คู่มือการใช้ชีวิตเพื่อความสุขที่แท้จริง | วิทยากร เชียงกูล

คู่มือการใช้ชีวิตเพื่อความสุขที่แท้จริง | วิทยากร เชียงกูล

ในวาระใกล้จะถึงปีใหม่นี้ ขอแนะนำให้อ่านหนังสือชื่อ “คู่มือการใช้ชีวิตเพื่อความสุขที่แท้จริง” ที่ผมแปลมาจากงานของอีปิคตีตัส (ค.ศ. 55-135) ครูสอนปรัชญาสำนักสโตอิก (Stoic) ที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลมากที่สุด

 “คู่มือการใช้ชีวิตเพื่อความสุขที่แท้จริง” เป็นหนังสือเล่มบางๆ ที่สรุปสาระสำคัญของปรัชญาสโตอิก (Stoic) ที่เน้นเรื่องปรัชญาชีวิตและการดำเนินชีวิตไว้ได้อย่างดีมาก เป็นหนังสือได้รับการยอมรับสูงมาสองพันกว่าปีทั้งในเรื่องเนื้อหาคำบรรยายปรัชญาสโตอิกและการประพฤติตนแบบนักปรัชญา (ผู้แสวงสัจธรรมและความดีงาม) ที่แท้จริงของครูผู้บรรยาย
    ชื่อสำนักปรัชญา Stoic มาจากระเบียงในอาคารที่มีภาพเขียนประดับในนครเอเธนส์กรีกยุคโบราณ (ใช้เป็นที่ประชุมและตลาดใหญ่) ที่ซีโนแห่งซิติอุม (334-262 ก่อนค.ศ.) เจ้าสำนัก และครูปรัชญาสโตอิกชาวกรีกรุ่นต่อมาใช้เป็นสถานที่เผยแพร่แนวคิดของพวกเขา 

ต่อมาคำว่าสโตอิกนี้ถูกใช้เป็นชื่อสำนักคิด/ปรัชญาที่มีครูสอนต่อเนื่องกันมา 500 ปี จากยุคกรีกโบราณมาจนถึงยุคจักรวรรดิโรมัน และเป็นชื่อที่เป็นที่รู้จักของปัญญาชนรุ่นต่อๆ มามากกว่าสองพันปี จนคำว่า Stoical ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษยุคหลังกลายเป็นคำคุณศัพท์ที่มีความหมายว่า - การทำใจสงบ วางเฉย ไม่ยินดี ยินร้ายกับเรื่องที่มากระทบมากเกินไป (คล้ายคำว่า “อุเบกขา” ในปรัชญาพุทธ)
    อีปิคตีตัส (ค.ศ. 55-135 ) ผู้สืบทอดปรัชญาสโตอิกและอธิบายเพิ่มเติมด้วยภาษาของเขาเอง เป็นครูชาวกรีกที่เคยเป็นทาสมาก่อน แต่เขาได้เรียหนังสือและต่อมาได้ถูกปลดปล่อยจาการเป็นทาส ในวัยผุ้ใหญ่ เขาสอนปรัชญาในโรมที่ได้รับความนิยมมาก Origen

คู่มือการใช้ชีวิตเพื่อความสุขที่แท้จริง | วิทยากร เชียงกูล

นักปรัชญาคริสเตียนยุคแรกกล่าวว่าในยุคอีปิคตีตัส โด่งดังที่สุดนั้น มีคนขอไปเข้าเรียนกับอีปิคตีตัสเขามากกว่านักเรียนของเพลโต้ (428-348 ก่อนค.ศ.) ในยุคก่อนหนานั้นด้วย 
    ในค.ศ. 93 จักรพรรดิโรมันชื่อ โดมิเชี่ยน เนรเทศนักปรัชญาทั้งหมดออกจากโรม อีปิคตีตัสหลบไปตั้งโรงเรียนในเมืองเล็กๆ ชื่อ Nicopolis ในกรีก มีลูกศิษย์ลูกหาทั้งชาวกรีกและชาวโรมันตามไปเรียนกับเขาอย่างต่อเนื่อง 
    หนังสือเขาแพร่หลายมาก มีอิทธิพลต่อปรัชญาเทววิทยาคริสเตียนรุ่นแรกๆ  มารคัส ออเรลิอุส (ค.ศ. 121-180) จักรพรรดินักปราชญ์โรมันผู้มีชื่อเสียง (เขียนเรื่อง Meditaitions - ความคิดคำนึง) อ่านและอ้างอิงอีปิคตีตัส พระเจ้าเฟเดอริคมหาราช (1712-1786) ติดหนังสือเขาไปทุกแห่ง 
    หนังสือของอีปิคตีตัสมีอิทธิพลต่อนักคิดนักเขียนในยุโรป ตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ ยุคทำให้โลกสว่างด้วยเหตุผล ยุคปฏิวัติประชาธิปไตยในอเมริกาและฝรั่งเศส เช่น มองเตญ (ค.ศ. 1533-1592) เรอเน่ เดสคาร์ต (ค.ศ. 1596-1650) สปิโนซ่า (ค.ศ. 1632-1677) ราล์ฟ วอลโด อีเมอร์สัน มาจนถึงยุคปัจจุบัน รวมถึงนักคิดนักเขียนในสหรัฐ ญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ด้วย

