เรายังพัฒนา Talent ในวิธีเดิม ๆ ได้อีกหรือ?

เรายังพัฒนา Talent ในวิธีเดิม ๆ ได้อีกหรือ?

ในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การพัฒนา "ทาเลนท์" และผู้สืบทอดตำแหน่ง (Talent & Successor) ยังสามารถใช้วิธีการพัฒนาด้วยรูปแบบและวิธีการเดิม ๆ ได้อีกหรือ?

คำถามสำคัญที่หลายคนอาจสงสัยคือ ในวันนี้ที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และด้วยรูปแบบและวิธีการทำงานไม่เหมือนเดิมที่เกิดขึ้นในหลากหลายมิติ การพัฒนาทาเลนท์และผู้สืบทอดตำแหน่ง (Talent & Successor) ซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทุกองค์กร เราจะยังสามารถใช้วิธีการพัฒนาด้วยรูปแบบและวิธีการเดิม ๆ ได้อีกหรือ?

ด้วยสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง และความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น อาทิ จากสภาวะเศรษฐกิจ Covid-19 รวมถึงมรสุมแห่ง “ดิจิทัล ดิสรัปชัน” ในปัจจุบัน ส่งผลให้หลายองค์กรต้องมีการปรับเปลี่ยน หรือทำการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการปรับรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ควบรวมกิจการ หาพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ ๆ ทั้งจากภายในและต่างประเทศ นำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต ปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำงานเป็นแบบ “ไฮบริด” (ผสมผสานระหว่างการทำงานที่ออฟฟิศกับการ “Work from Anywhere”) มากยิ่งขึ้น ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้มี ความรวดเร็ว พร้อมเปลี่ยนแปลง และมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรม เพื่อให้สามารถนำพาองค์กรให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

แต่ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้นนี้ จะสำเร็จไม่ได้เลย หากขาดผู้นำที่มีขีดความสามารถใหม่ ๆ ที่จะนำพาองค์กร ก้าวข้ามความท้าทาย หรือคว้าโอกาสที่เกิดขึ้นให้ทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทั้งในปัจจุบันและอนาคต

นอกเหนือจากการที่องค์กรต้องการผู้นำที่มีขีดความสามารถใหม่ ๆ แล้ว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นยังส่งผลกระทบต่อรูปแบบ และวิธีการในการพัฒนาทาเลนท์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่มีความรวดเร็วสูง การมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาเกี่ยวข้อง วิธีการทำงานที่เปลี่ยนไปมีการ “Work from Home” หรือทำงานจากทางไกลมากขึ้น ส่งผลให้ทาเลนท์ ต้องโฟกัสในการขับเคลื่อนธุรกิจในบทบาทปัจจุบันให้เกิดขึ้น

เพราะโดยปกติแล้วทาเลนท์ในองค์กรมักจะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับมอบหมายงานที่มีความคาดหวังสูง และได้รับโอกาสในการทำงานที่มีความท้าทายสูง จึงทำให้อาจไม่มีเวลามาเข้ารับการพัฒนาที่ต้องใช้เวลาต่อเนื่องยาว ๆ และการเข้ามา “เรียนเผื่อรอใช้” ได้อีกต่อไป รูปแบบการเรียนรู้และพัฒนาในยุคนี้ จึงมีการเรียนรู้แบบ Virtual และการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนามากขึ้น

ด้วยสาเหตุหลัก 2 ส่วนนี้ ทั้งในส่วนที่องค์กรต้องมีผู้นำที่มีขีดความสามารถใหม่ ๆ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง และความท้าทายในการที่จะพัฒนาทาเลนท์อย่างไร ในบริบทและสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับทาเลนท์ในปัจจุบัน ดังนั้นเราจึงไม่สามารถพัฒนาทาเลนท์ ด้วยวิธีการแบบเดิม ๆ ได้อีกต่อไป

คำถามจึงอยู่ที่ว่าแล้วรูปแบบใหม่ในการพัฒนาทาเลนท์ และผู้สืบทอดตำแหน่งเป็นอย่างไร?

  • New Way of Talent & Successor Development

ในเมื่อทุกอย่างเปลี่ยนไป การพัฒนาทาเลนท์และผู้สืบทอดตำแหน่ง (Talent & Successor) ย่อมไม่สามารถทำได้ด้วยวิธีเดิม ๆ องค์กรจำเป็นต้องมองหาแนวทางพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถของผู้นำในรูปแบบและวิธีการใหม่ ๆ ไม่ใช่แค่เพื่อประสิทธิผล แต่เพื่อปรับอัตราเร่งให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย

โดยองค์กรจำเป็นต้องมีระบบนิเวศน์ใหม่สำหรับการเรียนรู้และพัฒนา ที่มีองค์ประกอบอยู่ 3 ด้านที่สำคัญคือ

- เนื้อหาและหลักสูตร (Content)

ด้วยข้อจำกัดของเวลาและความยุ่งเหยิงของภารกิจที่ทุกคนเผชิญในวันนี้ รูปแบบการเรียนรู้ควรมุ่งเน้นที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยมุ่งไปที่หลักสูตรที่ช่วยให้ทาเลนท์มีขีดความสามารถใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง ผ่านการผสมผสานระหว่างความรู้และทักษะเชิงเทคนิคที่สำคัญ (Technical Skills) เช่น ความรู้และทักษะทางเทคโนโลยี ทักษะการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และตัดสินใจ นำมาพัฒนาร่วมกันกับการพัฒนาซอฟต์สกิล (Soft Skill หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า Power Skills)

ไม่ว่าจะเป็นขีดความสามารถและทักษะในด้านของการนำทีมผ่านการเปลี่ยนแปลง ทักษะผู้นำในการสร้างวัฒนธรรมแห่งความไว้วางใจ (High Trust Culture) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการติดอัตราเร่งการทรานส์ฟอร์มให้กับองค์กร ทักษะและขีดความสามารถที่จะช่วยให้ผู้นำสามารถดึงศักยภาพที่แท้จริงของทีมงานออกมาร่วมกันขับเคลื่อนองค์กร จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกับลูกค้าผ่านเนื้อหาหรือหลักสูตรที่ครอบคลุม ทั้งการช่วยให้มีกรอบวิธีคิด (Mindset) ที่ถูกต้อง การมีแนวทางการฝึกปฏิบัติ (Skillset) ที่ทำได้จริง และการมีเครื่องมือ (Toolset) ที่จะช่วยให้ทาเลนท์ นำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ได้ทันที

โดยเนื้อหาและหลักสูตรที่เลือกมาควรจะเป็นหลักสูตรที่มีคุณภาพที่ผ่านการวิจัยและได้รับการพิสูจน์ถึงผลลัพธ์จริง เพื่อช่วยให้ทาเลนท์ หรือองค์กรไม่ต้องเสียเวลาในการลองผิดลองถูก ที่จะทำให้องค์กรสามารถทรานส์ฟอร์มได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้อีกจุดสำคัญในการเลือกเนื้อหาหรือหลักสูตร คือเนื้อหาและหลักสูตรนั้น ควรสามารถสนับสนุนการออกแบบรูปแบบการเรียนรู้ (Learning Modality) ที่หลากหลาย และมีความยืดหยุ่น สอดคล้องและตรงกับบริบทขององค์กร เช่น ในหลาย ๆ องค์กรมักจะพบปัญหาว่าทาเลนท์เรียนรู้ไปเยอะมาก แต่ไม่สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งจากประสบการณ์ของเรา การให้ผู้เรียนได้เนื้อหาคุณภาพดีที่ตรงความต้องการ มี Modality ที่เหมาะสมจะช่วยให้ผู้เรียนให้ความสนใจ และสามารถนำไปประยุคใช้ได้จริงวัดผลการพัฒนาได้

