ว่าด้วยเรื่องของ “เทค-คอมพานี” (Tech company)

ว่าด้วยเรื่องของ “เทค-คอมพานี” (Tech company)

คำว่า “เทค-คอมพานี” (Tech company) ที่หมายถึง “บริษัทเทคโนโลยี” ได้รับการกล่าวถึงบ่อยครั้งมากขึ้นในข่าวสารด้านธุรกิจและนวัตกรรมของไทยในระยะหลังๆ ที่ผ่านมา

รวมถึงคำในกลุ่มเดียวกัน เช่น เทค-สตาร์อัพ ธุรกิจเทคโนโลยี ฯลฯ ที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ของธุรกิจให้ดูทันสมัย น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทขนาดกลาง ขนาดเล็ก และบริษัทเริ่มใหม่

หากจะลองสืบค้นดูว่า เทค-คอมพานี รายใหญ่ของโลกในปัจจุบัน ก็จะพบชื่อบริษัทต่าง ๆ เรียงตามลำดับมูลค่าโดยรวม ได้แก่ APPLE, AMAZON, FACEBOOK, Alphabet (บริษัทที่เป็นเจ้าของ Google), Microsoft, TWITTER, ALIBABA, NETFLIX, PAYPAL และ TESLA เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า บริษัทเหล่านี้มีทั้งบริษัทที่มีอายุกว่า 20 ปีมาแล้วก็มี บริษัทที่มีอายุปานกลาง และบริษัทค่อนข้างใหม่ก็มี และมีข้อสังเกตที่เด่นชัดอีกประการหนึ่งก็คือ บริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจากการเป็นธุรกิจขนาดเล็กมาก แต่สามารถสร้างการเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจนกลายมาเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำของโลกได้

โดยมีกลไกสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตด้วยการใช้ “เทคโนโลยี” ที่เกิดจากวิสัยทัศน์ ความคิดริเริ่ม หรือการคิดค้นทดลองด้วยตนเองของผู้ก่อตั้งธุรกิจ จนสามารถสร้างนวัตกรรมที่มีความแปลกใหม่และทันสมัย ที่มีอิทธิพลถึงกับเกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตให้กับคนส่วนใหญ่จากเดิมมาสู่วิถีใหม่ที่บริษัทนำเสนอหรือชี้นำออกสู่ตลาด

ส่วนใหญ่ของ “เทคโนโลยี” ที่นำมาใช้ มักจะเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล อินเตอร์เน็ต ระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และอีคอมเมิร์ซ

บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ ยังมักจะมีการลงทุนด้านการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอัตราที่สูง และมักจะเป็นเจ้าของสิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญาที่จดทะเบียนไว้ในจำนวนที่สูงกว่าบริษัททั่วไปมาก

บริษัทเหล่านี้ เดิมถูกเรียกว่า บริษัท “ดอท.คอม” รุ่งเรืองมาในยุคหนึ่ง และเกิดปรากฏการณ์ล่มสลายของ บริษัท “ดอท.คอม” เหล่านี้ เนื่องจากความมั่นใจทางธุรกิจที่สูงเกินไป และการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างผู้เล่นหน้าใหม่ที่ต้องการเข้าแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด โดยที่พื้นฐานด้านเทคโนโลยีของบริษัทยังไม่แข็งแกร่ง หรือไม่สามารถสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ที่คิดไว้ให้เกิดขึ้นจริงได้

ต่อมา บริษัท “ดอท.คอม” ก็ฟื้นคืนชีพมาในรูปที่มีพื้นฐานที่แข็งแรงขึ้นในนามของ “เทค-คอมพานี”

ความหมายหรือคำนิยามว่าบริษัทใดจะสามารถเรียกตัวเองได้ว่าเป็น เทค-คอมพานี ในปัจจุบันถึงแม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนนัก ขึ้นอยู่กับการตีความของฝ่ายบริษัทเองส่วนใหญ่ แต่โดยทั่วไปแล้ว หากบริษัททำธุรกิจหรือค้าขาย โดยมีรายได้จากการขายส่วนใหญ่เกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่งกับเทคโนโลยี ที่เกิดจากการความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มาเป็นกลไกหลักในการช่วยแก้ปัญหา สนองความต้องการ หรือสร้างความพึงพอใจใหม่ให้กับผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะถือได้ว่าเข้าข่ายที่นับว่าเป็น เทค-คอมพานี หรือ บริษัทเทคโนโลยี ได้ในความหมายกว้าง

โดยจะครอบคลุมถึง บริษัทที่วิจัยและพัฒนาสร้างเทคโนโลยีออกมาเพื่อจำหน่าย บริษัทที่นำเทคโนโลยีที่ซื้อมาใช้ประกอบการดำเนินธุรกิจของตนเอง บริษัทที่นำระบบสารสนเทศไอทีมาใช้ บริษัทที่พัฒนาซอฟต์แวร์ บริษัทที่ทำธุรกิจด้านหุ่นยนต์และระบบทำงานอัตโนมัติ บริษัทที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มดิจิตัล บริษัทที่นำเทคโนโลยีดิจิตัลมาใช้ทดแทนกระบวนการทำงานแบบเดิม รวมไปถึง บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี ฯลฯ ต่างก็สามารถเรียกตัวเองได้ว่าเป็น เทค-คอมพานี หากกิจกรรมทางธุรกิจดังกล่าว เป็นตัวสำคัญที่สร้างรายได้หลักอย่างมีนัยสำคัญให้กับบริษัท

ปัจจัยประกอบการพิจารณาอีกประเด็นหนึ่ง ได้แก่ จำนวนบุคลากรทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทำงานในบริษัทจะต้องมีสัดส่วนมากกว่าในบริษัททั่วๆ ไป ที่จะทำให้ช่วยแยกบริษัทในธุรกิจประเภทเดียวกันว่า บริษัทใดที่จะเรียกได้ว่าเป็น เทค-คอมพานี และบริษัทใดที่น่าจะเป็นเพียงบริษัทที่ทำธุรกิจแบบปกติทั่วไป

แต่ที่ยอมรับกันได้อย่างหนึ่งก็คือ หากบริษัทใดทำการประชาสัมพันธ์อย่างแพร่หลายว่า ตนเองเป็น เทค-คอมพานี หรือกำลังจะปรับทิศทางไปสู่การเป็น เทค-คอมพานี ในอนาคตอันใกล้นี้

ก็จะช่วยสร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือให้เพิ่มขึ้นจากเดิมได้อย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ !!??!!