หนังสือคู่มือของอีปิคตีตัสเล่มนี้ มุ่งสอนลูกศิษย์ที่อยากเรียนรู้หลักการและแนวทางฝึกฝนตนเองเพื่อพัฒนาเป็นนักปรัชญาสโตอิก ซึ่งมีเป้าหมายในการเรียนรู้ธรรมชาติของชีวิตสังคมและจักรวาล เพื่อประพฤติปฏิบัติตนให้ไปสู่ชีวิตที่ดีงาม ที่พวกเขาหมายรวมถึงความสงบสุข เสรีภาพ การรู้จักควบคุมจิตใจ ความประพฤติ และวิถีชีวิตของตนเอง และการเป็นพลเมืองที่ดีมีคุณธรรมในสังคม 
    หนังสือเล่มนี้อาจเปรียบเทียบได้กับกับหนังสือธรรมบท คติพจน์ของพระพุทธเจ้า ที่สรุปสาระสำคัญของเรื่องแนวคิดหลักปฏิบัติ ที่มุ่งแสวงหาสัจธรรม การหลีกเลี่ยงความทุกข์ การแสวงหาความสงบสุข

นักปรัชญาสโตอิกเน้นการฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้รู้และผู้ปฏิบัติธรรม เพื่อไปสู่ความจริงขั้นสูง คล้ายๆ กับศาสนาพุทธที่มุ่งฝึกสงฆ์ให้เป็นอรหันต์ ผู้หลุดพ้นจากโลภ โกรธ หลง เพียงแต่นักปรัชญาสโตอิกสอนสำหรับคนทั่วไป ที่ต้องใช้ชีวิตทางโลกอยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่นๆ ด้วย และใช้เหตุผล ตรรกวิทยา คำอธิบาย  คำแนะนำแบบปรัชญากรีกยุคคลาสสิคที่เน้นเรื่องคุณธรรม มาตั้งแต่สมัยโสกราตีส
    เป้าหมายการเป็นนักปรัชญาสโตอิกระดับนักปราชญ์ ที่อีปิคตีตัสสอนค่อนข้างเป็นอุดมคติมาก แต่เนื้อหาเทคนิคในการฝึกฝนตนเองมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและสำหรับคนทั่วไปที่แม้จะศึกษาได้เพียงบางส่วนหรือครึ่งค่อนทางก็ตาม อีปิคตีตัสกล่าวไว้อย่างสวยงามว่า “แม้ว่าพวกเธอยังไม่สามารถจะเป็นโสกราตีสได้ แต่อย่างน้อยเราก็ควรพยายามเรียนรู้ฝึกฝนที่จะเป็นคนแบบเขา”
    ผู้แปลใช้วิธีอ่านจากฉบับภาษาอังกฤษหลายฉบับเปรียบเทียบกัน รวมทั้งได้อ่านงานอื่นๆ ของอีปิคตีตัส และนักปรัชญาสโตอิกคนอื่นๆ เพื่อทำความเข้าใจความคิด/คำอธิบายของเขาให้ชัดเจนเพิ่มขึ้น ในหนังสือเล่มนี้ผู้แปลยังได้เรียบเรียงบทความเรื่องปรัชญาสโตอิกและประวัติของอีปิคตีตัสไว้ด้วย เพื่อเป็นความรู้พื้นฐานก่อนที่ผู้อ่านจะไปอ่านคำสนทนาของอีปิคตีตัส หนังสือเล่มนี้กำลังจัดพิมพ์โดย สนพ.มูลนิธิเพื่อนหนังสือ น่าจะเสร็จก่อนปีใหม่
    “คู่มือการใช้ชีวิต” เป็นหนังสือเล่มบางๆ ที่มีข้อคิดเรื่องปรัชญาชีวิตที่สละสลวย คมคาย โดดเด่น ทรงพลัง แม้จะเป็นภูมิปัญญาของนักปรัชญายุคโบราณเมื่อกว่าสองพันปีที่แล้ว แต่ยังคงมีเนื้อหาที่ร่วมสมัยกับโลกยุคใหม่ที่ชีวิตของพวกเรายังคงมีปัญหาความผันผวนไม่แน่นอนอยู่ทั่วไปมากอย่างน่าทึ่ง


“งานสำคัญในชีวิตของคนเราคือเรื่องพื้นฐานแค่นี้ รู้จักชี้และแยกแยะเรื่องต่างๆ เพื่อที่ฉันจะได้กล่าวกับตัวเองอย่างชัดเจนว่า เรื่องไหนเป็นเรื่องปัจจัยภายนอกที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของฉัน และฉันจะรู้ว่าเรื่องไหนดีและเรื่องไหนเลวได้อย่างไร?

ถ้าเป็นเรื่องจากปัจจัยภายนอกที่ฉันควบคุมไม่ได้ มันไม่เกี่ยวว่านั่นเป็นเรื่องที่ดีหรือเลว แต่ถ้าเป็นเรื่องภายในที่ฉันเลือกที่จะควบคุมได้ นั่นคือเรื่องที่ฉันจะตระหนักรู้ว่าดีหรือเลวได้” - อีปิคตีตัส