APEC 2022 : เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล

APEC 2022 :  เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล

ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ไทยได้เข้าร่วมและมีบทบาทในการประชุมในกรอบเอเปค ซึ่งจบด้วยการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Week) ผ่านระบบการประชุมทางไกล

ปีนี้ นิวซีแลนด์ ในฐานะเจ้าภาพมีหัวข้อหลักคือ “ร่วมกัน ทำงาน เติบโต ไปด้วยกัน (Join, Work, Grow. Together.)” และตลอดปีที่ผ่านมา นิวซีแลนด์ได้เน้นการมีส่วนร่วมของสังคมในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย

ในช่วงที่เป็นเจ้าภาพปีนี้ได้นำการหารือในกรอบต่างๆ เช่นผลกระทบของสภาวะเศรษฐกิจ รายได้ และการจ้างงานต่อชุมชนพื้นเมือง การสร้างหุ้นส่วนและส่งเสริมบทบาทด้านการท่องเที่ยวในท้องถิ่น เป็นต้น

 

APEC 2022 :  เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล

 

 

ต้นสัปดาห์ เริ่มด้วยการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 32 ซึ่งได้ย้ำถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 และความจำเป็นต้องดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องโดยการเสริมสร้างบรรยากาศการค้าและการลงทุนที่เสรีและเปิดกว้าง รวมทั้งการยึดมั่นในระบบการค้าพหุภาคีที่ตั้งอยู่บนกฎระเบียบ และการส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

โดยเฉพาะการผลักดันการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิกหรือ FTAAP ภายใต้บริบทที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP และความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ CPTPP กำลังมีพัฒนาการเชิงบวกในปัจจุบัน ตลอดจน ความคาดหวังให้การประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 (MC12) มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

 

APEC 2022 :  เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล

เมื่อคืนวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ไทยได้รับไม้ต่อจากนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพกรอบการประชุมเอเปค โดยในช่วง Handover Moment ผ่านระบบออนไลน์

นายกรัฐมนตรี Jacinda Ardern แห่งนิวซีแลนด์ ได้กล่าวแสดงความเชื่อมั่นที่ไทยจะขับเคลื่อนเอเปคได้ด้วยพลัง ความคิดริเริ่ม และภูมิปัญญา และได้มอบไม้พาย Waka Paddle ให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อมโยงอันยาวนานของชนพื้นเมืองเผ่าเมารีของนิวซีแลนด์ ที่ร่วมมือกันอย่างสามัคคี ในการสร้าง “เรือวากะ” หรือเรือแคนู เช่นเดียวกับการบรรลุเป้าหมายของความเจริญรุ่งเรืองในเอเปคและการร่วมมือกันพายเรือ

เรือลำที่ชื่อว่าเอเปค  นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับมอบเสื้อคลุมลาย Korowai และหยกห้อยคอเป็นรูปใบเฟิร์นอ่อน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเกิด เจริญเติบโต และการชุบตัว ของชาวเมารี

จากนี้ไป ไทยจะเป็นเจ้าภาพเอเปคถึงพฤศจิกายน 2565 โดยหัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปคปีของไทยคือ “Open. Connect. Balance.” หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”

 

APEC 2022 :  เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล

บทบาทของประเทศไทยในปีที่เป็นเจ้าภาพ นอกจากการจัดการประชุมตลอดปี ทั้งระดับผู้นำ รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ และภาคเอกชน จะเน้นประเด็นที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกัน เช่น ความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างกันและการท่องเที่ยว การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน โดยนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ไทยจะต้องขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ เพื่อสานต่อการทำงานของเอเปค และส่งเสริมประเด็นที่ไทยได้ประโยชน์

ประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญคือ ขับเคลื่อนให้เอเปคพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคหลังโควิดที่ยั่งยืนและสมดุล และทุกคนมีส่วนร่วม ผ่านแนวคิด BCG  ไทยจะมุ่งผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในประเด็นสำคัญ 3 ด้าน คือ

