สมาร์ทโฟนช่วยชีวิต แจ้งขอความช่วยเหลืออัตโนมัติ | บวร ปภัสราทร

สมาร์ทโฟนช่วยชีวิต แจ้งขอความช่วยเหลืออัตโนมัติ | บวร ปภัสราทร

ถ้าใครบังเอิญไปเจ็บป่วยฉุกเฉินในขณะที่อยู่ในที่สาธารณะในยามที่โรคระบาดรุนแรง โอกาสที่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่คุกคามชีวิตมีมากกว่าแต่ก่อนมาก

ใครโชคร้ายไปวูบกลางทางโอกาสที่จะหาคนมาช่วยอย่างทันกาลไม่เหมือนเมื่อก่อน ใครๆก็กลัวโรคระบาด เห็นใครวูบไปต่อหน้า จะเข้าไปช่วยทำซีพีอาร์ วันนี้คงต้องคิดนานกว่าแต่ก่อน เดาไม่ได้ว่าคนนั้นเจ็บป่วยจากโรคระบาดหรือไม่     
    แทบทุกคนมีสมาร์ทโฟนใช้งานอยู่ แต่มีไม่มากนักที่สนใจบริการติดต่อฉุกเฉิน  ด้วยมั่นใจว่าแข็งแรงดีอยู่ และเชื่อมั่นว่าฉันจะไม่ไปเจ็บป่วยฉุกเฉินในขณะที่เดินทางตามลำพัง จึงไม่สนใจฟีเจอร์นี้ของสมาร์ทโฟน หมายเลขติดต่อเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน มักยังไม่ได้มีการกำหนดเอาไว้ 

ฟีเจอร์สำหรับติดต่อยามฉุกเฉินที่ออกแบบไว้สำหรับการกดเพียงปุ่มเดียว หรือสองปุ่ม แม้ว่าจะอยู่ระหว่างล็อกหน้าจอก็ยังใช้บริการได้ ถ้ากดแล้วไม่ได้สไลด์ไอคอนหน้าจอภายในระยะเวลาที่กำหนด โทรศัพท์จะส่งเอสเอ็มเอสไปที่หมายเลขฉุกเฉินที่ได้กำหนดไว้   ก็มักยังไม่มีการเปิดใช้บริการ   เรื่องใหญ่กว่านั้นคือตอนที่เลือกซื้อสมาร์ทโฟนก็มักไม่ได้ใส่ใจฟีเจอร์นี้ว่ามีหรือไม่ 
    ถ้าใช้ไอโฟนอยู่ แล้วหากเกิดเหตุฉุกเฉินต้องการขอความช่วยเหลือ เพียงแค่กดปุ่มเปิดปิดหน้าจอ พร้อมกับปุ่มเพิ่มลดเสียง หน้าจอจะแสดงไอคอนสำหรับติดต่อฉุกเฉินบนหน้าจอ สไลด์ไอคอนนั้นก็จะโทรติดต่อหมายเลขฉุกเฉินที่กำหนดไว้ได้ โอกาสได้รับความช่วยเหลือโดยตรงอาจจะมากกว่าการรอรถฉุกเฉินจากมูลนิธิที่ช่วยทำบทบาทนี้อยู่ 
    ซึ่งที่จริงก็แปลกๆอยู่เหมือนกันที่แทนที่เราจะได้รับความช่วยเหลือฉุกเฉินจากบริการขององค์กรปกครองท้องถิ่น กลับกลายเป็นการช่วยเหลือจากองค์กรอาสาภาคเอกชนแทนจนเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นเรื่องปกติ  

ฟีเจอร์ติดต่อฉุกเฉินที่เรียกใช้ได้ง่าย ๆและใช้เวลาเพียงน้อยนิดในการเรียกใช้ อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยชีวิตได้ในยามที่เผชิญวิกฤติขณะอยู่ในที่สาธารณะในยามที่มีโรคระบาดอยู่นี้

