ปีใหม่นี้จะสัญญากับตนเองอย่างไรดี | บัณฑิต นิจถาวร

ปีใหม่นี้จะสัญญากับตนเองอย่างไรดี | บัณฑิต นิจถาวร

เราคงเคยได้ยินคำว่า New year resolution หรือปณิธานปีใหม่ ที่คนจำนวนมากโดยเฉพาะรุ่นหนุ่มสาว ใช้โอกาสปีใหม่ตั้งปณิธานหรือคำมั่นสัญญากับตนเองในสิ่งที่จะทำมากขึ้นหรือไม่ทำในปีใหม่ที่มาถึง เพื่อเริ่มต้นหรือเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น

มีข้อมูลว่าในสหรัฐกว่าร้อยละ 40 ของคนหนุ่มสาวจะตั้งปณิธานหรือคำมั่นสัญญากับตนเอง (New year resolution) ซึ่งคำมั่นสัญญาส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น ลดนํ้าหนัก เลิกบุหรี่ หยุดเหล้า ออกกำลังกายประจํา กินอาหารสุขภาพ ดูแลสุขอนามัยตนเอง
    ถ้าอายุมากขึ้นหน่อย คำมั่นสัญญาก็อาจเป็นการให้เวลามากขึ้นกับครอบครัว ไม่ทำงานเสาร์อาทิตย์ พบคุณพ่อคุณแม่บ่อยขึ้น ประหยัด เก็บออมจริงจัง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

หรือคำมั่นสัญญาอาจเกี่ยวกับการตัดสินใจสำคัญที่ได้ผัดมานาน เช่น มีบ้านเป็นของตัวเอง หรือเป็นเจ้าของธุรกิจ ที่ต้องทำให้เกิดขึ้นในปีนี้เพื่อให้ความฝันเป็นจริง

ปณิธานปีใหม่จึงสะท้อนความตระหนักรู้และความพยายามที่จะปรับการใช้ชีวิตของตนเอง ลดสิ่งที่ไม่ควรทำ และทำมากขึ้นในสิ่งที่ควรทำ เพื่อให้ชีวิตดีขึ้นซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก

เพราะชีวิตคนเราคือการเดินทางไกลที่ไม่ใช่เส้นตรง ความไม่แน่นอนมีมาก จะมีเรื่องต่างๆ เข้ามากระทบทำให้เราต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถไปต่อได้ การปรับตัวหรือพร้อมเปลี่ยนแปลงจึงเป็นคุณลักษณะสำคัญของชีวิต เพราะความยืดหยุ่นหรือ flexibility จะทำให้เรามีทางเลือกหรือ option มากขึ้นในการตัดสินใจ เลือกสิ่งที่ดีสุดเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย

ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ความสำเร็จของปณิธานปีใหม่จริงๆ มีน้อยมาก คือร้อยละ 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ให้คำมั่นสัญญาจะไม่สามารถทำได้ตามที่พูดหรือตั้งใจไว้ แต่ส่วนใหญ่จะล้มความตั้งใจหรือไม่ไปต่อช่วงหกเดือนแรกของปี ซึ่งน่าเสียดายมาก

สาเหตุหลักมาจากการผัดวันประกันพรุ่งคือ ตัดสินใจที่จะเลื่อนสิ่งที่ควรทำตามคำมั่นสัญญาออกไปเพราะมีเรื่องอื่นเข้ามา ทำให้สิ่งที่ตั้งใจไว้ดูไม่สำคัญหรือยังรอได้ ใช้ความยืดหยุ่นเป็นข้ออ้างที่จะเลื่อน เป้าหมายที่วางไว้เพื่อตนเองจึงไม่สำเร็จ

