อนาคตการจ้างงานแรงงานและการทำงาน | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

อนาคตการจ้างงานแรงงานและการทำงาน | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ปัญหาแรงงานต่างชาติที่ลักลอบเข้าเมืองก็ดูเหมือนจะรุนแรงขึ้น ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเป็นปัญหาท้าทายธุรกิจของรัฐบาลนานาประเทศ

การทบทวนการศึกษาแนวโน้มอนาคตของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (2564) ให้กับโครงการอนาคตประเทศไทย พบว่า การขาดแคลนแรงงานทักษะขยายตัวถึงสองเท่าจากทศวรรษก่อน ในประเทศที่พัฒนาแล้วก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการคาดคะเนว่าใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ประมาณร้อยละ 20 ของแรงงานในโรงงานขององค์กรขนาดใหญ่จะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่ค่อยๆ เข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ประมาณ 800 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2573 
    อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจะเป็นอุตสาหกรรมด้านอาหาร การก่อสร้าง การทำความสะอาด การขับขี่ยานยนต์และการเกษตรเนื่องจากมีการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น แต่การทดแทนก็อาจมีผลกระทบต่อการจ้างงานในอนาคตได้ สำหรับประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่าปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์จะทำให้อัตราว่างงานของไทยเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 5 ต่อปีภายในปี 2578 (Economist Intelligent Unit, 2020)

ปัจจุบันการขาดแคลนแรงงานยังเป็นแนวโน้มที่สำคัญของไทยเช่นกัน แม้แต่ในภาคเกษตรก็มีปัญหาการขาดแคลนแรงงานจนต้องใช้แรงงานต่างชาติเช่นกันเนื่องจากคนหนุ่มสาวเลือกออกจากภาคเกษตรเพื่อเดินทางไปหางานทำในเมืองมาหลายทศวรรษแล้วและยังลดลงอย่างต่อเนื่อง สัดส่วนแรงงานเกษตรสูงอายุของไทย (ร้อยละ 19 ในปี 2556) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในปี 2560 สัดส่วนนี้อยู่ที่ร้อยละ 14 (โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และคณะ, 2562) 
    การศึกษาสถานการณ์ชาวนาไทยในปี 2555 ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าเกษตรกรที่ทำนาร้อยละ 80.5 ไม่อยากให้ลูกหลานทำนาเช่นเดียวกับตนและผลสำรวจของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปีเดียวกัน พบว่า จำนวนนักศึกษาที่เรียนต่อในอุดมศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรลดลงประมาณร้อยละ 5-8 ต่อปี และนักศึกษาส่วนใหญ่จะเลือกคณะเกษตรศาสตร์สำหรับศึกษาต่อในลำดับ 3-4 (สถาบันพระปกเกล้า, 2564) 
    คนหนุ่มสาวจากชนบทเหล่านี้ส่วนหนึ่งเข้าไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมในตอนแรก แต่ในทศวรรษที่ผ่านมาได้เข้าไปอยู่ในภาคการท่องเที่ยวซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วและยังได้ขยายตัวไปในชนบททำให้พื้นที่ในชนบทด้วย แต่โควิด-19 ที่ระบาดในปี 2563 เป็นต้นมาทำให้มีผู้ย้ายกลับชนบทสุทธิจำนวนกว่า 2 ล้านคน เพราะการจ้างงานในเมืองลดลง แต่ก็ยังต้องรอดูว่าแนวโน้มนี้เป็นแนวโน้มถาวรหรือชั่วคราว และจะสร้างโอกาสใหม่ในชนบทได้มาจากขนาดไหน 

ในภาคการผลิตอื่นๆ ปัญหาแรงงานก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน คือ มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างชาติเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานและเพื่อเติมเต็มทักษะที่ไทยยังขาดอยู่ รายงานของกระทรวงแรงงานในเดือนมีนาคม 2564 ระบุว่าประเทศไทยมีแรงงานต่างชาติที่ได้รับอนุญาต 2.18 ล้านคน ในขณะที่แรงงานต่างชาติที่มีทักษะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 7.9 ของจำนวนแรงงานต่างชาติทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่มาลงทุนในประเทศไทย

แรงงานต่างด้าวในระบบประกันสังคมทั้งหมดในปี 2562 เป็นแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำ (รายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน) ถึงร้อยละ 92 (ชมนาด นิตตะโย, โสภณ ธัญญาเวชกิจ, บวรวิชญ์ จินดารักษ์ และนันทนิตย์ ทองศรี, 2563) คาดว่าอาจมีแรงงานไร้ทักษะข้ามชาติผิดกฎหมายอีกเป็นล้านคนจากประเทศเพื่อนบ้าน

