ภาษาอังกฤษเด็กไทยฝึกอย่างไรให้เก่ง | บุญเลิศ วงศ์พรม

ภาษาอังกฤษเด็กไทยฝึกอย่างไรให้เก่ง | บุญเลิศ วงศ์พรม

การเรียนภาษาอังกฤษเหมือนการสร้างบ้าน หลายคนอาจมองดูตัวเองด้วยความเศร้าว่า ตัวเองเหมือนคนไร้บ้าน ฟังก็จับประเด็นไม่ได้ พูดก็ไม่คล่อง อ่านก็ไม่เข้าใจ เขียนก็ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ แล้วจะสร้างบ้านใหม่ได้อย่างไร

ครูลูกกอล์ฟ “คณาธิป สุนทรรักษ์” ติวเตอร์ชื่อดังเคยเปรียบเทียบการเรียนภาษาอังกฤษเหมือนการสร้างบ้าน กล่าวคือ ฐานของบ้านเปรียบดั่งการฟังซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนภาษา 

ส่วนเสาหลักคือการพูด ผนังของบ้านคือการอ่านและหลังคาเปรียบได้ดั่งการเขียน ในการที่จะทำให้บ้านที่เรียกว่าภาษาของคุณสวยงามนั้น องค์ประกอบทั้งหมดจะต้องถูกสร้างขึ้นมาอย่างถูกต้องและระมัดระวัง  

หลายคนเคยเจอปัญหาในการเรียนภาษาอังกฤษ หนึ่งในนั้นคือ “คุณกระทิง” นายเรืองโรจน์ พูนผล เขามีความตั้งใจ เคยเป้าหมายเอาไว้ว่าอยากไปทำงานในบริษัทระดับโลก แถวซิลิคอล วัลเล่ย์  อยากสร้างงาน สร้างเงินจากโลกธุรกิจ และใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างความร่ำรวยได้อย่างรวดเร็ว ดั่งที่บิล เกตส์ หรือ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์กเคยทำสำเร็จมาแล้ว  

ดังนั้น หมุดหมายของเขาต่อไปคือการได้ไปทำงานที่ถิ่นแห่งเทคโนโลยีดังกล่าว   แต่ด้วยความอ่อนด้อยทางภาษาเป็นตัวขวางกั้น จึงเป็นเหตุให้เขาต้องสะดุดความฝัน พักความคิดเพ้อฝันไว้ชั่วครู่ 

สถานีต่อไปที่เขาต้องทำให้ได้ก็คือ การตั้งใจพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้คล่อง  จากการตั้งเป้านำไปสู่การตั้งต้น จนช่วยให้คุณกระทิงเกิดความตั้งใจในการฝึกฝนภาษาอังกฤษให้เก่ง   แต่กว่าจะเก่งภาษาอังกฤษได้อย่างในปัจจุบันนั้นมิใช่เป็นมาได้ง่ายๆ   เขาต้องฝึกฝน อบรม เรียนรู้อยู่ทุกวันด้วยความตั้งมั่น  

ภาษาอังกฤษเด็กไทยฝึกอย่างไรให้เก่ง | บุญเลิศ วงศ์พรม

แต่ละวันต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่มาฝึกภาษาอังกฤษผ่านวารสารและสื่อการเรียนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทป BBC ที่     เปิดฟังซ้ำไปซ้ำมาทั้ง 43 ม้วน  อ่านหนังสือพิมพ์บางกอกโพสท์  อ่านหนังสือพิมพ์ Student Weekly อ่านทุกหน้า ต้องเข้าใจในทุกข้อความ เจอข้อความดีๆ จดบันทึกเอาไว้ พบศัพท์สวยๆในสาขาต่างๆ จดเอาไว้   

เขาทำอย่างนี้อยู่ 2 ปี  จากการสะสมทีละนิด รับเอาวันละหน่อย ค่อยๆสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งทักษะการฟัง ทักษะการอ่าน จนมีความคล่องและมั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษในที่สุด

หลากแนวคิดที่จะนำพาเราไปสู่ความเก่งและประสบผลสำเร็จในการเรียนภาษาอังกฤษ อาทิ
1.    คิดเป็นภาษาอังกฤษ  เอาภาษาอังกฤษมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน  เป็นกิจกรรมประจำวัน คนไทยส่วนมากจะแปลเป็นภาษาไทยก่อนแล้วค่อยโต้ตอบ ลองเปลี่ยนใหม่คิดเป็นภาษาอังกฤษเลยแล้วพูดให้ติดปาก

2.    ปรับสื่อที่เราเสพเป็นสื่อการสอน แทนที่จะใช้สื่อเพื่อการบันเทิงลองเปลี่ยนวัตถุประสงค์มาเป็นเพื่อการเรียนรู้ พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษดูจะดีกว่า เพิ่มมูลค่าจากมือถือที่เรามีให้เกิดประโยชน์มากกว่าการเสพข่าวและการบันเทิงเท่านั้น