1.การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยมุ่งสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม

2.การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือในเอเปค

3.การฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทางและท่องเที่ยวเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19

 

APEC 2022 :  เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล

 

APEC 2022 :  เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล

กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชนและภาคส่วนต่าง ๆ ของไทยได้เตรียมการสำหรับการเป็นเจ้าภาพของไทยก่อนที่จะรับมอบหน้าที่มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 ทั้งในด้านประเด็นสาระความร่วมมือ การประชาสัมพันธ์ พิธีการ โลจิสติกส์

มีการจัดกิจกรรมระดมสมองกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันพัฒนาหัวข้อหลัก ประเด็นสำคัญ และผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ของเอเปคในปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งสอดคล้องกับบริบทโลกและเป็นผลประโยชน์ของไทย และต่อยอดการดำเนินการของมาเลเซีย ในฐานะเจ้าภาพเอเปคปี 2563 และนิวซีแลนด์ เพื่อให้เอเปคมุ่งไปสู่การเจริญเติบโตอย่างสมดุล ยั่งยืนและครอบคลุม

สำหรับด้านพิธีการและอำนวยการ มีการพิจารณาสถานที่จัดที่เหมาะสม ทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดรูปแบบการประชุมอย่างเหมาะสม คุ้มค่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเตรียมแนวทางมาตรการด้านสาธารณสุขและการเดินทางเข้าประเทศอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต

การประชุมจะมุ่งจัดการประชุมแบบ physical แทนแบบ virtual ให้มากที่สุดตลอดวาระการเป็นเจ้าภาพ

การประชุมครั้งแรกที่ไทยจะจัดหลังจากการรับมอบการเป็นเจ้าภาพอย่างเป็นทางการจากนิวซีแลนด์คือการประชุม APEC Symposium on 2022 Priorities และการประชุมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ISOM ระหว่างวันที่ 1-3 ธันวาคมนี้ ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งถือเป็นการจัดการประชุมระหว่างประเทศหลังจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-10 และโอกาสอันดีในการสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติในมาตรการสาธารณสุขและรูปแบบการจัดการประชุมของไทย

ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากเอเปค และประเด็นสำคัญของ APEC2022 Thailand คืออะไร และมีการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค 2022 อย่างไร ?

ในภาพใหญ่ ไทยได้ประโยชน์จากการมีพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และได้ร่วมผลักดันแนวคิดใหม่ ๆ ที่ช่วยพัฒนาประเทศไปสู่การเจริญเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ในระดับปฏิบัติการ ไทยได้เรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีและแลกเปลี่ยนความรู้กับสมาชิกเอเปค

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยได้จัดโครงการ กิจกรรมระดมสมอง การประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้เอเปคกว่า 50 โครงการ ครอบคลุมประเด็นด้านการศึกษา สาธารณสุข MSMEs ป่าไม้ พลังงาน ดิจิทัล เกษตร ฯลฯ ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้ได้ถูกแปรเป็นนโยบายการพัฒนาของไทยในที่สุด เป็นผลประโยชน์ต่อประชาชน

       รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นกับการทำให้ประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมไทย“ตระหนัก เข้าใจ ใช้ประโยชน์ มีส่วนร่วม” (Inform-Inspire-Integrate-Involve) ตามยุทธศาสตร์ การประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ให้เป็นเพียงเฉพาะการทำงาน หรือการดำเนินการของภาครัฐ

กระทรวงการต่างประเทศได้กำหนดยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ที่ตรงกับผู้รับสารที่เป็นเป้าหมายแต่ละกลุ่มและให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนในสังคมไทย ทั้ง (1) ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ภาคเกษตร โดยเฉพาะผู้ประกอบการ MSMEs และ start-ups (2) ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง (3) นักเรียน นิสิตนักศึกษา เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และ (4) สาธารณชน ภาคประชาสังคม และประชาชนไทย

