Metaverse กับโอกาสทางธุรกิจและเศรษฐกิจไทย

Metaverse กับโอกาสทางธุรกิจและเศรษฐกิจไทย

ทันทีที่ Facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อ เป็น “Meta” ให้สอดรับกับทิศทางธุรกิจ ก็ทำให้คำว่า “Metaverse” ถูกหยิบยกมาเป็นหัวข้อที่ถูกกล่าวถึงอย่างมาก

การสำรวจของ McKinsey ในเดือนที่ผ่านมา พบว่าการค้นหา “gaming metaverse” เพิ่มขึ้น 4,500% จาก 24 เดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งเต็มไปด้วยการตอบสนองและประเด็นคำถามที่น่าสนใจจากภาคธุรกิจต่าง ๆ ตามมามากมาย

Metaverse คือนวัตกรรมที่สร้างและผสานสภาพแวดล้อมของโลกจริงที่เราอยู่เข้ากับโลกเสมือนจริง จนกลายเป็น “ชุมชนโลกเสมือนจริง” ที่สามารถผสานวัตถุรอบตัวและสภาพแวดล้อมให้เชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียว โดยอาศัยเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) ช่วยเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อให้กลายเป็นพื้นที่โลกเดียวกัน

 

 

โดย Metaverse จะใช้เทคโนโลยีกระจายศูนย์ (Decentralized) อย่าง Blockchain, Cryptocurrency, และ NFT (Non-Fungible Token) ฯลฯ เข้ามาทำให้ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการใน Metaverse ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และไม่ต้องผ่านตัวกลางนั่นเอง 

เกมออนไลน์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์โดยตรงจาก Metaverse เพราะธุรกิจเกมบางส่วนที่ได้เข้าสู่โลก Metaverse มาสักระยะแล้ว เช่น เกม Fornite ที่มีการจำลองโลกเสมือนจริงลงไปในเกม มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และขายของทำเงินได้ เป็นโลกเสมือนที่หลายคนทำเงินเลี้ยงชีพได้จริงๆ

 

และยังมีอีกหลายบริษัท เช่น Amazon, Disney, SK Telecom, และ Tencent ที่ได้เริ่มเข้าไปลงทุนเพื่อพัฒนา Platform ที่สามารถครอบคลุมและรองรับเทคโนโลยี Metaverse ที่กำลังจะเติบโตขึ้นอีกในอนาคตได้

Metaverse คือ Disruption หรือ Opportunity?

แน่นอนว่าการเติบโตของ Metaverse จะ Disrupt อุตสาหกรรมต่าง ๆ ในอนาคต เราสามารถใช้ Metaverse ในการลองใช้และเลือกซื้อสินค้าโดยไม่ต้องไปที่ร้านค้า หรือแม้แต่ไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ เข้าชมคอนเสิร์ตเสมือนจริง ชมผลงานศิลปะ รวมถึงย้อนอดีตไปสัมผัสเหตุการณ์ในแต่ละยุคสมัย

หากพูดถึงที่ดินในโลกแห่งความเป็นจริง มูลค่าของที่ดินโดยเฉลี่ยนั้นเติบโตขึ้นทุกปี เพราะที่ดินแปลงหนึ่ง ๆ นั้นสามารถถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการอยู่อาศัยหรือเชิงพาณิชย์ แต่ใครจะคาดคิดว่าที่ดินในเกม หรือที่เรียกกันว่า “ที่ดินดิจิทัล” มีที่ดินแปลงที่มูลค่าสูงหลายสิบล้านบาทแล้วในวันนี้ ซึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจจากเกมที่กำลังได้รับความนิยมอย่าง Sandbox ก็มีพาร์ทเนอร์และกลุ่มธุรกิจหลากหลาย เข้ามาทุ่มซื้อที่ดินดิจิทัลเพื่อใช้เป็น Platform สำหรับรองรับช่องทางใหม่ในการทำธุรกิจ จนทำให้ราคาที่ดินดิจิทัลทะยานสูงขึ้นต่อเนื่อง

Metaverse กำลังจะทำให้การเกิดอาชีพใหม่ ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นอาชีพ ผู้นำเที่ยวในโลก Metaverse, ที่ปรึกษาการเงินและการลงทุนในโลก Metaverse ไปจนถึงนักออกแบบสินค้าสำหรับวางขายใน Metaverse ซึ่งล่าสุด Nike แบรนด์เสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา ได้เปิดรับสมัครตำแหน่ง “นักออกแบบสินค้าเสมือน” ซึ่งระบุว่า “หน้าที่นี้อยู่ในกลุ่ม Digital Product Creation ซึ่งเป็นทีมที่มุ่งเน้นจุดประกายการปฏิวัติดิจิทัลและโลกเสมือนจริง” เพื่อเตรียมพร้อมขายสินค้าในโลก Metaverse

ประเทศไทย พร้อมแค่ไหนสำหรับยุค Metaverse ?

