บูรพาภิวัตน์ในโลกสองขั้ว | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

บูรพาภิวัตน์ในโลกสองขั้ว | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ในศตวรรษข้างหน้าจะเป็นศตวรรษของโลกตะวันออกนำโดยจีน คาดกันว่าก่อนปี 2566 GDP ของจีนวัดจากมูลค่าที่เป็นดอลลาร์สหรัฐจะใหญ่กว่าของสหรัฐอเมริกา

หลังจากการปฏิรูปทางเศรษฐกิจในปี 2521 จีนใช้เวลาเพียงสามทศวรรษจากประเทศด้อยพัฒนาที่ประชาชนส่วนใหญ่ยากจนข้นแค้นมากก้าวขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำของโลกด้านเศรษฐกิจ โดยมีขนาดเศรษฐกิจเป็นที่ 2 ของโลกในปี 2560 
    และในปี 2573 PwC คาดการณ์ว่าประเทศที่เข้าสู่ระบบตลาดรุ่นใหม่ (Emerging Market Economies: E7) อันได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย บราซิล เม็กซิโก รัสเซีย และตุรกีจะมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันใหญ่กว่ากลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจดั้งเดิมหรือกลุ่มประเทศ G7 ที่ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี และญี่ปุ่น (PwC 2017) 

ปัจจุบันโลกมีประชากรที่เป็นชนชั้นกลาง 4,000 ล้านคน และคาดว่าจะมีประชากรชนชั้นกลางที่จะขึ้นมาใหม่อีกพันล้านคนในโลกโดยในจำนวนนี้ 9 ใน 10 คนจะเป็นคนเอเชีย  
    จีนก้าวไกลเป็นหนึ่ง เมื่อ 23 ปีที่แล้วในปี 2521 เมื่อจีนเริ่มเข้าสู่ระบบตลาด ขนาดเศรษฐกิจจีนมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.7 ของเศรษฐกิจโลก ปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจจีนมีสัดส่วนถึงร้อยละ 17 ของเศรษฐกิจโลก (http://www.dw.com/zh)
     เนื่องจากจีนได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 น้อยกว่าประเทศใหญ่ๆ อื่นๆ ขนาด GDP ของจีนปรับด้วยอำนาจการซื้อ (PPP) แซงหน้าสหรัฐฯ ไปแล้วตั้งแต่ปี 2556 และคาดกันว่าก่อนปี 2566 GDP ของจีนวัดจากมูลค่าที่เป็นดอลลาร์สหรัฐจะใหญ่กว่าของสหรัฐอเมริกาแล้ว จีนจึงมีโอกาสที่จะก้าวเป็นประเทศพัฒนาแล้วใน 3 ปีถัดจากนี้ (http://www.investopedia.com/updates/top-developing countries)
    อินเดียมาแรง อีกประเทศหนึ่งในเอเซียที่จะมีความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจก็คืออินเดีย ซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาเป็นทศวรรษแล้วและมีชนชั้นกลางที่พูดภาษาอังกฤษได้ถึง 300 ล้านคน การพยากรณ์ของ PwC ระบุว่าอินเดียจะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 7 ของ GDP โลกวัดจากอำนาจการซื้อ (PPP) และจะขึ้นเป็นลำดับที่ 3 ของโลกภายในปี 2593 

เอเชียและจีนในฐานะผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปกว่า 200 ปีที่แล้ว อาณาจักรในเอเซียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่า 3 ใน 4 ของโลก

วิกฤตการณ์โควิด 19 ซึ่งจีนบอบช้ำน้อยที่สุดในบรรดาประเทศมหาอำนาจก็ยิ่งทำให้การคาดการณ์ในปี 2573 นี้มีความเป็นจริงมากขึ้น แต่การระบาดของโควิด 19 ที่รุนแรงในอินเดียอาจทำให้การเติบโตของอินเดียชะลอลงไปบ้าง