3.    เปลี่ยนรูปแบบการเรียนใหม่  สร้างสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เอื้อต่อการเรียนการสอน สร้างสิ่งแวดล้อมอุดมไปด้วยศัพท์ สำนวน ประโยคภาษาอังกฤษที่จำเป็นที่เรามองเห็นได้ง่ายๆ        

ภาษาอังกฤษเด็กไทยฝึกอย่างไรให้เก่ง | บุญเลิศ วงศ์พรม    

4.    ทำความเข้าใจในหลักภาษา ภาษาอังกฤษมีสองส่วนที่พึงคำนึงคือ ความคล่อง กับ ความถูกต้อง ทั้งสองส่วนต้องมาด้วยกัน ซึ่งไวยากรณ์เป็นตัวกำกับความถูกต้องของตัวภาษา เวลาสอบก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเผชิญกับการทดสอบความรู้เรื่องไวยากรณ์

5.    พูดมันออกมา ผิด-ถูกไม่เป็นไร คนกล้าพูดจะเก่งเร็ว อย่ากลัวที่จะพูดผิด ก่อนที่เราจะพูดคำๆหนึ่งได้อย่างถูกต้อง เราต้องออกเสียงตอกย้ำซ้ำซากอยู่หลายครั้ง จนทำให้ปากเราคุ้น สามารถพูดได้คล่อง อย่าเขินอายที่จะพูดผิด

6.    ดูทีวีไม่มี Subtitle ส่วนนี้จะช่วยเราพัฒนาทักษะการฟัง การฟังเป็นประตูบานแรกที่จะช่วยนำพาเราไปสู่ทักษะอื่นๆ หากเราฟังไม่รู้เรื่องเราก็จะพูดตอบโต้ไม่ได้  นอกจากนั้นการดูทีวีจะช่วยให้เราได้ภาษาพูดและสำเนียงภาษาที่ไม่เป็นทางการ  มีบ้างที่ฟังไม่รู้เรื่องเราสามารถเดาจากบริบท  หรือภาษากาย จินตนาการจากภาพเป็นเรื่องราวได้

7.    ฟัง YouTube/English Listening Practice  เพื่อเพิ่มทักษะการฟัง ค่อยๆซึมซับ โดยเฉพาะประโยคสนทนา สารคดี เพราะภาษาในสารคดีจะเป็นภาษาที่ชัด เป็นทางการ ฟังเข้าใจง่ายทั้งสำนวนและสำเนียง YouTube เป็นสื่อการเรียนภาษาอังกฤษที่ทรงพลังมาก จงใช้สื่อใกล้ตัวให้มีประโยชน์ 

ภาษาอังกฤษมันมิใช่การวิ่งระยะสั้น  และไม่ใช่การวิ่งที่เร็วที่สุด  หากแต่เป็นการวิ่งมาราธอน  ด้วยเหตุนี้อย่าไปคาดหวังว่าจะเก่งขึ้นมาทันทีทันใด แต่ต้องอาศัยวันเวลา วิ่งไปเรื่อยๆ ไม่หยุด ฝึกฝนไปเรื่อยๆ หนื่อยก็พัก ใช้ให้บ่อยๆ  ต้องสะสม ต้องได้ใช้ เดี๋ยวเก่งเอง  ต้องเก่งเรื่องการท่อง ต้องฝืน ไม่ต่างอะไรกับการท่องสูตรคูณ หรือตารางธาตุ เมื่อท่องได้แล้วจะจำได้นาน  

ดังนั้น ก่อนเก่งภาษาอังกฤษต้องฝืนเก่ง ท่องเก่ง จดเก่ง ฟังเก่ง อ่านเก่ง และที่สำคัญต้องได้ใช้ สร้างสภาพแวดล้อมให้อุดมไปด้วยสื่อภาษาอังกฤษ มือถือปัจจุบันเป็นสื่อการเรียนภาษาที่มีประสิทธิภาพสูง อินเทอร์เน็ตล้วนอุดมไปด้วยสื่อในการเรียนภาษาอังกฤษซึ่งสามารถโหลดจาก APP ต่างๆ หรือจาก YouTube โดยตรง 

    ระหว่างทางอาจประสบกับความผิดพลาดในการใช้บ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดาของการเรียนภาษาใหม่ทุกภาษา ถือเป็นการลองผิดลองถูก (Try and Error) ก่อนที่จะฝึกให้ได้สำเนียง สำนวน และรูปประโยคที่สมบูรณ์ได้ การพูดผิดไม่ใช่เรื่องเสียหาย ไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย ไม่ได้ทำลายคุณ หากแต่ช่วยพัฒนาทักษะการใช้ภาษาของคุณให้ดียิ่งขึ้น กล้าที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น แค่อาย แต่ไม่ตาย 