วันนี้กำแพงที่ปิดกั้นการเติบโตของนวัตกรรมและธุรกิจที่ต้องพึ่งพานวัตกรรมในแต่ละประเทศ ไม่ได้อยู่ที่ตัวเทคโนโลยีครับ แต่อยู่กฎระเบียบและนโยบายของแต่ละรัฐบาลที่มุ่งจะปิดกั้นด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันความเสียหาย หรือมุ่งจะสนับสนุน การที่มีนวัตกรรมหรือ Disruption ใดเข้ามา ก็ใช้วิธีปิดกั้นไม่ให้ทำไว้ก่อนเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย แต่ผลที่ตามมาคือเศรษฐกิจของประเทศจะเริ่มล้าหลังตามไม่ทันเพื่อนร่วมโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ อาชีพและสินค้าของประเทศนั้นในเวทีโลกจะเริ่มเหลือแต่ผลิตภัณฑ์มูลค่าต่ำ ซึ่งส่งผลให้ประชากรในประเทศต้องทำงานหนักในขณะที่ผลตอบแทนเทียบกับค่าครองชีพและสวัสดิการด้อยลงเรื่อย ๆ ข้อมูลจากบริษัทวิจัยตลาด Statista คาดการณ์ไว้ว่าตลาด Metaverse ทั่วโลกจะเติบโตขึ้นถึง 8.7 เท่า จากมูลค่า 30.7 พันล้านดอลลาร์ เป็น 269 พันล้านดอลลาร์ภายใน 3 ปีจากวันนี้

รัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์จำเป็นต้องเข้าใจลึกซึ้งในพลวัตนี้และเปลี่ยนแนวทางให้เป็น “สร้างโอกาสโดยไม่ปิดกั้น ในขณะที่สามารถจำกัดวงความเสียหายได้” สำหรับเรื่องนวัตกรรมต้องเปลี่ยนนโยบายจาก “ไม่ให้ไว้ก่อน” เป็น “ให้ทำไว้ก่อน” ในส่วนของการจำกัดความเสียหาย ต้องวัดผลกระทบด้านลบเทียบเคียงกับผลด้านบวกเป็นตัวเลขจับต้องได้ เพราะไม่มี Disruption ใดที่จะไม่ส่งผลในด้านลบเลย แต่ประเทศที่เป็นผู้นำนวัตกรรมจะหาทางวางกลยุทธ์ผลบวกเกิดขึ้นมากกว่าเสมอ ควบคู่ไปกับการใช้วิธีจำกัดวงผู้ใช้ในช่วงแรกด้วยจำนวนหรือคุณสมบัติ และเมื่อทดสอบจนครบในแง่มุมที่วางแผนไว้ จึงสามารถกฎระเบียบว่า “ห้าม” หรือ “ให้”

นโยบายภาษีและการคุ้มครองสินทรัพย์ทางปัญญาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สนับสนุนให้นวัตกรรมใดเกิดขึ้นได้ในประเทศ ในโลกยุค Decentralized นี้ ผู้ประกอบการ นักลงทุน และแรงงาน โดยเฉพาะกับสายดิจิทัลและครีเอทีฟ สามารถเลือกได้ว่าจะทำธุรกิจที่ประเทศใด ในขณะที่ตัวบุคคลจะอยู่ที่ประเทศใดก็ได้ แน่นอนว่าประเทศที่มีนโยบายภาษีเชิงสนับสนุนและความคุ้มครองด้านสินทรัพย์ทางปัญญาได้ดี ย่อมได้เปรียบที่จะทำหน้าที่เป็นสะพานในการเชื่อมโลกยุคใหม่และยุคเก่าเข้าด้วยกัน ซึ่งภูมิศาสตร์และจุดแข็งของประเทศไทยทั้งด้านการท่องเที่ยว อาหาร สาธารณสุข และการขนส่งทำให้เรามีศักยภาพดังกล่าวสูง นโยบายปลอดภาษีไปจนถึงการลดหย่อนภาษีสำหรับการประกอบธุรกิจ การลงทุน และแรงงานด้านนี้ รวมถึงนโยบายที่รองรับโครงสร้างสินทรัพย์ทางปัญญายุคใหม่ เช่น NFT (Non-Fungible Token) เป็นสิ่งที่รัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์จะต้องผลักดันและคิดกลไกที่ทำให้เกิดเป็นผลบวกกับทุกฝ่ายและปฏิบัติได้จริง เพื่อไม่ให้ประเทศเราเสียโอกาสในโลกใหม่นี้อีกแล้ว