปัจจัยบวกน้อยกว่าในปีที่ผ่านมา ทำให้ยังคงต้องใช้ความระมัดระวังในการจัดสรรเงินลงทุน เมื่อผลตอบแทนของตลาดหุ้นอาจจะลดความหวือหวาลง และอาจซื้อขายที่ระดับราคา (Valuation) ที่ต่ำลง

กลยุทธ์ต่างๆ ที่ดูเหมือนว่าจะเคยใช้ได้ดีมาตลอดในช่องสองปีหลัง เช่น กลยุทธ์การลงทุนแบบ Momentum อาจจะต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นการลงทุนที่เน้นการสะสมหุ้นพื้นฐานดีหลังจากปรับตัวลดลงมามากขึ้น พอร์ทที่กระจุกตัวในหุ้นเติบโต ก็อาจจำเป็นจะต้องกระจายความเสี่ยงมากเพิ่มขึ้น ในส่วนของตราสารหนี้กลยุทธ์หลักก็ควรเน้นการลดอายุของตราสารหรือเลือกลงทุนกองทุนที่ถือครองพันธบัตรระยะสั้นลงเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ เนื่องจากจะได้รับผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นน้อยกว่า

บ่อยครั้งที่เราไม่สามารถคาดเดาปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อการลงทุนได้ ซึ่งในครั้งนี้เองก็เช่นกัน ทำให้เราต้องอาศัยความเข้าใจในแต่ละเหตุการณ์และปรับกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกันไป แต่เราก็ไม่ควรตกใจมากนักกับเรื่องของการลดงบดุล เนื่องจากผลลัพธ์สุดท้ายของนโยบายต่างๆ ย่อมคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายสำคัญ นโยบายที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทรุดตัวหรือหยุดชะงักยอมต้องถูกปรับเปลี่ยนหากสภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย

นอกจากนั้นการลดขนาดงบดุลจะไม่นำพาทุกอย่างกลับไปสู่ระดับก่อนการใช้นโยบายเพิ่มขนาดงบดุลจากปัจจัยหลายๆ อย่าง โดยปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนต้องจับตาดูต่อไป ได้แก่ 1. ท่าทีของ Fed หลังจากตลาดโดยรวมตอบรับในเชิงลบจากความไม่แน่นอนดังกล่าว 2. แนวโน้มเงินเฟ้อที่คาดว่าน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่หากปัญหาคอขวดในกระบวนการผลิตและอุปทานในตลาดแรงงานที่ไม่สมดุลก่อให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อและค่าจ้างแรงงานต่อๆ ส่งผลให้เงินเฟ้อยังคงเร่งตัวสูงขึ้น

ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินจะกลับมาสูงอีกครั้ง และกดดันตลาดการเงินอีกครั้ง 3. ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรก โดยเฉพาะในภาคแรงงาน ซึ่งน่าจะสะท้อนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของ Omicron ว่าสุดท้ายแล้วจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากหรือน้อยเพียงใด 

สุดท้ายนี้ยังหวังว่าทุกท่านจะเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงและไม่ตื่นตระหนกจนเกิดไป การลงทุนยังคงต้องคำนึงถึงภาพรวมในระยะยาวเป็นสำคัญด้วย และโชคดีปีเสือกับการลงทุนครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด