เทคโนโลยี Deepfake ปลอมได้ทุกสิ่ง “มีสติ-ศึกษา-แยกแยะ” ก่อนเชื่อ

เทคโนโลยี Deepfake ปลอมได้ทุกสิ่ง  “มีสติ-ศึกษา-แยกแยะ” ก่อนเชื่อ

ปัจจุบันคำว่า Deepfake ครอบคลุมการสร้างภาพ วิดีโอ หรือเสียงปลอม ที่ดูเหมือนกับคนที่ถูกปลอมจริงๆ มาก จนคนทั่วไปเริ่มไม่สามารถแยกออกได้ว่า นี่คือสิ่งที่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยี "เอไอ"

เมื่อช่วงต้นปีนี้มีหลายคนได้เห็นคลิปสั้นๆ ใน TikTok ที่พระเอกหนัง Tom Cruise ออกมาแสดงท่าทางต่างๆ ทุกคนที่เห็นคลิปดังกล่าวถ้าไม่มีใครบอกอะไรก็คงคิดว่าเป็นคลิปของ Tom Cruise จริงๆ เพราะดูเหมือนตัวจริงมาก แต่โชคดีที่ผู้ทำคลิปดังกล่าวแท็กไว้ภายหลังว่า #deeptomcruise เพื่อบอกว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีเอไอที่เรียกว่า Deepfake มาสร้างคลิปนี้ โดยนำคลังภาพของ Tom Cruise ที่มีอยู่ทั่วไปมาใช้

คำว่า Deepfake เริ่มมีการกล่าวถึงในปี 2017 หมายถึงการทำสื่อสังเคราะห์ (Synthetic Media) ที่เป็นการนำภาพหรือวิดีโอของคนใดคนหนึ่งมาสลับกับคนอื่นที่มีรูปร่างคล้ายกัน ใช้เทคโนโลยี Deep Learning ของเอไอ ปัจจุบันคำว่า Deepfake ครอบคลุมการสร้างภาพ วิดีโอ หรือเสียงปลอม ที่ดูเหมือนกับคนที่ถูกปลอมจริงๆ มาก จนคนทั่วไปเริ่มไม่สามารถแยกออกได้ว่า นี่คือสิ่งที่สร้างขึ้นด้วยเอไอ

ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีเอไอ ทำให้การสร้างวิดีโอ ภาพ หรือเสียงปลอมเหล่านั้นทำได้ง่าย และรวดเร็วขึ้น จนคนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เพียงมีคลังข้อมูลภาพหรือเสียงคนที่ต้องการปลอมจำนวนมาก ก็สามารถที่จะหาซอฟต์แวร์ในการสร้างวิดีโอปลอมเหล่านี้มาทำได้เอง และด้วยประสิทธิภาพอัลกอริทึมที่เก่งขึ้น ทุกวันก็ยิ่งทำให้วิดีโอปลอมเหล่านี้ ดูเหมือนจริงยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ จนคนอาจแยกไม่ออก

ตัวอย่างของอัลกอริทึม หนึ่งด้านเอไอที่ใช้ในการสร้างภาพปลอม คือ Generative Adversarial Networks (GAN) ซึ่งเริ่มต้นมาเมื่อปี 2014 ที่เป็นการใช้ระบบเอไอสองชุดในการสร้างภาพขึ้นมา เอไอชุดหนึ่งจะเป็นการสร้างภาพปลอมจากคลังข้อมูลภาพเก่า และเอไออีกชุดทำหน้าที่คอยตรวจจับว่าภาพที่สร้างขึ้นมาเป็นของปลอมหรือไม่ ทั้งนี้ระบบ GAN จะทำการสร้างภาพปลอมไปเรื่อยๆ จนกระทั่งชุดเอไอที่คอยตรวจจับไม่สามารถแยกออกได้ว่า “นี่เป็นภาพปลอม”
 

เราได้เห็นประสิทธิภาพระบบ GAN ที่สร้างภาพปลอมได้เก่งขึ้นเรื่อยๆ จากในปี 2014 ที่คอมพิวเตอร์สร้างภาพใบหน้าคนปลอมได้เป็นภาพขาวดำที่ไม่ละเอียดมากนัก จนปัจจุบันกลายเป็นภาพสีที่คมชัดเหมือนภาพถ่ายของคนจริงๆ (ถ้าผู้อ่านสนใจจะดูภาพใบหน้าคนที่สร้างด้วย GAN ผมแนะนำให้ลองเข้าไปดูที่เว็บไซต์ thispersondoesnotexist.com ที่จะแสดงภาพใบหน้าคนที่ถูกสร้างด้วยเทคโนโลยีเอไอ ซึ่งจะดูเหมือนคนจริงๆ มาก จนเราแยกไม่ออก)

มีรายงานของบริษัท Sensity.ai เรื่อง The State of Deepfakes 2020 ระบุว่า นับถึงเดือนมิถุนายน ปี 2020 มีคลิปวิดีโอที่เป็น Deepfake เผยแพร่อยู่ทั่วโลกถึง 49,081 คลิป ในขณะที่เดือนมกราคมปี 2020 มีเพียง 24,263 คลิป และมี 7,964 คลิปในปลายปี 2018 ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า จำนวนคลิปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และบางคลิปมีจำนวนคนดูหลายล้านคน

คนที่เป็นเป้าหมายถูกนำมาทำ Deepfake ส่วนใหญ่เป็นคนดังในวงการบันเทิงมีถึง 62.7% ตามด้วยวงการแฟชั่น 21.7% วงการกีฬา 4.3% และวงการการเมือง 4.0% และคิดว่าทุกคนคงไม่แปลกใจหากผลระบุว่า Deepfake ส่วนใหญ่ 96% เป็นการทำคลิปโป๊ และเหยื่อส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง คลิป Deepfake ที่พบส่วนใหญ่ 50% มาจากสหรัฐอเมริกา ตามด้วยสหราชอาณาจักรมี 20% เกาหลีใต้ 9.6% อินเดีย 5%  และญี่ปุ่น 4% 

ความน่ากลัวของ Deepfake คือ อนาคตเทคโนโลยี อาจสามารถปลอมทุกสิ่งทุกอย่างได้ จนไม่สามารถแยกออกได้ว่า อันไหนจริง อันไหนปลอม รัฐบาลหลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญการหามาตรการป้องกัน รวมถึงตรวจจับการใช้เทคโนโลยีนี้ และบ้างก็มีสร้างระบบเอไอขึ้นมาเพื่อตรวจจับคลิป หรือเสียงที่สร้างจาก Deepfake แต่ทุกครั้งที่จับได้ คนที่ทำ Deepfake จะพัฒนาอัลกอริทึมให้เก่งขึ้นอีกเพื่อให้ตรวจจับไม่ได้ จนมีคนบอกว่า เทคโนโลยีคงไม่สามารถช่วยในการตวจจับได้ ดังนั้นแทนที่จะดูว่าอันไหนของจริง ปลอม ควรดูจากแหล่งข้อมูลที่ส่งออกมาดีกว่าว่าน่าเชื่อถือหรือไม่

ในปัจจุบันเริ่มมีการนำ Deepfake มาใช้กับงานด้านการเมือง จนผู้เชี่ยวชาญเริ่มมีการกล่าวกันว่า ต่อไปจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดผลการเลือกตั้ง เพราะอาจมีการสร้างคลิปหรือเสียงปลอมออกมา และกว่าจะทราบว่าเป็นของปลอม การลงคะแนนก็อาจผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งเราก็เริ่มเห็นแล้วว่าปัจจุบันข้อมูลเท็จมีอยู่มากมาย ทุกคนเริ่มมีชุดข้อมูลในความเชื่อของตัวเอง จนไม่สามารถแยกได้ว่า ข้อมูลใดจริงหรือเท็จ และยิ่งถ้าเปลี่ยนจากแค่ข้อมูลที่เป็นข้อความธรรมดา หรือภาพตกแต่งตัดต่อธรรมดา แล้วกลายมาเป็นคลิปหรือเสียงที่สร้างด้วยเทคโนโลยี Deepfake คนจะยิ่งแยกแยะยากขึ้นไปอีก

เรากำลังก้าวเข้าไปสู่โลกยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถปลอมได้หมด ความจำเป็นที่จะต้องสอนให้คนเรียนรู้ ค้นคว้า แยกแยะข้อมูล ยิ่งจำเป็นต้องมีมากขึ้น อย่าพยายามอ่านหรือดูเฉพาะข้อมูลที่ถูกส่งต่อมาให้ เพราะระบบเอไอจะยิ่งเน้นส่งข้อมูลชุดความเชื่อของตัวเองมาให้ สุดท้ายสิ่งที่สำคัญสุดคือ “เราต้องมีสติ” ศึกษาข้อมูลเยอะๆ อย่าเชื่ออะไรง่ายไป และต้องสอนเรื่องการค้นคว้าข้อมูลต่างๆ การแยกแยะข้อมูลตั้งแต่วัยประถม มิฉะนั้นแล้วคนในสังคมจะไม่สามารถแยกแยะข้อมูลจริงหรือเท็จได้ในโลกของยุค Deepfake