    ทุกคนต่างมีความฝันอยากบรรลุถึงความคล่องและความถูกต้องในการใช้ภาษาอังกฤษ แต่ความฝันนั้นจะต้องมีวินัยเป็นตัวกำกับ (Passion without discipline is illusion) เพราะหากความฝันที่ปราศจากวินัย มันคือ มายาภาพ  เป็นเพียงความเพ้อฝัน หาได้เป็นความใฝ่ฝันแต่อย่างใดไม่  ตัววินัยเป็นตัวกำกับเส้นมิให้เราวิ่ง ออกนอกลู่ หรือแหกกฎกติกา ที่สำคัญ “วินัย” ถือเป็นสิ่งที่เดินมาเคียงคู่กันกับผู้ประสบผลสำเร็จในการเรียนภาษา  

“โค้ชเช”         เช ยอง ซอก ผู้ปั้นนักกีฬาเหรียญโอลิมปิกมาหลายคน ตั้งแต่เหรียญเงิน มาเหรียญทองแดง และเหรียญทองในที่สุด เคยให้ข้อคิดไว้ว่า “สิ่งสำคัญในการสร้างนักกีฬาเทควันโดให้กลายเป็นนักกีฬาทีมชาติได้นั้นเริ่มจากการสร้างระเบียบวินัย นักกีฬาที่เก่งมากๆ แต่ไม่มีระเบียบวินัยผมไม่เลือก ถ้าวินัยดี จะมีโอกาสประสบผลสำเร็จ 

ผมใช้วินัยนั้นเป็นเครื่องมือในการฝึกฝนลูกศิษย์  แม้นมันเป็นงานยาก และต้องใช้เวลานานนับสิบปี แต่เพราะมีความอดทนอย่างต่อเนื่อง ที่เห็นความสำเร็จได้เหรียญทองภายในสิบกว่านาทีนั้นน่ะ กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ต้องใช้เวลา ต้องพยายาม ต้องอดทนเป็นสิบๆปี”  

หนึ่งใน Role Model เรื่องการมีวินัยในการฝึกฝนภาษาอังกฤษคือ คุณเรืองฤทธิ์ ศิริพานิช หรือ     “ริท เดอะ สตาร์”  เขาเคยได้เกรด 4 ทุกรายวิชา ยกเว้นวิชาภาษาอังกฤษ เขาเกือบจะยกธงขาว จนได้มาเจอครูสอนภาษาอังกฤษคนหนึ่งอาสาจะช่วย แต่ต้องให้สัญญาว่าจะต้องท่องศัพท์ให้ได้ 1 หน้ากระดาษ ซึ่งมีประมาณ 100 คำทุกวัน แล้วต้องมาทดสอบท่องให้ครูฟัง 

ภาษาอังกฤษเด็กไทยฝึกอย่างไรให้เก่ง | บุญเลิศ วงศ์พรม

เขาทำอย่างนี้ตลอดระยะเวลา 2 ปี จากการสะสมวันละหน้า อดทนฝึกฝนเรื่อยมา จนวันหนึ่ง ครูจึงเอา Dictionary มาวางตรงหน้าเขาพร้อมกับกล่าวว่าที่เธอท่องมาคือหนังสือเล่มนี้     การนำมาทีละแผ่นทำให้ดูไม่เยอะ ช่วยให้เขามีใจสู้ หากครูยกมาทั้งเล่มมาตั้งแต่ต้นรับรองได้ว่าเขาออกอาการถอดใจเป็นแน่     

2 ปีผ่านไปเขาสามารถพัฒนาทันเพื่อนๆระดับท็อปในห้อง   ดังนั้น การคิดว่าตัวเองไม่เก่งนั้นคิดได้ แต่อย่าหยุดพยายาม จงสู้กับมัน เพื่อก้าวไปให้ถึงฝันของเราให้ได้ สุดท้ายผลลัพธ์จะมาเอง

ภาษาอังกฤษต้องมีวินัยในการฝึกฝน วินัยเป็นดั่งสะพานที่เชื่อมระหว่างเป้าหมายกับความสำเร็จเข้าหากัน เราคนไทยมีอวัยวะที่เอื้อต่อการออกเสียงอยู่แล้ว มีวรรณยุกต์ครบทุกระดับเสียง ลองเอาความได้เปรียบ ใส่ความขยันลงไปสักนิด เพิ่มความเอาใจใส่ลงไปสักหน่อย รับรองเก่งขึ้นเป็นแน่ อีกหนึ่งคำยืนยันจากอาจารย์อดัม บลัดชอว์ ครูสอนภาษาอังกฤษชื่อดังครับ.