ถ้าโชคร้ายหมดสติไปหลังจากกดปุ่มติดต่อฉุกเฉินไปแล้ว สมาร์ทโฟนก็ยังจะส่งข้อความขอความช่วยเหลือไปที่หมายเลขฉุกเฉินที่กำหนด  พร้อมกับแจ้งสถานที่ที่เกิดเหตุไปให้ทราบด้วย คนที่จะมาช่วยเหลือก็จะทำงานได้ง่ายขึ้น การขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานการแพทย์ฉุกเฉินก็กระทำได้ง่ายขึ้น โอกาสที่จะรอดจากวิกฤติร้ายแรงก็มีมากขึ้น 
    เพราะไม่ต้องเสียเวลาค้นหาว่าเกิดเหตุขึ้นที่ไหน ซึ่งบางทีกว่าจะไปช่วยก็สายไปเสียแล้ว อย่าคิดว่าศูนย์การค้า หรือตามถนนหนทางต่าง ๆจะมีบริการกู้ชีวิตพร้อมให้บริการ มีตัวอย่างให้เห็นที่ผู้บริหารสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งเสียชีวิตไปในระหว่างที่เดินตามลำพังอยู่ในศูนย์การค้ากลางเมือง ซึ่งเชื่อกันว่าท่านผู้นั้นมีโอกาสรอดชีวิตได้หากมีบริการกู้ชีวิตที่ทันกาล ญาติพี่น้องกว่าจะรู้เรื่องว่าเกิดขึ้นที่ไหนก็ใช้เวลาอีกพักใหญ่ 
    เพื่อความไม่ประมาท ขอแนะนำให้ศึกษาและเปิดบริการติดต่อฉุกเฉินในสมาร์ทโฟนของท่านไว้ให้พร้อมใช้ และนัดแนะกับผู้ที่ท่านจะติดต่อขอความช่วยเหลือในยามวิกฤติว่าบริการนี้จะให้ข้อมูลใดบ้าง และใช้งานได้อย่างไร ศึกษาและเปิดใช้การแชร์โลเคชันของท่านกับสมาร์ทโฟนของคนในครอบครัว เพื่อให้เขาทราบว่าท่านอยู่ที่ไหนในยามที่เกิดวิกฤติ 
    ถ้ามีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป อาจต้องหานาฬิกาสมาร์ทวอทช์ที่แจ้งเตือนการล้มให้กับหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินมาใช้เพิ่มเติมด้วย  ซึ่งซื้อมาแล้วต้องศึกษาวิธีใช้งานให้รู้เรื่อง พร้อมนัดแนะกับผู้ที่จะติดต่อขอความช่วยเหลือให้เข้าใจวิธีการติดต่อไว้ด้วย 
    ในบางประเทศที่ก้าวหน้าจะมีบริการให้ความช่วยเหลือจากการติดต่อโดยอัตโนมัติจากทั้งสมาร์ทโฟน และสมาร์ทวอทช์ ซึ่งไม่รู้ว่ามีบริการทำนองนี้ในบ้านเราแล้วหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็มั่นใจว่าจะมีคนที่เชื่อใจได้รับการติดต่อเมื่อประสบเหตุฉุกเฉินกับชีวิต   แทนการฝากชีวิตไว้กับการช่วยเหลือจากมูลนิธิ
    อย่าประมาทกับชีวิตในยามนี้ มีเรื่องมากมายที่เสี่ยงกันอยู่โดยทั่วหน้า มีสมาร์ทโฟนอยู่กับตัว อย่าปล่อยให้มีห้าจี แต่พึ่งพาอะไรไม่ได้ ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งอาจจะช่วยให้ชีวิตปลอดภัยได้ในยามวิกฤติที่พึ่งพาใครไม่ได้.  
คอลัมน์ : ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.ดร.บวร ปภัสราทร 
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
email. [email protected]