นโยบาย Cloud First จุดเริ่มต้น พัฒนาระบบไอทียุคปัจจุบัน

นโยบาย Cloud First จุดเริ่มต้น พัฒนาระบบไอทียุคปัจจุบัน

สัปดาห์ที่ผ่านมามีงานประจำปีของบริษัท Amazon web Services (AWS) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะรายใหญ่ที่สุดของโลก จัดที่เมืองลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา มีการถ่ายทอดแบบออนไลน์คู่ขนาน ทำให้ผมมีโอกาสลงทะเบียนเข้าฟังมีหัวข้อต่างๆ จำนวนมากตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา

เหตุผลหนึ่งที่ผู้คนติดตามงานประจำปีของบริษัทที่ให้บริการคลาวด์สาธารณะรายใหญ่ เพราะต้องการรู้แนวโน้มเทคโนโลยีและบริการใหม่ๆ ที่มักจะประกาศออกมา เพราะวันนี้บริษัทคลาวด์สาธารณะรายใหญ่ กลายเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีทางด้านไอที ช่วยทำให้องค์กรต่างๆ พัฒนาระบบไอทีได้เร็วขึ้น 

ผมจำได้ว่าตัวเองเริ่มใช้บริการคลาวด์สาธารณะมานานกว่า 15 ปี ขณะนั้น บริการคลาวด์ยังใหม่มาก มีบริการไม่หลากหลาย โดยมากใช้ระบบเซิร์ฟเวอร์บนคลาวด์ และใช้แพลตฟอร์มบนคลาวด์พัฒนาโปรแกรมต่างๆ

ขณะนั้นคนไอทีจำนวนหนึ่งมองว่า การใช้บริการคลาวด์สาธารณะ อาจไม่ปลอดภัยเพราะต้องนำข้อมูลขึ้นคลาวด์ และระบบไอทีที่อยู่นอกองค์กร ไม่สามารถควบคุมได้ดีพอ ส่วนใหญ่เข้าใจไปว่าจุดประสงค์หลักการใช้คลาวด์สาธารณะ คือ ประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้ใช้ในบ้านเรามีไม่มากนัก รวมทั้งคนวงการไอทีส่วนใหญ่มีความมั่นใจกับการใช้ระบบไอทีภายในองค์กร หรือที่เรียกว่า On-premise
 

แต่เมื่อระบบไอทีพัฒนาไปเร็ว โดยเฉพาะช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่องค์กรจำเป็นต้องเร่งพัฒนาให้แข่งขันได้ เช่น บิ๊กดาต้า เอไอ บล็อกเชน ไอโอที หรือล่าสุดเรื่อง Metaverse ที่อาจผสมผสานหลายเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน รวมถึง AR/VR ทำให้เริ่มพบว่า การที่จะพัฒนาระบบไอทีต่างๆ ในองค์กรยากขึ้น และมีความล่าช้า ตลอดจนไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี 

นอกจากนี้ หากเริ่มต้นทำระบบทุกอย่างภายในองค์กร จะมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูง และหากจำเป็นต้องให้รองรับกับการมีผู้ใช้จำนวนมากขึ้น ระบบไอทีภายในองค์กรอาจไม่สามารถรองรับได้

ผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะโดยเฉพาะค่ายใหญ่ๆ อย่าง AWS, Microsoft Azure หรือ Google Cloud Platform เข้าใจอุปสรรคจึงเร่งพัฒนาบริการคลาวด์ใหม่ๆ ให้มีมากขึ้น จากเดิมเน้นในเรื่องการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป เช่น เซิฟเวอร์ สตอเรจ หรือที่เราเรียกว่า IaaS (Infrastructure as a Service) ก็เปลี่ยนเป็นเน้นบริการแพลตฟอร์ม PaaS (Platform as a Service) ที่จะทำให้ผู้ใช้บริการสามารถพัฒนาระบบไอที และสร้างนวัตกรรมดิจิทัลต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้น
 

ภายในงานประจำปี AWS ล่าสุด มีการประกาศตัว SageMaker Canvas ซึ่งเป็นบริการที่ให้ผู้ใช้สามารถพัฒนาระบบเอไออัตโนมัติโดยไม่ต้องเขียนโปรแกรมใดๆ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะบริษัทคลาวด์อื่นๆ ทั้ง Microsoft และ Google ต่างก็มีบริการเช่นนี้ แต่สิ่งที่บริษัทเหล่านี้แข่งขันกันคือ การให้บริการที่ครบวงจร ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้ระบบคลาวด์พัฒนาระบบไอทีทุกอย่างตั้งแต่เรื่องการทำระบบเว็บ บิ๊กดาต้า เอไอ และบล็อกเชน ได้ด้วยความรวดเร็วและมีค่าใช่จ่ายตามการใช้งาน

มาถึงวันนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้บริการคลาวด์สาธารณะไม่ใช่เรื่องประหยัดค่าใช้จ่าย แต่เป็นเรื่องของการสร้างนวัตกรรมต่างๆ ให้เร็วขึ้น ทำให้องค์กรสามารถขับเคลื่อน Digital Transformation ได้ดีและง่ายขึ้น เราจึงมักพบว่า บริษัทขนาดใหญ่ในต่างประเทศหลายๆ บริษัทหรือแม้แต่องค์กรภาครัฐ ก็หันมาพัฒนาระบบไอทีบนคลาวด์สาธารณะ แม้แต่องค์กรที่ต้องการระบบความปลอดภัยสูง ทั้งเพราะเชื่อมั่นว่าจะทำให้บริษัทสามารถพัฒนาระบบไอทีใหม่ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้ อีกทั้งยังมีความปลอดภัยที่ดี

เราจึงพบว่าในปัจจุบันบริษัทใหญ่จำนวนมากต่างก็หันมาใช้ระบบคลาวด์ในการทำระบบไอทีมากขึ้น บางบริษัทถึงกับยกเลิกระบบไอทีภายในองค์กรแล้วหันมาใช้ระบบคลาวด์สาธารณะทั้งหมด ทั้งนี้จุดเด่นอีกประการหนึ่งคือ บริการคลาวด์เหล่านี้สามารถรองรับผู้ใช้จำนวนมากได้และมีโครงสร้างพื้นฐานเอยู่ทั่วโลกทำให้บริษัทเหล่านั้นสามารถให้บริการกับลูกค้าหรือผู้ใช้บริการทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว

วันนี้รูปแบบการขายและการให้บริการของบริษัทไอทีต่างๆ ได้เปลี่ยนไปแล้ว เราคงปฎิเสธไม่ได้ว่ารูปแบบการใช้บริการด้านซอฟต์แวร์ส่วนตัวของเราก็เปลี่ยนไป จากการซื้อลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์กลายเป็นการเช่าใช้บริการจ่ายรายเดือน รายปี ตามใช้งานในแบบของ SaaS (Software as a Service) ดังเช่นบริการโปรแกรม Microsoft Office 365, Google Business Suite หรือแม้แต่โปรแกรม Zoom

เมื่อเทคโนโลยีไอทีเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ผู้พัฒนาและผู้ให้บริการปรับตัวไปแล้ว ผู้จำหน่ายไอทีรายใหญ่ๆ ก็เน้นขายบริการแบบคลาวด์มากขึ้น เราในฐานะผู้ใช้ไอทีจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวตาม การลงทุนไอทีภายในแทนที่จะซื้อเซิร์ฟเวอร์และซอฟต์แวร์ราคาสูงๆ ก็ได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่ควรหันมาใช้บริการคลาวด์ต่างๆ เร่งพัฒนาระบบและสร้างนวัตกรรมบนคลาวด์ เร่งพัฒนาคนในองค์กรให้มีทักษะในการใช้ ออกแบบ และพัฒนาระบบบนคลาวด์มากขึ้น โดยเฉพาะเรียนรู้การใช้บริการคลาวด์สาธารณะของบริษัทต่างๆ

สิ่งที่สำคัญสุดคือ ผู้บริหารต้องเปิดใจกว้าง และเปลี่ยนความคิดแบบเดิมที่ว่า บริการคลาวด์สาธารณะจะไม่ปลอดภัย หรือคิดว่าระบบไอทีทุกอย่างต้องอยู่ในองค์กรของตัวเอง และควรต้องตั้งนโยบายเป็น Cloud First กล่าวคือ ระบบไอทีต้องทำบนระบบคลาวด์ก่อน หากทำไม่ได้ด้วยเหตุผลจำเป็นใดๆ ก็ตาม จึงค่อยหันไปใช้ระบบไอทีภายใน มิฉะนั้นแล้วองค์กรจะไม่สามารถแข่งขันได้ในยุคที่โลกดิจิทัลกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว