คิดแบบเถ้าแก่ บริหารแบบมืออาชีพ Think as Owner, Execute as Professional !

คิดแบบเถ้าแก่ บริหารแบบมืออาชีพ  Think as Owner, Execute as Professional !

คนทุกคนเกิดมาเป็นเถ้าแก่ได้หรือเปล่าครับ? เด็กสมัยนี้อยากเป็นเถ้าแก่ ไม่ค่อยมีใครอยากเป็นลูกจ้าง ส่วนใหญ่จบการศึกษาแล้วไม่สนใจสมัครทำงานกับองค์กร แต่อยากเปิดกิจการของตนเอง แม้ว่าบางคนจะไม่ได้จบการศึกษามาทางการบริหารธุรกิจ ก็ยังอยากเป็นเจ้าของกิจการของตนเอง

ไม่ใช่ทุกคนที่เหมาะจะเป็นเถ้าแก่ เจ้าของธุรกิจ และไม่ใช่ทุกคนที่เหมาะจะเป็นมืออาชีพ นัยสำคัญอยู่ที่ว่า เราควรจะเป็นคนบอกตัวเราเองว่าเราเหมาะกับอะไร ไม่ใช่ให้ใครมาบอกว่าเราทำไม่ได้ หรือเหมาะกับอะไร

คิดแบบเถ้าแก่ เป็นอย่างไร

การเป็นเถ้าแก่นั้นเป็นเรื่องยากไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นได้ แต่มิได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้ แนวคิดของคนเป็นเถ้าแก่ หลักๆ มีไม่กี่ข้อ 

อย่างแรกที่จำเป็นคือ “ความเชื่อมั่นในตัวเอง” ที่จะเป็นพลังผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้า ยิ่งถ้าเป็นผู้นำทีมหรือองค์กรยิ่งจำเป็นต้องมี เพราะจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ มีจุดยืน มีความเชื่อที่ชัดเจน ซึ่งเป็นเสาหลักที่แสดงให้เห็นทิศทางการทำงานในภาพรวม ต้องเป็นคนไม่ยอมแพ้และทำงานตลอดเวลา “ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ มันก็ไม่มีอะไรที่เราทำได้” นี่คือ แนวคิดความมุ่งมั่นของเถ้าแก่ตัวจริง และต้องสามารถส่งความเชื่อมั่นส่งต่อไปถึงลูกทีมอย่างไร้รอยต่อ 

อีกประการที่สำคัญ เถ้าแก่ ต้อง “คิดใหญ่ ไม่คิดเล็ก” เพื่อท้าทายความสามารถว่า จะนำพาองค์กรไปสู่จุดหมายได้หรือไม่ เถ้าแก่ต้องเป็นนักล่าโอกาส ปรับตัวเร็ว ยืดหยุ่น ซึ่งนี่อาจเป็นจุดอ่อนสำคัญของเถ้าแก่หลายคนที่ไม่สามารถส่งความเชื่อมั่นส่งต่อไปถึงลูกทีมอย่างไร้รอยต่อได้

บริหารแบบมืออาชีพ

เถ้าแก่เป็นนักล่าโอกาสในขณะที่ มืออาชีพ จะเป็นผู้รับจ้างทำงานให้บรรลุเป้าหมาย เถ้าแก่จะหูไวตาไวและลงมือทำงานไว เมื่อเห็นโอกาสเดินทางมาถึง ก็พร้อมจะฉวยนาทีทองนั้นคว้ามันขึ้นมาสร้างงานสร้างเงินในแทบจะทันที และเมื่อธุรกิจตั้งตัวได้อยู่ตัวในรูปขององค์กรแล้ว ตอนนี้แหละที่บริษัทของเถ้าแก่จะต้องการ “มืออาชีพ” ที่สามารถบริหารองค์กรที่เพิ่งจะก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างให้กลายเป็นบริษัทที่มีระบบการทำงานที่ตรงตามเป้าหมายของเถ้าแก่ผู้ก่อตั้งกิจการ เถ้าแก่บางคนเป็นทั้งนักล่าโอกาสที่ดีและสามารถบริหารอย่างมีระบบด้วย แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน บางคนเก่งการค้า มีสัญชาตญาณในการมองหาโอกาส แต่ขาดทักษะในการสร้างระบบการบริหารจัดการ จึงต้องอาศัยมืออาชีพมาทำหน้าที่ คอยบริหารเป็นทัพหลังให้