อนาคตการจ้างงานแรงงานและการทำงาน | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
    โจทย์ใหญ่ก็คือ เราจะมีเป้าหมายและจัดการกับแรงงานชาวต่างชาติทั้งบนดินและใต้ดินอย่างไรให้มีการเปลี่ยนผ่านอย่างมีประสิทธิภาพ ในยุคปัจจุบันที่โครงสร้างแรงงานสูงวัยของไทยเป็นอุปสรรคของการเจริญเติบโต ประเทศไทยควรจะเปิดรับแรงงานข้ามชาติแค่ไหน รวมทั้งบุตรหลานจำนวนมากของคนเหล่านี้ที่เติบโตและขณะนี้รับการศึกษาในผืนแผ่นดินไทย
    อีกมิติของปัญหาแรงงานไทยก็คือ ความไม่สมดุลระหว่างแรงงานกับอาชีพ (Mismatch) เกิดจากระบบการศึกษาผลิตแรงงานออกมาไม่ตรงกับความต้องการในตลาด ทำให้ผู้จบการศึกษาทำงานไม่ตรงกับสาขาวิชาที่เรียน หรือต้องไปรับทำงานที่มีรายได้ต่ำกว่าคุณวุฒิ ซึ่งหมายความว่าการลงทุนด้านการศึกษาไม่คุ้มค่า ในประเทศไทยในช่วงปี 2554–2560 มีภาวะ งานเกินเรียน (Under education) อยู่ประมาณร้อยละ 10 และเรียนเกินงาน (Over education) ร้อยละ 19 ในขณะที่ทำงานไม่ตรงสาขาถึง
ร้อยละ 44 (ชญานี ชวะโนทย์, 2564) สาขามนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีสัดส่วนแรงงานที่จบออกมาแล้วทำงานไม่ตรงสาขามากกว่าร้อยละ 70 โดยเฉพาะสายวิทยาศาสตร์ มีแนวโน้มการทำงานไม่ตรงสาขามากขึ้น ทั้งๆ ที่ประเทศไทยตั้งเป้าไปสู่ Thailand 4.0 ที่จะอยู่บนฐานของนวัตกรรมจากความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  
    ส่วนแนวโน้มใหม่ด้านพฤติกรรมการทำงานของแรงงานรุ่นใหม่นั้นปรากฏว่า แรงงานยุคใหม่ต้องการอิสระในการทำงานมีความยืดหยุ่นที่จะทำงานในพื้นที่และเวลาตามที่ต้องการและรายงานของ Global Talent Trends Report 2019 ของ LinkedIn ระบุว่าร้อยละ 78 ของแรงงานที่มีทักษะใช้ความยืดหยุ่นเป็นบรรทัดฐานของการตัดสินใจที่จะร่วมงานกับองค์กร

การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้แนวโน้มนี้จะเติบโตเร็วยิ่งขึ้น แนวโน้มนี้ทำให้แรงงานยุคใหม่ไม่ได้ถืองานประจำเป็นเป้าหมายของชีวิต การทำงานอิสระ (Freelance) เป็นการทำงานตามเงื่อนไข ค่าจ้าง ตามเวลาที่ใช้ ตามภาระงานและชิ้นงาน หรือเป็น Gig workers ที่รับค่าจ้างตามชิ้นงาน ความยืดหยุ่นและการเคลื่อนย้ายสถานที่อย่างต่อเนื่อง

อนาคตการจ้างงานแรงงานและการทำงาน | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ทำให้เกิดแรงงานประเภทใหม่ที่เรียกว่า Digital Nomad ซึ่งจะทำงานโดยเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ทั้งภายในประเทศเดียวและระหว่างประเทศ คาดกันว่าแรงงานประเภทนี้ในโลกจะมีจำนวนถึง 1,000 ล้านคนในปี 2578 (สถาบันเพิ่มผลผลิต, 2564) โควิด-19 ทำให้แนวโน้มนี้ชัดเจนขึ้นแม้แต่ในประเทศไทย
    คำถามใหญ่ด้านแรงงานไทยคือเราจะพัฒนาแรงงานที่เกิดในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งที่เข้าสู่กำลังแรงงานด้วยการศึกษาไม่สูงนักที่เป็นชนชั้นผู้สูญเสีย (The lost generation) จากการพัฒนาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและระบบการศึกษาไม่สามารถปรับตัวให้รองรับทักษะที่ต้องการในทศวรรษที่ 2 ได้อย่างไร
    โจทย์ใหญ่อีกโจทย์หนึ่งซึ่งรัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนก็คือ เราจะจัดการกับแรงงานชาวต่างชาติทั้งบนดินและใต้ดินอย่างไรให้มีการเปลี่ยนผ่านอย่างมีประสิทธิภาพ ในยุคปัจจุบันที่โครงสร้างแรงงานสูงวัยของไทยเป็นอุปสรรคของการเจริญเติบโต ประเทศไทยควรจะเปิดรับแรงงานข้ามชาติแค่ไหน รวมทั้งบุตรหลานจำนวนมากของคนเหล่านี้ที่เติบโตและขณะนี้รับการศึกษาในผืนแผ่นดินไทย เราต้องเริ่มวางแผนอย่างจริงจังและค่ะ !