ไอน์สไตน์ และ MIT เกี่ยวอะไรกับผู้ว่าฯกทม.

ไอน์สไตน์ และ MIT เกี่ยวอะไรกับผู้ว่าฯกทม.

เป็นกระแสที่พูดคุยกันอย่างสนุกสนานพลันที่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ ออกมาประกาศสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในนามของพรรคประชาธิปัตย์ กับประโยคเด็ด “ทายาทสายตรงไอน์สไตน์ คนเดียวในแผ่นดินไทย”

ผมเชื่อว่า ผู้ฟังเกือบ 100% ก็ไม่เชื่อว่าเป็นจริง แต่ก็ต้องยอมรับว่าแค่ประโยคเดียวจาก ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นั้นก็ชวนให้คนทั้งบ้านทั้งเมืองพูดถึง ชิงพื้นที่สื่อ ตอบโจทย์การตลาดอย่างตรงเป้าช่วยประชาสัมพันธ์การเข้าชิงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ถือเป็นยุทธวิธีในเชิงการตลาดประชาสัมพันธ์ที่น่าสนใจยิ่ง

แล้วไอน์สไตน์กับสถาบัน MIT (สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์) มันเกี่ยวอะไรกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.? ทำไมต้องไอน์สไตน์? ทำไมต้อง MIT?

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในประวัติศาสตร์กระแสหลักว่า ไอน์สไตน์นั้นเป็นหนึ่งในบุคคลที่ฉลาดที่สุดในโลก เพราะนอกจากจะได้รับการยอมรับว่าเป็นนักฟิสิกส์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง ยังเป็นเจ้าของทฤษฎีสัมพันธภาพและทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม ซึ่งถือเป็นเสาหลักของวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ และถือเป็นจุดกำเนิดของพลังงานและระเบิดนิวเคลียร์

ขณะที่ MIT ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของโลก โดยเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปและโดยการจัดลำดับของสำนักการจัดลำดับมหาวิทยาลัยโลกว่าเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งในแต่ละปีก็แย่งชิงกันไปมาระหว่าง MIT และม.ฮาร์วาร์ด ของสหรัฐ กับ ม.ออกซ์ฟอร์ด ของฝั่งอังกฤษ

MIT ถือว่าเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของโลกในการผลิตบัณฑิตทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิศวกรรม กระบวนการคัดสรรนักศึกษาที่เข้มข้นกับค่าเล่าเรียนที่สูงลิ่วนั้นก็เป็นตัวกรองชั้นดีที่จะคัดสรรผู้ที่มีความสามารถให้เข้ามาเรียนและเมื่อจบออกไปก็สามารถต่อยอดความรู้ และใช้ประโยชน์จากชื่อเสียงและเครือข่ายของมหาวิทยาลัยที่ถือเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยอายุ 160 ปีนี้มีชื่อเสียงและสามารถคงคุณภาพการสอนก็คือทรัพยากรเงิน เพราะนอกจากมหาวิทยาลัยจะเก็บค่าเล่าเรียนที่สูงมาก (รายได้จากค่าเล่าเรียนรวม 27,400 ล้านดอลลาร์ในปี 2564) หรือเฉลี่ยประมาณ 1.5 ล้านบาทต่อใบปริญญา ยังมีรายได้จากทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิบัตร (72.8 ล้านดอลลาร์) และยังไม่นับรวมกับเงินบริจาคก้อนโตจากทั้งศิษย์เก่าและบริษัทต่างๆ อีก

รายได้เหล่านี้ถูกนำมาต่อยอดจัดจ้างบุคลากรที่มีความสามารถอันดับ 1 ในสาขานั้นๆ ตลอดจนนำมาใช้จัดการหลักสูตรสร้างสรรค์อุปกรณ์ห้องแล็บตลอดจนเป็นทุนการศึกษา ทุนวิจัยแก่นักศึกษาและบริษัทต่างๆ ที่เข้าร่วมโปรแกรมกับ MIT

จากค่าเล่าเรียนที่สูงมากและเกณฑ์การรับที่สูงยิ่งทำให้ นักศึกษาใน MIT แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ถ้าไม่รวยและเก่ง ก็ต้องเก่งและเก่งเพราะได้ทุนการศึกษาเท่านั้น เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยระดับท็อปของโลก

ศิษย์เก่าของ MIT ที่มีจำนวนไม่มากนั้นก็ได้รับการยอมรับในระดับโลก อาทิ โคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) และ เบน เบอร์นันเก อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ขณะที่ในประเทศไทยนั้นศิษย์เก่า MIT นั้นมีไม่มาก แต่สามารถพูดได้ว่าเป็นที่รู้จักกันทั้งประเทศ อาทิ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, กอบศักดิ์ ฟูตระกูล อดีตรัฐมนตรี และสองแคนดิเดตผู้ว่าฯกทม. ดร.สุชัชวีร์ และ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรมว.คมนาคม

ดังนั้น หากไม่อยากจั๊กจี้หูเวลาบอกว่าตัวเองนั้นทั้งเก่งและฉลาด ก็คงจะพูดอ้อมๆ ได้ประมาณว่า ฉันคือทายาทไอน์สไตน์ และ/หรือจบ MIT นั่นเอง