"การท่องเที่ยว" ปี 65 ตั้งเป้าหมาย 1.5 ล้านล้านบาท

"การท่องเที่ยว" ปี 65  ตั้งเป้าหมาย 1.5 ล้านล้านบาท

การแพร่ระบาดรอบใหม่ของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้ทั้งภาครัฐ ภาคเศรษฐกิจ และภาคประชาสังคมจำเป็นต้องกลับเข้าสู่ภาวะเฝ้าระวังอีกครั้ง

ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับทั้งเจ้าของธุรกิจและพนักงานในภาคท่องเที่ยวระหว่างการเดินทางล่องทะเลอันดามัน ซึ่งก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “โควิดก็กลัว แต่กลัวไม่มีงานมากกว่า” ซึ่งสะท้อนความคิดความรู้สึกของผู้คนได้อย่างเป็นอย่างดี

ดังนั้น คำถามที่สำคัญที่สุดที่เราควรจะหาคำตอบร่วมกันคือ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังคงเกิดขึ้นระลอกแล้วระลอกเล่าเช่นนี้ เราจะอยู่กับโควิดอย่างไรให้ยังทำมาหากินได้

ประเทศไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวอย่างมาก เรามีรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงก่อนโควิดถึง 3 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนมหาศาลโดยคิดเป็น 10% ของ GDP หากลงรายละเอียดจากแหล่งที่มาของรายได้ 3 ล้านล้านบาทนั้น มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 2 ล้านล้านบาท และที่เหลือมาจากนักท่องเที่ยวคนไทย

ประเทศของเราเคยรับนักท่องเที่ยวสูงสุดถึง 40 ล้านคนต่อปี หมายความว่า รายจ่ายเฉลี่ยต่อหัวที่นักท่องเที่ยวเข้ามากินมาใช้ในไทยนั้นอยู่ที่ 40,000-50,000 บาทต่อหัว

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คือหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในการโปรโมทการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดย ททท. ตั้งเป้ารายได้จากการท่องเที่ยวในปีนี้ที่ 1-1.5 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคน และนักท่องเที่ยวอีก 120 ล้านคน (ครั้ง) แม้จะไม่มากเท่าช่วงก่อนโควิด-19 แต่ก็ถือว่าเป็นเป้าที่ดี

ททท.และนักวิชาการ ปัญญาชน ตลอดจนประชาชนคนทั่วไปก็ต่างทราบดีว่า ประเทศของเรานอกจากต้องการจำนวนนักท่องเที่ยวแล้ว เรายังต้องการนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้จ่ายในประเทศของเรา นำเงินเข้ามากระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

หากเราสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเหล่านี้เข้ามาเที่ยวพักผ่อนใช้จ่ายในประเทศของเราได้มากแล้ว ย่อมจะดีกว่านักท่องเที่ยวที่มาใช้ทรัพยากรของเราในราคาถูก ซื้อทัวร์ราคาถูกจากบริษัททัวร์ที่ถือหุ้นโดยคนต่างชาติ เดินทางท่องเที่ยวไปตามร้านอาหาร ร้านค้า หรือแม้กระทั่งวัดวาอาราม สถานที่ท่องเที่ยว และโรงแรม ที่มีคนต่างชาติเป็นเจ้าของ

คอนเสิร์ตของ Andrea Bocelli นักร้องโอเปราที่มาเคาท์ดาวน์ที่ภูเก็ต เป็นหนึ่งในความพยายามของ ททท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ด้วยงบประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อโปรโมทประเทศ เพื่อโปรโมทภูเก็ต เพื่อบอกกับโลกว่าประเทศไทยพร้อมเปิดประเทศอีกครั้งแล้ว

งบประมาณ 200 ล้านบาท จะว่าแพงก็แพง แพงกว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ทางการสาธารณสุข แต่ก็ถูกกว่างบประมาณในการซื้อยุทโธปกรณ์สงครามในทางทหาร รัฐบาลที่ชาญฉลาดในประเทศประชาธิปไตยเต็มใบจะนำเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือแม้กระทั่งค่อนแคะมาคิดไตร่ตรองเพื่อตัดสินใจและปรับปรุงนโยบาย และก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะชี้แจงความโปร่งใสของการใช้งบประมาณเพื่อการยอมรับของสังคม

200 ล้านบาทจะแพงหรือถูกนั้นขึ้นกับผลลัพธ์ของงบนี้ หากมองว่างบนี้คืองบลงทุน ก็จำเป็นต้องวัดผลสัมฤทธิ์ในรูปแบบของเม็ดเงินที่เข้าประเทศได้ จึงจะถือได้ว่าสอบผ่านในเชิงปริมาณ นอกเหนือจากการวัดในเชิงคุณภาพในแง่ของการรับรู้ของชาวโลกตลอดจนการสร้างแบรนด์ Amazing Thailand

ในมุมมองของนักธุรกิจและในเชิงการค้าการตลาด ทุกอย่างคือการลงทุน การจะเพิ่มรายได้จำต้องลงทุน และหน้าที่ของผู้บริหารที่ดีคือการเลือกลงทุนอย่างชาญฉลาด ที่ได้ผลคุ้มค่า ได้มากกว่าเสีย และยังควบคุมความเสี่ยงเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามที่ตั้งใจไว้

ดังนั้น หากไทยสามารถดึงรายได้จากนักท่องเที่ยว 1-1.5 ล้านล้านบาท ตามที่ ททท.ตั้งไว้ งบประมาณ 200 ล้านนี้ถือว่าคุ้มค่ายิ่ง