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ฉบับที่ 14 ของจีนมียุทธศาสตร์การส่งเสริมเศรษฐกิจแบบสองหมุนเวียน (Dual Circular Economy) คือการสร้างสมดุลระหว่างการขับเคลื่อนการเติบโตภายใน ในขณะเดียวกันก็สร้างแรงขับเคลื่อนภายนอกโดยมุ่งเน้นการสร้างพันธมิตรทางการค้า 
    หนึ่งในยุทธศาสตร์การสร้างพันธมิตรทางการค้าต่างๆ ได้แก่ “แผนเส้นทางขนส่งทางบกและทางทะเลภาคตะวันตกแบบบูรณาการ” โดยสร้างเส้นทางรถไฟเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเป็นการบูรณาการเส้นทางการขนส่งเชื่อมต่อ 96 ประเทศ/พื้นที่ ครอบคลุม 264 เมืองท่า ที่ได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.  2562 เป็นหนึ่งในแผนการเชื่อมโยง “หนึ่งแถบ (ระเบียง)” และ “หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) ทั้งทางบกทางทะเลเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนาภูมิภาคตะวันตกของจีนและให้จีนเป็นศูนย์กลางความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียน เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง เอเชียกลาง และยุโรป 

บูรพาภิวัตน์ในโลกสองขั้ว | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
    นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังส่งเสริมให้เกิด Cross Border E-commerce (CBEC) เป็นแนวทางสำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าตามเส้นทาง BRI โดยผู้ค้ารายย่อยสามารถซื้อขายออนไลน์ได้ ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสสำคัญสำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) เชียงของในจังหวัดเชียงรายของไทยด้วย (ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ, 2564)
    โครงการ BRI จึงเป็นโอกาสสำหรับสินค้าจากไทย โดยเฉพาะสินค้าจากภาคเหนือตอนบนและอาเซียนในการนำเข้าสินค้าผ่านทางตอนใต้ของจีนไปต่อกับทางรถไฟที่วิ่งผ่านเมืองต่างๆ จำนวนมากของจีนและในยุโรป ซึ่งเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรปนี้จะช่วยลดระยะเวลาการขนส่งสินค้าจากประเทศอาเซียนไปยังยุโรปด้วย 

บูรพาภิวัตน์ในโลกสองขั้ว | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
    จีนยังได้ตั้งกองทุนเส้นทางสายไหมในปี 2557 จำนวนสี่หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสนับสนุนด้านการเงินให้กับประเทศในเส้นทางสายไหมใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนา พื้นที่และอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องและยังได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเซีย 
(The Asian infrastructure investment bank) (นิยม รัฐอมฤต, 2564)
    ในระดับทวิภาคี จีนเป็นคู่ค้าและนักลงทุนและผู้ส่งออกนักท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุดของไทย ดังนั้นในเชิงเศรษฐกิจจีนจึงเป็นประเทศที่มีความสำคัญมากสำหรับไทย สำหรับจีนเองไทยก็เป็นคู่ค้าในอาเซียนที่จีนไม่มีข้อขัดแย้งด้วยในทะเลจีนใต้ จึงนับเป็นพันธมิตรสำคัญในอาเซียน 
    ข้อน่ากังวลก็คือ จีนสามารถควบคุมการนำเข้าและส่งออก และการเดินทางท่องเที่ยวของคนจีนได้เต็มที่ จีนอาจใช้อำนาจเศรษฐกิจที่เหนือกว่านี้ต่อรองในด้านต่างๆ กับประเทศเล็กๆ ดังนั้น การรักษาสัมพันธไมตรีที่ดีและการเจรจาที่ชาญฉลาดจะเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของไทย 

    จีนใหม่ไม่เหมือนเดิม สิ่งที่คนไทยควรตระหนักก็คือ จีนยุคใหม่มีจุดยืนและมุมมองเชิงอุดมการณ์เปลี่ยนไปแล้ว ดร. อาร์ม ตั้งนิรันดร ได้เน้นในบทความจีน-ไทยในโลกจีนภิวัฒน์ ภายใต้โครงการอนาคตประเทศไทยว่า จีนยุคใหม่ไม่ต้องการขายอุดมการณ์การเมืองหรือการปกครอง แต่เปลี่ยนเป็นพ่อค้าไปแล้ว จีนยุคใหม่เปลี่ยนจากการยึดมั่นในลัทธินิยมเป็นชาตินิยมและจีนยังเปลี่ยนจากการทูตเชิงรับมาเป็นเชิงรุกเห็นได้ชัดเจนจากเส้นทางสายไหมใหม่
    แม้คนไทยกับคนจีนจะเป็นพี่น้องกันมาหลายศตวรรษแล้วก็จริง แต่การเจรจาธุรกิจและทางการทูตกับจีนควรเข้าใจจุดยืนใหม่ของจีนและคำนวณกลยุทธ์เชิงรับและเชิงรุกอย่างถ้วนถี่และเยือกเย็น.