- คน และกระบวนการ (People & Process)

การพัฒนา Talent ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมให้เกิดขึ้นได้จริง ภายใต้กรอบสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนั้น จำเป็นจะต้องมีการออกแบบกระบวนการการพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทขององค์กร ภายใต้หลักแนวคิดของศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ที่สอดคล้องและสนับสนุนกลยุทธ์และทิศทางขององค์กร ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้นำหรือผู้บริหารองค์กรในกระบวนการออกแบบและพัฒนา รวมทั้งออกแบบภายใต้กรอบแนวคิดของ Human-Centered Design ด้วยการมองทาเลนท์เป็นศูนย์กลาง

หนึ่งในความท้าทายหลักของการพัฒนาทาเลนท์ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้คือ ทาเลนท์ไม่สามารถเข้าเรียน แบบ Face to Face และมีเวลาเรียนที่น้อยลงเนื่องจาก สถานการณ์ Covid-19 และหน้าที่ความรับผิดชอบที่เพิ่มสูงขึ้น แต่เราจะไม่พัฒนาทาเลนท์เลยก็ไม่สามารถทำได้

เราจะทำอย่างไรที่จะออกแบบกระบวนการและรูปแบบการพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทที่ทาเลนท์เผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการผสมผสานระหว่าง การเรียนรู้ แบบ Live-Online ที่เป็นแบบ “Learning Sprint” มากขึ้น ผ่านการประยุกต์รูปแบบการเรียนรู้แบบ “Flipped Learning” ที่ให้ใช้เวลาเรียนรู้แบบทางการไม่มาก แต่เน้นการนำความรู้สู่การปฏิบัติมากขึ้น และเรื่องที่เรียนรู้ก็ควรเป็นเรื่องที่ทาเลนท์สามารถไปปรับใช้แล้วช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น ภายใต้กรอบแนวคิด “Learning In the flow of work”* เป็นต้น

- เทคโนโลยี

เพื่อให้เราสามารถพัฒนา Talent ให้สอดคล้องและทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น องค์ประกอบที่สำคัญส่วนสุดท้ายคือเทคโนโลยี โดยเราควรจะมุ่งเน้นในการเลือกเทคโนโลยี ที่จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น (Flexibility) ในการออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ให้เข้ากับบริบทของทาเลนท์ เพิ่มความรวดเร็ว (Speed) ในการที่จะช่วยให้ ทาเลนท์เข้าถึงความรู้และการนำไปปรับใช้ ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้เราสามารถ Scale การพัฒนาทาเลนท์ในองค์กรได้ และสุดท้ายเทคโนโลยีควรจะช่วยให้เรามีข้อมูลนำมาเรียนรู้ เพื่อพัฒนา ปรับปรุงและต่อยอด รูปแบบการพัฒนา ให้มีประสิทธิผล และเกิดผลลัพธ์ได้จริง

สุดท้ายนี้หวังว่าจะช่วยให้ผู้อ่านได้เห็นมุมมองในการพัฒนาทาเลนท์และผู้สืบทอดตำแหน่ง อันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้องค์กรของท่านสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงภายนอกจะมีความรุนแรงและคาดการณ์ได้ยากเพียงใด

----------------------------------

แพคริม กรุ๊ป เป็นตัวแทนแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยของ FranklinCovey และบริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผู้นำและองค์กรระดับโลกอีกหลายแห่ง สนใจขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาทาเลนท์และผู้สืบทอดตำแหน่ง (Talent & successor) หรือติดต่อเพื่อนัดหมายพูดคุยกับเราได้ที่ คุณเบ็ญจวรรณ์  งามระลึก โทร. 083-495-6915 อีเมล: [email protected]

*Reference: joshbersin.com

เกี่ยวกับผู้เขียน | วิกรม คงสกุลยานนท์ Chief Solution Officer, แพคริม กรุ๊ป www.pacrimgroup.com