แต่ถ้าอยู่ในองค์ใหญ่ๆ ผู้บริหาร มืออาชีพ ก็ต้องเพิ่มเติมการคิดแบบเถ้าแก่ กล่าวคือ เร่งผลงาน ผลกำไรให้เร็ว ตัดสินใจให้เร็วโดยไม่ต้องมีข้อมูลพร้อม 100% ไม่ต้องให้ทุกคนเห็นด้วย 100% เพราะจะไม่ทันการ ให้เร่งลงมือทำให้ ลองเป็น test model ทำไปปรับไป ไม่ต้องคิดให้ perfect day 1 เพราะ speed สำคัญในการแข่งขัน และควรเพิ่ม accountability and empowerment ให้ ผู้บริหาร ให้เป็น เถ้าแก่แบบมืออาชีพ แต่ที่สำคัญที่สุดในการทำงาน เราต้องสร้างงานนั้นให้มีความหมายมากกว่ารับเงินเดือนค่าจ้าง และให้ทีมงานสนุกและมีความสุขในการทำงาน

องค์กรต้องมีคนสองพันธุ์ คิดแบบเถ้าแก่ ทำแบบมืออาชีพ

คุณบุญคลี ปลั่งศิริ เคยกล่าวไว้ว่า “องค์กรที่มีเจ้าของอย่างเดียว เติบโตไปได้เพียงจุดหนึ่งเท่านั้น ขณะที่องค์กรที่มีแต่มืออาชีพอย่างเดียว ไม่มีเจ้าของก็เติบโตได้ช้า”  คนแบบเจ้าของก็คิดหรือกลายเป็นมืออาชีพได้ยากหรือได้แต่น้อย ส่วนมืออาชีพก็จะกลายเป็นเจ้าของก็ลำบาก มีได้แต่ก็น้อยราย แต่องค์กรที่จะเติบโตได้ดี ต้องการคนสองสายพันธุ์สองแบบทำงานร่วมกัน ถ้ามีแต่เจ้าขององค์กรก็ขยายยาก แต่ถ้ามีแต่มืออาชีพ องค์กรก็จะโตช้า

เถ้าแก่ส่วนใหญ่จะคิดเร็ว ตัดสินใจได้เร็ว ทำเร็ว บางครั้งตัดสินใจโดยไม่รู้ว่าเสี่ยงแค่ไหนก็มี ไม่ต้องศึกษาวิจัยมาก ปรับตัวได้เร็ว ดูตัวเงินกำไรขาดทุนเป็นหลักโดยเฉพาะในระยะสั้น เป้าหมายส่วนใหญ่คือจะทำอย่างไรให้ได้กำไรได้มากที่สุดในเวลารวดเร็วที่สุด คนในองค์กรก็จะเป็น Action Driven ลุยงานหนัก ทำงานเป็นงานงานไป ผลงานก็วัดจากกำไรขาดทุนเป็นหลัก เถ้าแก่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยวางแผนเป็นระบบ จะไม่ค่อยลงทุนพื้นฐาน ในการพัฒนาระบบ คน และสร้างแบรนด์ เพื่อรองรับการเติบโตในระยะยาวแต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ style ของเถ้าแก่แต่ละคนด้วย สรุป – คิดเร็ว ทำเร็ว เห็นผลวันนี้ !

คนที่เป็นเจ้าของมีจุดเด่นคือ การตัดสินใจรวดเร็ว มืออาชีพไม่กล้าตัดสินใจรวดเร็วอย่างนี้ เพราะไม่ใช่เงินตัวเอง ตัดสินใจไปต้องรับผิดชอบ เจ้าของจะมองและหวังประโยชน์องค์กรในระระยาวจริงๆ แต่ข้อจำกัดของเจ้าของก็คือ การตัดสินใจเร็วมักใช้ Gut Feeling หรือสัญชาตญาณ ประสบการณ์ มากกว่า ข้อมูล ตรงนี้ ถัาได้มืออาชีพมาช่วยในการหาและวิเคราะห์ข้อมูลก็จะเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น

