เตรียมพนักงานให้พร้อมรับมือกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม

เตรียมพนักงานให้พร้อมรับมือกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม

เจ้าของและผู้บริหารธุรกิจเอสเอ็มอีทุกคนคงจะคาดการณ์ได้ไม่ยากนักว่าการทำธุรกิจในอนาคตคงจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญกับเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ โดยเฉพาะด้านการสร้างความเติบโตและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ

ปัญหาที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจขนาดเอสเอ็มอีที่จะต้องเตรียมปรับธุรกิจของตนเองให้พร้อมรับมือกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม ก็คือ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เจ้าของหรือผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจจะสามารถทำได้ตามลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจและความพร้อมของพนักงานและบุคลากรที่ทำงานร่วมกันทุกคนในธุรกิจในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงภายในและภายนอกธุรกิจให้แตกต่างไปจากการทำธุรกิจตามปกติแบบเดิม

การทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ทุกองคาพยพในธุรกิจจะต้องประสานงานกันอย่างเข้าขาและเข้าใจเพื่อผลักดันธุรกิจในเดินไปได้ในทิศทางเดียวกัน

เริ่มตั้งแต่เจ้าของหรือผู้บริหารระดับสูงในการกำหนดและกำกับนโยบายการเติบโตของธุรกิจ ผู้บริหารระดับกลางในการนำนโยบายไปสู่การจัดทำแผนและควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผน ผู้บริหารระดับต้นในการดำเนินการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

แม้ว่าในธุรกิจขนาดเอสเอ็มอี กระบวนการทางการบริหารธุรกิจเหล่านี้ อาจมีการรวบรัดขั้นตอนที่กระชับขึ้นและมีบุคลากรที่เกี่ยวข้องต้องทำงานในหลายๆ บทบาทและหน้าที่รวมกันไปในตัวคนคนเดียวกัน ตามข้อจำกัดด้านทรัพยากรภายในที่เอสเอ็มอีไม่สามารถทำได้เช่นเดียวกับธุรกิจขนาดใหญ่

แต่ภายใต้บริบทและข้อจำกัดเหล่านี้ของเอสเอ็มอี การเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรและพนักงานทุกคนก็จะสามารถทำได้ โดยนำแนวคิดและวิธีการของธุรกิจสตาร์อัพมาประยุกต์ใช้

คือ ต้องเริ่มต้นจากความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงของเจ้าของหรือผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจที่ต้องการให้ธุรกิจของตนเองมีความพร้อมรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมก่อนเป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดัน

สิ่งที่เจ้าของหรือผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจเอสเอ็มอีจะต้องทำให้ได้เป็นอันดับแรกก็คือ การเริ่มกระจายอำนาจในการคิดและริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ลงไปให้ผู้บริหารในระดับรองๆ ก่อน เพื่อให้เกิดตัวอย่างที่ดีที่ผู้บริหารระดับรองๆ ลงไปจะได้นำไปถ่ายทอดต่อให้ลงไปถึงพนักงานทุกคนในสังกัด

วิธีการที่อาจนำไปใช้ได้ เช่น การเริ่มต้นโยนปัญหายากๆ หรือปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ซ้ำซาก เพื่อผู้บริหารระดับรองๆ หรือพนักงานทั่วไปให้ลองไปคิดหาคำตอบ แทนวิธีปฏิบัติเดิมที่ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าจะเป็นผู้คิดคำตอบให้นำไปปฏิบัติ

แนวทางนี้ยังจะช่วยให้เกิดบรรยากาศของการทำงานที่ทำให้ผู้บริหารและพนักงานมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น แทนที่จะทำงานแบบฝ่ายใครฝ่ายมัน แต่ช่วยมองปัญหาของบริษัทร่วมกัน เห็นเป็นภาพเดียวกันได้ และสามารถขยายต่อให้เกิดความคิดริเริ่มใหม่ๆ ในการทำงานได้และพูดคุยหารือกันได้เป็นปกติทุกวัน

การให้รางวัลตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ หรือการให้การชมเชยพนักงานในเรื่องเกี่ยวกับการช่วยแก้ปัญหาในงานหรือการริเริ่มสิ่งใหม่ที่ทำให้การทำงานดีขึ้น รวมถึงการให้การยอมรับและเข้าใจถึงความพยายามที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพื่อไม่ให้เกิดการท้อถอยต่อการสร้างนวัตกรรมหรือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจ ก็จะช่วยสร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมในการเป็นธุรกิจที่มุ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมในทุกระดับทั่วทั้งองค์กรได้เป็นอย่างดี

นอกจากแนวทางแบบไม่เป็นทางการที่ไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนทางด้านการเงินใดๆ แล้ว เจ้าของหรือผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจเอสเอ็มอี จะต้องเดินตามแนวทางที่เป็นทางการควบคู่กันไปด้วยการประกาศเป็นวิสัยทัศน์ปรับเปลี่ยนธุรกิจให้พร้อมรับเทคโนโลยีและนวัตกรรม กำหนดกลยุทธและเป้าหมายด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นและเหมาะสมกับธุรกิจ

ซึ่งเรื่องนี้สามารถหาความช่วยเหลือได้จากที่ปรึกษาภายนอก หรือหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ช่วยเหลือเอสเอ็มอีในเรื่องของการบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการลงทุนเพิ่มในเทคโนโลยีใหม่ หรือการหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ หรือการปรับปรุงสถานที่ทำงานให้เกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ภาระหน้าที่หลักในการที่จะทำให้เอสเอ็มอีมีความพร้อมรับเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไม่ได้อยู่ที่การจ้างคนเก่งหรือนักวิชาการจากภายนอกเข้ามาร่วมทำงานในธุรกิจแต่อย่างใด

แต่อยู่ที่ความต้องการและความมุ่งมั่นของเจ้าของหรือผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด!!??!!

เนื่องในโอกาสวารดิถีขึ้นปีใหม่ 2565 ขอส่งความปรารถนาดีมายังผู้อ่านทุกท่านให้ประสบความสุขความสำเร็จตลอดปีใหม่นี้และตลอดไปครับ