BCG Matrix กับผู้นำทางธุรกิจแบบยั่งยืน

BCG Matrix กับผู้นำทางธุรกิจแบบยั่งยืน

งานแรกในชีวิต (ที่ไม่ใช่นักวิจัย) ของผม คือ บริษัท BCG หรือ Boston Consulting Group ตอนได้รับออฟเฟอร์บอกตรงๆ ว่าประหลาดใจมาก เพราะด้วยความที่ผมเป็นเด็ก ‘นอกสาย’ นั่นคือไม่ได้จบทางบริหารธุรกิจโดยตรง

สิ่งสำคัญจะต้องมีประกาศนียบัตรคอร์สสั้นๆ บ้างเพราะชอบเรียนโน่นเรียนนี่ แต่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมาทำงานอื่น ซึ่งไม่ใช่ด้านวิทยาศาสตร์ที่จบมา

“We love you and we want to make you an offer” เสียงพาร์ทเนอร์ที่สัมภาษณ์ผมดังผ่านโทรศัพท์ออกมา

 

 “พี่ธัญทำได้” จี๊ป น้องสาวผมบอก (หลังจากกรี๊ดเสียรถแทบตกถนนตอนผมบอกว่าได้งาน) ยัยนี่แหละเป็นตัวตั้งตัวตีส่งประวัติผมไปสมัครให้

เผื่อใครไม่คุ้นกับบริษัทนี้ หรือแค่คุ้นแต่ไม่เคยรู้จัก BCG ถือกันว่าเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการธุรกิจระดับต้นๆของโลก ซึ่งชื่ออื่นๆก็จะมี McKinsey & Company, Bain, Deloitte, etc. ก่อตั้งโดยคุณ Bruce Henderson ในปี 1963 มีออฟฟิศเป็นร้อยแห่งทั่วโลก

การได้ทำงานที่นี่ทำให้ผมพบว่าตนเองชอบงานด้านความคิด ความสัมพันธ์เชื่อมโยง และคำอธิบายอย่างมีเหตุผล เช่น หลายคนมักนึกถึง BCG Growth Share Matrix ใช้ในการวิเคราะห์สถานะและทิศทางของธุรกิจ ประกอบด้วย Cash Cow, Star, Question Mark, และ Dog เป็นการเรียบเรียงองค์ประกอบหลักอย่างฉลาดเพื่อให้เข้าใจง่าย

Cash Cow หมายถึงธุรกิจส่วนที่ Low Growth High Share คือเราเป็นผู้เล่นรายใหญ่ แต่ในตลาดที่กำลังใกล้จะวาย เช่น Fossil Fuels ในยุคแห่ง Bio Energy ทางกลยุทธ์เปรียบกับวัวซึ่งเรารีดน้ำนมออกมาเลี้ยงส่วนอื่นๆ แต่ไม่คาดหวังว่าจะกลับไปรุ่งเรืองเหมือนครั้งก่อน

Star หมายถึงธุรกิจที่ High Growth และ High Share เป็นเซเลบซึ่งกำลังดังในยุคปัจจุบัน ทั้งเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าผู้อื่น และอยู่ในตลาดที่กำลังก้าวกระโดดเช่นเดียวกับ เช่น Nvidia หุ้นพุ่งหลายร้อยเท่าเพราะการเติบโตของตลาดเกมส์ออนไลน์ ในอนาคต Star สามารถกลายเป็น Cash Cow ได้

Question Mark หมายถึงธุรกิจส่วนที่ High Growth แต่ Low Share อาจเป็นเพราะเราเป็นผู้เล่นใหม่ยังไม่มีที่ยืนนัก กำลังก่อร่างสร้างตัว หรือเพราะยังตีโจทย์ไม่แตกว่าจุดแข็งของเราคืออะไร โดยมากธุรกิจส่วนนี้ต้องอาศัย Cash จาก Cow เพื่อสนับสนุนตัวเองให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาด (เหมือนกับ Start-ups อาศัยเม็ดเงินจากนักลงทุน)

Dog หมายถึงผู้เล่นรายเล็กในธุรกิจที่เป็นขาลงแล้ว Low Growth Low Share ตลาดก็วาย ตัวเองก็เป็นรายย่อยซึ่งตายก่อน เหมือนร้านนวดหรือโรงแรมช่วงโควิด ร้านเล็กโดนปุ๊บตายปั๊บ แต่เชนใหญ่ๆ ยังพอประคองตัวไปได้ ซึ่งด้วยโรคระบาดก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะกลับมาได้อีกไหมต้องรอดูกัน โดยทั่วไปธุรกิจในส่วนนี้มักถูกขายออกไป หรือลดสัดส่วนลงให้เล็กที่สุด

หัวใจของ BCG Growth Share Matrix สำหรับผมคือการมองให้กว้างและมองให้ออกว่าธุรกิจของเรามีสี่ส่วนนี้อย่างไรบ้าง อยู่ในสัดส่วนใด และมันถ้อยทีถ้อยอาศัยกันอยู่อย่างเป็นวัฎจักรที่มีประสิทธิภาพหรือเปล่า

“We don’t have any support. There is so much work but no money. Everything is cost-cutting. How are we supposed to do our job?” ผู้บริหารในห้องหลายคนบ่นกับผมอย่างไม่พอใจ พวกเขาต่างดูแลธุรกิจในส่วนต่างๆ ขององค์กรไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนได้รับผลกระทบจากโควิดเหมือนกัน

“You have to understand. This was not intended” ผมบอกพวกเขาว่า เราต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา องค์กรไม่ได้ตั้งใจให้มันเป็นแบบนี้ “Business A was considered a Cash Cow. It was supposed to fund Business B, and to make it a Star.” ก่อนโควิด ธุรกิจ A รุ่งเรืองมาก บริษัทจึงใช้กลยุทธ์เอาน้ำนมจากแม่วัวไปเลี้ยง ธุรกิจ B ซึ่งเป็นเครื่องหมายคำถามที่อาจเติบโตขึ้นไปเป็น Star ได้

พอโควิดเข้าทุกอย่างเปลี่ยนชั่วพริบตา จาก Cow กลายเป็น Dog ชั่วข้ามคืน จาก Star กลายเป็น Question Mark คราวนี้ก็สะดุดไปหมด ทุกอย่างต้องการ Cash ในเวลาที่เงินขาดมือ จึงเป็นที่มาของมาตรการกระเบียดกระเสียรต่างๆ

“As a leader, you need to look at your business not as a standalone, but as a part of the Growth Share Matrix” ผมวาดรูปในจอ ธุรกิจที่คุณดูแลตอนนี้อยู่ตรงไหน อย่าคิดแค่ว่าส่วนของเราต้องชนะส่วนอื่นๆ ให้ดูว่าเงินซึ่งไม่ค่อยจะมีนั้นบริษัทควรมุ่งไปจุดใด หากคุณเป็นวัว ก็ต้องทำตัวอย่างวัว หากคุณเป็นดาว ก็ตั้งใจทำงานอย่าให้ดาวตก ถ้าแต่ละแผนกตีกันเอง ทุกคนก็ลำบาก

จะผ่านไปกี่ปี ความรู้ที่ผมได้จาก BCG ก็ยังนำมาใช้อย่างมีประโยชน์เสมอครับ