ส่วนคิดบริหารแบบมืออาชีพ จะมีการวางแผนทิ่เติบโตทั้งระยะสั้นและระยะยาว บางทีถึง 5 ปี 10 ปี มีการศึกษาวิจัย วิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียด มีการคิดและวางแผนที่เป็นพื้นฐาน เป็นระบบ การตัดสินใจก็มีขั้นตอนและให้หลายฝ่ายร่วมกันตัดสินใจ ส่วนใหญ่เป็นคณะกรรมการ ซึ่งซับซ้อนและจะช้ามาก เพราะตอบคำถามจากคณะกรรมการที่ตัดสินใจไม่เคยหมดเลยไม่ได้ลงมือทำสักที ทำให้องค์กรใหญ่นั้นอุ้ยอ้าย ไม่ทันสถานการ์ณที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และบางครั้ง KPIs ก็ไกลไป โยงไม่ถึงผลประกอบการก็มี แต่ส่วนดีของมืออาชีพ คือการสร้างคน สร้างระบบและสร้างการเติบโตแบบต่อเนื่อง แบบมืออาชีพ : คิดใหญ่กินยาว ทำเป็นระบบ แต่ช้าหน่อย!

คนกลายพันธุ์ : Think As Owner, Execute As Professional

ยุคสมัยนี้ การที่เจ้าของจะกลายมืออาชีพก็เป็นไปได้มากขึ้น โดยเฉพาะ เจ้าของใน Gen 2 หรือ Gen 3 ที่มีการศึกษาทันสมัย เรียนรู้การบริหารแบบมืออาชีพมา หรือ ผู้บริหารมืออาชีพจะกลายเป็นเจ้าของ Professional Owner ก็อาจเป็นไปได้เช่นกัน หมายถึงสามารถเป็นผู้บริหารมืออาชีพที่คิดอย่างเจ้าของ คือ เป็นผู้บรอหารที่ตัดสินใจ ภายใต้การใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่เหมาะสม โดยคิดถึงผลประโยชน์ และความเสี่ยงต่อองึกรในระยะยาวอย่างเจ้าของโดยไม่คำนึง KPI แต่ละปี

Think as Owner, Execute as Professional คือการที่ผู้บริหาร 1) ต้องมีการตัดสินใจที่รวดเร็ว (อย่างเจ้าของ) 2) ภายใต้การใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่เหมาะสม (อย่างมืออาชีพ) 3) ต้องคิดถึงผลประโยชน์และความเสี่ยงต่อองค์กรในระยะยาว (อย่างเจ้าของ เพราะเจ้าของลาออกไม่ได้ต้องอยู่กับผลระยะยาว) ไม่ใช่เฉพาะ KPIs ประจำปี หลายๆๆครั้งพบว่า พวกมืออาชีพพยายามทำงานให้ได้ KPIs แต่ละปีโดยไม่ได้นึกถึงผลกระทบหรือความเสี่ยงในระยะยาว แล้วพวกเขาก็ลาออกไป ทิ้งให้เจ้าของต้องมานั่งปวดหัวกับสิ่งที่พวกเขาทำไว้

จะเป็นเถ้าแก่หรือมืออาชีพ ต้องรู้จักตัวเองให้ดีก่อน

คนโดยทั่วไป ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ เก่งเรื่องหนึ่งแต่ไปด้อยอีกเรื่องหนึ่ง ถือเป็นเรื่องธรรมดา ถ้ายอมรับข้อบกพร่องของตนเองและพยายามแก้ไขหรือหาคนอื่นที่เก่งในเรื่องที่ตนขาดมาช่วยทำงาน ปัญหาก็จะลดลงไป

แต่มนุษย์เรามักมีอัตตาเชื่อว่าตัวเองเก่งและทำได้หลายอย่าง เราจึงได้เห็นเถ้าแก่หลายคนที่รุ่งเรืองเฉพาะตอนเปิดธุรกิจใหม่ๆแล้วก็ล้มหายไป หรือไม่ก็ได้เห็น CEO มืออาชีพเก่งๆหลายคนออกจากงานมาเปิดกิจการของตนเอง แต่แล้วก็ไปไม่รอด ทั้งนี้ก็เพราะไม่รู้จักตัวเองนั่นเอง