เดิน....เดิน...เพื่อชีวิต | วรากรณ์ สามโกเศศ

เดิน....เดิน...เพื่อชีวิต | วรากรณ์ สามโกเศศ

เห็นข้อเขียนหนึ่งในอินเทอร์เน็ตเรื่องการเดินแล้วโดนใจมาก จึงไปค้นบทความของผู้เขียนเองเมื่อหลายปีก่อนเรื่อง “ฆาตกรชื่อเก้าอี้” มาดูก็พบว่าสอดคล้องกันดีจึงขอเอาข้อมูลบางส่วนมาเสริมข้อเขียนดังกล่าวในวันนี้

ผู้คนมักเข้าใจว่าปืนและมีดคือเพชรฆาตแต่หากพิจารณาไปแล้วก็จะเห็นว่าฆาตกรตัวสำคัญที่มาแบบเงียบ ๆ โดยนำไปสู่โรค NCDs ก็คือการมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ไม่เคลื่อนไหวร่างกายแบบกระฉับกระเฉง   การเดินคือพื้นฐานของการเคลื่อนไหวร่างกายที่สำคัญยิ่ง
     NCDs คือ กลุ่มโรคที่ไม่ติดต่อหากเรื้อรังอันได้แก่ เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไตเรื้อรัง      โรคมะเร็งต่าง ๆ   โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง  โรคอ้วน โรคตับแข็ง      โรคสมองเสื่อมซึ่งรวมกันแล้วเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตกว่าร้อยละ 80
 

นิตยสาร Scientific American  ปี 2014   ระบุว่างานวิจัย 18 ชิ้น  ซึ่งครอบคลุมประชากรทั้งหมด 800,000 คน     สรุปตรงกันว่าการนั่งเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดโรค     งานชิ้นหนึ่งพบว่าการนั่งมากกว่าครึ่งวันในแต่ละวันทำให้ความเสี่ยงจากการเป็นโรคเบาหวาน  โรคหัวใจเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว    และหากเปรียบเทียบกลุ่มคนที่นั่งกับกลุ่มคนที่กระฉับกระเฉงเดินไปมาแล้วโดยคำนึงถึงทุกโรครวมกันแล้ว คนกลุ่มแรกนี้มีโอกาสตายสูงกว่าถึงร้อยละ 50
    เหตุใดการแค่นั่งธรรมดาทำให้มีโอกาสตายสูงขึ้น? คำตอบก็คือการนั่งเป็นระยะเวลา    นาน ๆ  ไม่สอดคล้องกับการที่ร่างกายมนุษย์ถูกออกแบบมา    ธรรมชาติสร้างให้มนุษย์เคลื่อนไหวไปมา          ไม่หยุดนิ่งไม่เจ่าจุก   การนั่งนาน ๆ อย่างไม่เคลื่อนไหวทำให้ระบบการทำงานเผาผลาญอาหารเป็นพลังงานของร่างกายทำงานช้าลง    เกิดการสะสมของไขมัน     ความอ้วนตามมาจนอาจนำไปสู่โรคหัวใจ   โรคเบาหวาน โรคไข้ข้ออักเสบ  และโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวพันกับการมีน้ำหนักเกินปกติตลอดจนโรค NCDs
ข้อเขียนต่อไปนี้ (เครดิต ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง) ได้ส่งต่อๆกันมาในอินเทอร์เน็ตและผู้เขียน      ขอนำมาแชร์ต่อในรูปของข้อเขียนในหนังสือพิมพ์โดยอธิบายเรื่องการเดินของคนสูงวัยได้ดีมากดังนี้
     “...ความร่วงโรยจากการแก่ชรา     จะเริ่มจากเท้าขึ้นมา จงทำให้ขาทั้งสองของท่านแข็งแรงและคล่องแคล่วว่องไวอยู่เสมอ ในขณะที่เราร่วงโรยลงทุกวัน  ขาทั้งสองของเราต้องแข็งแรงอยู่ตลอดเวลา  เราไม่ควรกังวลไปกับเผ้าผมที่เปลี่ยนเป็นสีดอกเลา  ผิวหนังและผิวหน้าที่เหี่ยวย่น
    วารสารชื่อดังของสหรัฐชื่อ Prevention ได้สรุปไว้ว่าสำหรับคนที่อายุยืนยาวนั้น  การมีกล้ามเนื้อขาที่แข็งแรงถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด จงออกกำลังด้วยการเดินทุกวัน หากคุณไม่ขยับแข้งขยับขาสักสองอาทิตย์    ความแข็งแรงของขาของคุณจะลดลงไป 10 ปี  ดังนั้น.... จงเดินเถิด

มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเก้นที่เดนมาร์คได้ศึกษาพบว่า    ไม่ว่าคนหนุ่มหรือคนแก่  หากไม่เคลื่อนไหวตัวเองเลยราวสองสัปดาห์   จะทำให้กล้ามเนื้อขาอ่อนแอลงไปราวหนึ่งในสาม   ซึ่งจะเทียบเท่ากับการชราภาพลงไปถึง 20-30 ปี ดังนั้น ....จงออกแรงเดินเสมอ
    เมื่อกล้ามเนื้อขาเราอ่อนแอลง  การฟื้นตัวจะใช้เวลานานมาก   แม้ว่าเราจะพยายามฟื้นฟูร่างกายและออกกำลังกายในภายหลังก็ตาม….   จงตั้งหน้า     ตั้งตาเดินต่อไป
    ด้วยเหตุนี้   การออกกำลังกายด้วยการเดินเสมอจึงสำคัญมาก   ร่างกายทั้งร่างและน้ำหนักตัวของเรา   ต่างมีขาทั้งสองประคองเอาไว้    ขาทั้งสองจึงทำหน้าที่เป็นเสาหลักที่รับน้ำหนักทั้งหมดของตัวเรา
    ที่น่าสนใจคือร้อยละ 50 ของกระดูก และร้อยละ 50%ของกล้ามเนื้อ  ต่างอยู่ที่ขาทั้งสองของเรา  ส่วนของข้อต่อและกระดูกที่ใหญ่และแข็งแรงที่สุดอยู่ที่ขาทั้งสอง กระดูกและกล้ามเนื้อขาที่แข็งแรงและข้อต่อที่ยืดหยุ่นได้ดี เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของ "สามเหลี่ยมดุจเหล็ก" ที่ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักทั้งหมดของร่างกาย
    ร้อยละ 70 ของกิจกรรมทางกายและการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย   ใช้ขาทั้งสองเป็นหลัก  ใครรู้บ้างว่าเมื่อเรายังมีอายุน้อย  ต้นขาของเราไม่ว่าหญิงหรือชายสามารถจะยกรถยนต์ขนาดเล็กที่หนักได้ถึง 800 กก.  

ขาของเราคือจุดศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวของร่างกาย    ขาทั้งสองของเราประกอบไปด้วยร้อยละ 50 ของเส้นประสาท   ร้อยละ 50 ของเส้นโลหิต และร้อยละ50 ของระบบโลหิตที่ไหลเวียนผ่านเท้าทั้งคู่ดังนั้น   เท้าทั้งสองจึงเป็นระบบไหลเวียนที่ใหญ่ที่สุดที่เชื่อมโยงทั้งร่างกายเข้าด้วยกัน  .....จงเดินต่อไป
    เมื่อเท้าทั้งสองแข็งแรงจะทำให้เลือดหมุนเวียนได้ดีและกล้ามเนื้อขาเข้มแข็ง   ซึ่งทั้งหมดจะทำให้หัวใจแข็งแรง......  จงเดินต่อไป..
    การชราภาพเริ่มจากเท้าขึ้นไปยังส่วนบนของร่างกาย   เมื่อเราแก่ตัวลง  ความแม่นยำและความรวดเร็วในการส่งคำสั่งระหว่างสมองกับเท้าทั้งสองจะลดลง ไม่เหมือนตอนที่ยังมีอายุน้อย  นอกจากนั้นส่วนที่เรียกว่า Bone Fertilizer Calcium ที่สูญเสียไปตามกาลเวลาเมื่อเราแก่ตัวลงจะทำให้คนแก่กระดูกหัก (bone fractures) ได้ง่าย
    อาการกระดูกหักของคนแก่อาจนำไปสู่อาการที่ยุ่งยากซับซ้อนอีกหลายอย่างที่ร้ายแรง  อาทิเช่น อาการเส้นเลือดในสมองอุดตัน (brain thrombosis)  ร้อยละ15 ของคนแก่ที่มีอาการกระดูกต้นขาหักจะเสียชีวิตไปในเวลาไม่เกินหนึ่งปี
    จงเดินทุกวันอย่าได้ขาด  การเดินออกกำลังไม่มีคำว่าสายไปแม้คุณจะอายุเกิน 60 ไปแล้ว  แม้กำลังขาของเราจะเสื่อมลงตามกาลเวลาแต่การเดินเป็นภารกิจตลอดชีวิตของเรา จงเดินให้ได้ 10,000 ก้าวต่อวัน   หากเราเดินเพื่อทำให้เท้าแข็งแรง จะช่วยให้ขาของเราลดการอ่อนแอลง
    จงเดินตลอด 365 วัน จงเดินอย่างน้อย 30-40 นาทีทุกวัน เพื่อให้เท้าทั้งสองได้ออกกำลัง และทำให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรงเสมอ....."
    การเดินเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตของคนทุกวัยที่มีต้นทุนต่ำมาก    โดยเปรียบเทียบไม่ได้เลยกับผลประโยชน์ทางร่างกายและจิตใจที่จะได้รับคืนมาในอนาคต   แต่กระนั้นก็ตามมีคนจำนวนไม่มากนักที่เลือกเส้นทางนี้   และนี่คือคำอธิบายว่าเหตุใดธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยจึงรุ่งโรจน์อยู่เสมอ.