อย่ามัวแต่ให้เชื่อผู้นำ | บวร ปภัสราทร

อย่ามัวแต่ให้เชื่อผู้นำ | บวร ปภัสราทร

ในสังคมที่ยอมรับในความแตกต่างของอำนาจ เป็นธรรมดาที่ความคิดความเห็นของผู้ใหญ่จะมาก่อนผู้น้อยเสมอ จนบ่อยครั้งที่กลายเป็นธรรมเนียมว่าเชื่อผู้นำแล้วจะพ้นภัย

ธรรมเนียมที่ว่าเชื่อผู้นำแล้วจะพ้นภัย หรือเดินตามผู้ใหญ่แล้วหมาไม่กัด แต่ทั้งภัยทั้งหมาในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมากมายเช่นในทุกวันนี้ ดูเหมือนจะไม่ค่อยเกรงใจผู้นำเท่าใดนัก

ทำตามที่ผู้นำบอกกลับเจอสารพัดภัย เดินตามผู้ใหญ่ก็ยังถูกหมากัดจนได้ การเชื่อผู้นำแล้วเดินตามไปโดยไม่คิดให้รอบคอบ อาจกลายเป็นผลร้ายมากกว่าที่จะเป็นผลดีเหมือนเช่นแต่ก่อนมา

สมัยก่อนการเชื่อผู้นำมักได้ผลดี เพราะแต่ก่อนเราไม่มีระบบรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ การตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ จึงต้องอาศัยประสบการณ์ที่สะสมกันมา ซึ่งผู้นำมักเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นมากกว่าคนอื่น เพราะทำงานมานานกว่าคนอื่น หรือได้เคยทำงานในหน้าที่ที่ได้รับประสบการณ์มากกว่าคนอื่น ๆ จะกลายเป็นผู้นำได้ก็ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อยกว่าคนอื่น ๆ การงานแต่ก่อนก็ไม่ได้ซับซ้อนเท่ากับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  

ในเชิงสถิติผู้นำจึงมักเป็นคนที่มีข้อมูลในเรื่องนั้นมากกว่าคนอื่น วิเคราะห์ข้อมูลเรื่องนั้นเก่งกว่าคนอื่น การเชื่อผู้นำจึงมักนำไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งความสำเร็จนั้นที่จริงก็เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์ที่ผู้นำได้สะสมมามากกว่าคนอื่น 

แต่ในวันที่เรามีข้อมูลมากมายหลากหลายเช่นในปัจจุบัน ข้อมูลจากประสบการณ์เป็นเพียงส่วนเดียวของข้อมูลที่ต้องใช้ในการตัดสินใจอย่างถูกต้อง

ดังนั้น ถ้ายกทุกอย่างไปไว้กับผู้นำ ก็อาจทำให้เป็นการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลเพียงบางส่วน ซึ่งในโลกที่สลับซับซ้อนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้  การกระทำเช่นนั้นมีโอกาสเกิดความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ 

ยืนยันได้จากงานวิจัยของคณะบริหารธุรกิจแห่งหนึ่งในยุโรป ที่พบว่าโครงการตามความคิดของผู้นำระดับสูง มีอัตราการล้มเหลวสูงกว่าโครงการที่ริเริ่มโดยผู้นำระดับกลาง เหตุผลง่าย ๆคือผู้นำระดับกลางเตรียมการได้ครบถ้วนทุกมิติมากกว่า เพื่อรับมือกับคำวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งระดับเดียวกัน และระดับสูงกว่า เกรงว่าจะมีคนเถียงเลยเตรียมการได้ครบด้านมากกว่า

ในขณะที่ผู้นำระดับสูงไม่กังวลเรื่องคำวิจารณ์ ด้วยมั่นใจว่าอย่างไรตนเองก็ชนะคำวิจารณ์นั้นได้อยู่ดี  การเตรียมการในบางมิติจึงขาดหายไป 

ผู้บริหารสูงสุดในยุคเฟื่องฟูของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ท้าทายความเชื่อของตนเอง โดยจะตัดสินใจว่าเรื่องที่ตนเองเสนอขึ้นมานั้น จะนำไปใช้ได้ต่อเมื่อเรื่องนั้นมีคำวิจารณ์ที่มีเหตุผล มีข้อมูลสนับสนุนเพียงพอว่าทำไมจึงอาจมีโอกาสที่เรื่องนั้นจะล้มเหลวลงได้ ตราบเท่าที่ยังไม่มีใครท้าทายว่าโอกาสที่จะพลาดอยู่ตรงไหนบ้าง ผู้นำต้องไม่นำความเชื่อในเรื่องนั้นไปให้ใครทำ ซึ่งหนทางนี้จะช่วยป้องกันการพังเพราะกองเชียร์ที่คอยแต่เชียร์ว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ เชียร์กันจนหลงกันไปด้วยกันว่าเชื่อผู้นำแล้วองค์กรจะพ้นภัย 

ในเกณฑ์แนวทางการบริหารสู่ความเป็นเลิศของ Baldrige ก็หาทางป้องกันการที่ทุกคนจะเฮกันไปตามความคิดผู้นำระดับสูงในแทบทุกเรื่อง วารสารของมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการบริหารธุรกิจพบว่า แม้จะมีการใช้ข้อมูลจริงในการตัดสินใจทางธุรกิจกันอย่างกว้างขวาง จนดูเหมือนกลายเป็นแบบธรรมเนียมในการตัดสินใจไปแล้ว แต่ก็ยังมีการตัดสินใจตามความเห็นของผู้นำระดับสูงมากกว่าการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลจริงมาสนับสนุน  

ดังนั้นจึงได้แนะนำไว้ว่าจำเป็นต้องมีการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ทำให้เกิดการสื่อสารที่เปิดกว้าง และเกิดการทำงานที่ให้ผลการดำเนินงานที่ดี แม้ว่าทุกเรื่องที่ผู้นำเสนอมานั้นย่อมได้รับความสำคัญมากกว่าเรื่องอื่น ๆ แต่การสื่อสารที่เปิดกว้างทำให้พนักงานไม่รู้สึกอึดอัดที่จะช่วยดูโอกาสในการปรับปรุงเรื่องที่ผู้นำระดับสูงเสนอให้ทำ รู้สึกว่าการช่วยกันคิดดีกว่าปิดปากเงียบ หรือไม่ก็ส่งเสียงเชียร์กับทุกเรื่องที่ผู้นำเสนอออกมา และที่สำคัญยิ่งคือเชื่อว่าช่วยกันคิดช่วยกันดูจะทำให้งานที่ผู้นำบอกมานั้นมีโอกาสสำเร็จได้มากขึ้น 

จะการทำงานด้วยกันโดยมีการสื่อสารจากใจกันได้จริงๆ ต้องยึดหลักการไว้ทั้งสองด้าน คือ การให้คำวิจารณ์และการได้รับคำวิจารณ์ ทุกคนต้องยอมรับก่อนว่าถ้าทำงานแล้วมีคำวิจารณ์เกิดขึ้นได้เสมอ และวิจารณ์งานเป็นหลัก ไม่ใช่วิจารณ์คนเป็นสำคัญ.