5 คำทำนายแห่งปี 2022 (ตอนที่ 1) | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

5 คำทำนายแห่งปี 2022 (ตอนที่ 1) | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ล่วงเข้าสู่ปลายปี เป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องทำนายสิ่งที่เกิดขึ้นในเชิงของเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในปีถัดไป ก่อนที่จะเข้าสู่คำทำนายในปีหน้า ผู้เขียนขอย้อนเช็คคำทำนายในปีนี้ที่กำลังจะหมดลง ว่าคำทำนายใดถูกต้อง คำทำนายใดผิด และผลคืออะไร

ในช่วงเวลานี้เมื่อปีที่แล้ว บทความนี้ได้เสนอคำทำนาย 5 ข้อแห่งปี 2021 ดังนี้
1. วัคซีนจะมาช้ากว่าคาด 
2. เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวแบบ “ตัว K” โดยเศรษฐกิจที่ได้รับวัคซีนจะฟื้นตัวก่อน 
3. สงครามเย็นยุคไบเดนและสีจิ้นผิง จะเป็นการแย่งชิงพันธมิตรเพื่อกดดันอีกฝ่ายมากขึ้น 
4. จะเกิด Tech-celelation หรือการเร่งตัวของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด และ 
5. ปี 2021 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติพลังงานสะอาด (Clean energy Revolution)

ใน 5 คำทำนายนี้ 3 ข้อหลังถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการที่สหรัฐกดดันจีนผ่านพันธมิตรกลุ่มใหม่ AUKUS และ QUAD ขณะที่จีนก็เข้ายื่นใบสมัครเข้าร่วมเขตการค้าเสรี CPTPP, การเกิดขึ้นและ/หรือเร่งตัวของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น Defi, CBDC และ Metaverse, และข้อตกลงที่จะเร่งลดภาวะโลกร้อนหลังการประชุม COP26 
    ขณะที่ 2 ข้อแรกถูกเพียงครึ่งหนึ่ง กล่าวคือ ในประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Market: EM) วัคซีนมาช้ากว่าคาดในครึ่งปีแรก แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Market: DM) ได้รับวัคซีนอย่างเหลือเฟือและรวดเร็ว อันเป็นผลจากการที่รัฐบาลที่ทำสัญญากักตุนวัคซีนไว้ก่อนล่วงหน้า

และเมื่อประเทศ DM ได้ฉีดประมาณ 60-70% ของประชากรแล้ว จึงเหลือส่งต่อมาให้ประเทศ EM ฉีดต่อ ซึ่งในช่วงที่ EM ยังไม่ได้วัคซีนเต็มที่ ได้เกิดการระบาดของสายพันธุ์ Delta ขึ้น ทำให้ประเทศ EM โดยเฉพาะในเอเชียได้รับผลกระทบรุนแรง
    ในมุมกลับกัน การที่ประเทศ DM รวมไปถึง EM ยักษ์ใหญ่อย่างจีนได้รับวัคซีน ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวก่อน ทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่การผลิตรวมถึงการขนส่งมีปัญหาคอขวด (Supply bottleneck) นำไปสู่การเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น ในช่วงที่เศรษฐกิจ EM ยังไม่ฟื้นเต็มที่ และนำไปสู่ปัญหา Stagflation (หรือเงินเฟ้อสูงแต่เศรษฐกิจชะลอตัว) ขึ้น 

ถ้า "วัคซีน" และ "คอขวด" เป็น Keyword สำหรับปี 2021 ผู้เขียนมองว่า ในปี 2022 Keyword ของคำทำนายคือ "Normalization" หรือการกลับมาเป็นปกติ โดยมี 5 คำทำนาย ดังนี้
    คำทำนายที่ 1 เศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติมากขึ้น โดยภาพใหญ่ของโลกปีหน้าคือ Global Growth normalization หรือการที่เศรษฐกิจโลกค่อย ๆ กลับมาสู่ความเป็นจริงมากขึ้น หลังจากที่ตกต่ำมากในปี 2020 และฟื้นรุนแรงในปีนี้ โดยประเทศ DM ขยายตัวจะชะลอลง ส่วนในฝั่ง EM ยกเว้นจีนในช่วงครึ่งปีแรกจะเป็น "Sweet spot" หรือจุดที่หอมหวาน จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว แต่นโยบายยังผ่อนคลาย