การประชุมเอเปค เน้นการประชาสัมพันธ์ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการประชุม และได้มุ่งสร้างความเข้าใจพื้นฐานแก่ประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของเอเปค รวมทั้งจัดการเสวนาระดมสมอง APEC Media Focus Group เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการเตรียมการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทย เพื่อให้สื่อมวลชนในฐานะ “สะพานเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐกับประชาชน” ช่วยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพเอเปคในวงกว้างมากขึ้นและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่กระทรวงการต่างประเทศต้องการสื่อสารกับสาธารณชน

รวมทั้งในส่วนสารัตถะของการประชุมเอเปค และหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับภาคสื่อมวลชนเกี่ยวกับแนวทางการประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยให้ประชาชนไทยรับรู้ ภูมิใจ ใช้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพไปพร้อมกัน

ตลอดปีนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจในการสื่อสารและสร้างการรับรู้การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย และเชิญชวนบริษัทเอกชนจากหลากหลายแขนงกว่า 30 บริษัท ร่วมเป็นพันธมิตรในการประชาสัมพันธ์ (APEC2022THAILAND Communication Partners) เช่นกัน โดยสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เผยแพร่ภาพสัญลักษณ์เอเปคผ่านสื่อต่าง ๆ ของบริษัท ร่วมจัดทำเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้อง การจัดทำโปรโมชั่นบริการและสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้าร่วมประชุม และยังเป็นโอกาสแสดงศักยภาพสินค้า บริการและธุรกิจของไทยด้วย 

ความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนไทยกับแรงบันดาลใจสู่ตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปค

สีสันของการเป็นเจ้าภาพของไทยคือ การประกวดตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรและคณาจารย์ชั้นนำ จัดการประกวดการออกแบบ สำหรับเยาวชนไทยอายุไม่เกิน 25 ปี โดยผู้ชนะเลิศ คือ ชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง หรือ “น้องวิว” เจ้าของผลงานตราสัญลักษณ์ “ชะลอม” ซึ่งเป็นเครื่องจักสานของไทย ใช้เป็นภาชนะใส่สิ่งของต่างๆ และเป็นสิ่งของสัญลักษณ์การค้าขายและการให้ของไทยมาแต่โบราณ เส้นตอกไม้ไผ่ที่สอดประสานกันทั้งแข็งแรงและยืดหยุ่น เหนียวแน่นและคงทน โอบอุ้มเศรษฐกิจภูมิภาคให้ “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” เส้นตอกไม้ไผ่สานกันเป็นชะลอม 21 ช่อง สื่อถึง 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค

 

APEC 2022 :  เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล

ชะลอมสื่อหัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปคปีของไทย ได้แก่ Open – ชะลอมสื่อถึงการค้าที่เปิดกว้าง Connect - ชะลอมเป็นสิ่งบรรจุสินค้าหรือส่งของสำหรับใช้ในการเดินทาง และสื่อถึงความเชื่อมโยง และ Balance – ชะลอมทำจากวัสดุธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับ BCG สีเส้นตอก 3 สี ได้แก่ สีน้ำเงิน สื่อถึงการเปิดกว้าง สีชมพู สื่อถึงการสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง และสีเขียวสื่อถึงความสมดุล ชวนนท์ฯ ได้บอกเล่าถึงแนวคิดและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยสอดแทรกความเป็นไทยให้สอดคล้องกับแนวคิดหลักการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย

ขอเชิญชวนชาวไทยทุกคนร่วมเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2565 ที่ดี พร้อมแสดงจุดยืนและบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ และมั่นใจว่า ประเทศไทยจะสามารถเป็นเจ้าภาพที่ส่งผลอย่างรูปธรรมให้กรอบการทำงานเอเปคในปี 2565 ได้อย่างแน่นอน ตามแนวคิดหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” 

ท่านผู้อ่านทุกท่านสามารถติดตามข่าวสารการเป็นเจ้าภาพเอเปคจากช่องทางสื่อของกระทรวงการต่างประเทศและช่องทางของ #APEC2022THAILAND ผ่านช่องทางสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Twitter, IG และ LinkedIn