นี่คือกับดักที่ต้องระมัดระวังคือใช้ความยืดหยุ่นมาเป็นข้อแก้ตัวหรือข้ออ้างที่จะไม่ทำอะไร ทั้งที่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ เช่น ยังไม่ซื้อบ้านปีนี้อ้างรอปีหน้าเผื่อดอกเบี้ยจะลง แต่กลับใช้เงินที่เก็บออมไปเที่ยวต่างประเทศก่อน ผลคือคำมั่นสัญญาที่ให้กับตนเองกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมาย เก่งพูดแต่ไม่ทำ เป็นการไม่เคารพตัวเองในอีกแบบหนึ่ง
 

วิธีแก้เรื่องนี้มีสองวิธีแต่ต้องทำพร้อมกัน อันแรกคือคิดอย่างรอบคอบก่อนว่าเราต้องการทำอะไร ต้องการเปลี่ยนอะไร จากนั้นเลือกมาเพียงสิ่งเดียว คือปณิธานปีใหม่ปีนี้มีอย่างเดียวที่อยากทำเพื่อเปลี่ยนตนเองให้ดีขึ้น และถ้าเราไม่ทำเราก็จะไม่มีอะไรเหลือให้เปลี่ยนแปลง

ปีใหม่นี้จะสัญญากับตนเองอย่างไรดี | บัณฑิต นิจถาวร

วิธีที่สองคือทำให้เป็นที่ทราบทั่วกัน จะโดยประกาศหรือทำให้เห็นเป็นตัวอย่างก็ตาม ว่านี่คือปณิธานหรือเป้าที่เราต้องการทำหรือเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนคำมั่นสัญญาที่เราให้กับตนเองเป็นคำมั่นสัญญาที่ผู้อื่นรับรู้ เพื่อให้การผัดวันประกันพรุ่งหรือการไม่ทำจะมีต้นทุน

ซึ่งต้นทุนก็คือความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของเราในสายตาคนอื่น ขณะเดียวกันเราเองก็จะเปลี่ยนเพราะการมีต้นทุนทำให้เราไม่มีทางเลือกอื่นแต่ต้องทํา ความอยากปรับปรุงตัวเองเพื่อให้ชีวิตดีขึ้นจึงกลายเป็นความปรารถนาแรงกล้า หรือ strong determination ที่จะทำให้สิ่งที่อยากทำต้องเกิดขึ้น

ในประวัติศาสตร์มีตัวอย่างมากมายที่ความปรารถนาอย่างแรงกล้านํามาสู่การตัดสินใจที่สร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศ เช่น ปี 1519 Hernan Cortes นักล่าอาณานิคมชาวสเปนขึ้นฝั่งที่เม็กซิโกและประกาศจะเอาเม็กซิโกเป็นอาณานิคม เผาเรือเดินทะเลที่ใช้เดินทางเพื่อไม่ให้มีทางเลือกที่จะกลับบ้าน คล้ายกับพระเจ้าตากที่ “ทุบหม้อข้าว” ก่อนเข้าตีเมืองจันทบูร ปี 1767 เพื่อไม่ให้มีทางเลือกอื่นเช่นกัน

สองตัวอย่างนี้ชี้ว่าความปรารถนาอย่างแรงกล้า ไม่ใช่ความยืดหยุ่น คือปัจจัยที่ทำให้สิ่งที่อยากทำเกิดขึ้นได้จริงอย่างสำเร็จ

ก็อยากเห็นผู้อ่านและแฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” มีปณิธานสักหนึ่งข้อปีนี้และตั้งใจมุ่งมั่นที่จะทำให้ปณิธานนี้เกิดขึ้น ถ้าทําได้ผมมั่นใจว่าชีวิตจะดีขึ้น มีความสุขเพราะได้ทำในสิ่งที่อยากทำ และความเชื่อมั่นในตัวเองก็จะยิ่งสูงขึ้น

ขอให้ผู้อ่านและแฟนคอลัมน์ทุกท่านมีความสุข มีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์แข็งแรงตลอดปี 2565

ปีใหม่นี้จะสัญญากับตนเองอย่างไรดี | บัณฑิต นิจถาวร
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์บัณฑิต 
ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]