5 คำทำนายแห่งปี 2022 (ตอนที่ 1) | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ขณะที่ในครึ่งปีหลัง การใช้จ่ายในประเทศจะเริ่มชะลอลง ประกอบกับนโยบายเศรษฐกิจจะเริ่มคุมเข้มขึ้น แต่จีนจะแตกต่าง โดยจะชะลอแรงในช่วงปลายปีนี้ต่อต้นปีหน้า และค่อยฟื้นขึ้นในครึ่งหลังของปี (รายละเอียดอ่านได้ในบทความ "เศรษฐกิจโลกปี 2022: ปีแห่ง Normalization")
    คำทำนายที่ 2 เงินเฟ้อโลกจะลดลงครึ่งปีหลังของปีหน้า แม้ว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ผู้เขียนจะได้กังวลและเตือนถึงความเสี่ยงเงินเฟ้อ รวมถึงสถานการณ์ Stagflation ว่าจะรุนแรงขึ้น และก็เป็นจริง โดยจากการติดตามแนวโน้มเงินเฟ้อใน 43 ประเทศของผู้เขียน พบว่าเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องใน 35 ประเทศ ซึ่งเป็นทั้งในกลุ่ม DM และ EM
    แต่ผู้เขียนยังคงเชื่อว่า เมื่อเวลาล่วงไปสู่กลางปีหน้า ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะลดลงได้จาก 3 สาเหตุหลัก คือ

(1) เศรษฐกิจจีน ที่มีแนวโน้มชะลอลงในปีหน้า โดยจะโตประมาณ 5% จาก 8% ในปีนี้ ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง โดยเฉพาะโลหะอุตสาหกรรมที่จีนบริโภคถึงกว่า 60-80% ของการบริโภคทั้งโลก

(2) ปัญหาคอขวดมีแนวโน้มจะคลี่คลาย เห็นได้ทั้งจากราคาโภคภัณฑ์ที่เริ่มลดลง อันเป็นผลจากการผลิตมากขึ้น และจากปริมาณเรือที่จอดรอในท่าเรือต่าง ๆ โดยเฉพาะในสหรัฐเริ่มลดลง และ

(3) จากสภาพคล่องทางการเงินโลก (Global monetary condition) ที่เริ่มตึงตัว เห็นได้จากผลตอบแทนพันธบัตรที่เริ่มปรับสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้กระแสเก็งกำไรในโภคภัณฑ์ลดลง
    อย่างไรก็ตาม แม้เงินเฟ้อในครึ่งหลังของปีหน้าจะลดลงจากระดับปัจจุบันที่ประมาณ 5.6% (ค่าเฉลี่ยของ 43 ประเทศที่ผู้เขียนติดตาม) แต่ผู้เขียนเชื่อว่าเงินเฟ้อใน 5 ปีข้างหน้าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อนหน้าที่ประมาณ 3% เนื่องจากความต้องการสินแร่หายาก รวมถึงสินแร่อุตสาหกรรมบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อทดแทนพลังงานฟอสซิลจะเป็นปัจจัยผลักดันเงินเฟ้อขึ้น (หรือที่เรียกว่า Greenflation)
    คำทำนายที่สาม นโยบายการเงินโลกจะกลับมาเป็นปกติมากขึ้น โดยหลังจากที่ธนาคารกลางทั่วโลกนำโดยสหรัฐ (Fed) ได้ทำนโยบายการเงินผ่อนคลายขนานใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

5 คำทำนายแห่งปี 2022 (ตอนที่ 1) | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นขณะที่เงินเฟ้อเริ่มกลับมา ทำให้ธนาคารกลางต่าง ๆ เริ่มต้องลดทอนมาตรการผ่อนคลาย ทั้งมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ย โดยในปัจจุบัน มี 13 (จาก 42) ธนาคารกลางที่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ขณะที่ธนาคารกลางชั้นนำส่วนใหญ่เริ่มลดทอน QE แล้ว 
    ในปีหน้า จะเป็นปีแห่งการลดทอนมาตรการการเงินที่ผ่อนคลายลง แต่การถอนมาตรการจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้มากเนื่องจากหนี้สาธารณะและภาคเอกชนทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นมหาศาล (เฉพาะเพียงแค่หนี้สาธารณะทั่วโลก ก็เพิ่มถึงกว่า 10% ของ GDP โลกมาเป็นประมาณ 99% ต่อ GDP ดังนั้น หากดอกเบี้ยโลกขึ้น 1% รัฐบาลทั่วโลกจะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นถึงกว่า 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์)

เพราะหากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเร็วเกินไป จะทำให้ภาระหนี้ของรัฐบาลและเอกชนเร่งตัวขึ้น และกดดันเศรษฐกิจได้
    เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และนโยบายจะกลับเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ในปีหน้า คือคำทำนาย 3 ข้อแรก และอีก 2 ข้อคืออะไร จะทำให้ดุลยภาพใหม่ถูกบิดเบือนหรือไม่ โปรดติดตาม.