การระงับ ข้อขัดแย้ง โดยวิธีการ ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท | ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน

การระงับ ข้อขัดแย้ง โดยวิธีการ ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท | ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน

การระงับข้อขัดแย้งโดยวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เป็นหนึ่งในทางออกเมื่อกระบวนการศาล ที่เคยสามารถจัดการความขัดแย้งในสังคมไทยในอดีตได้ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ในปัจจุบัน เมื่อสังคมไทยทุกวันนี้มีความสลับซับซ้อนยิ่งกว่าในอดีต

ผู้เขียน : ดร.ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

สังคมไทยในปัจจุบันเป็นสังคมขนาดใหญ่ที่มีความสลับซับซ้อนยิ่งกว่าในอดีต ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียิ่งทำให้วิถีชีวิตของประชาชนมีความเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้สภาพปัญหาและข้อขัดแย้งทางสังคมเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น 

ในอดีตสังคมไทยใช้วิธีจัดการความขัดแย้งโดยผ่านกระบวนการทางศาล ซึ่งเห็นได้ว่าไม่ใช่วิธีจัดการกับความขัดแย้งที่ดีที่สุด เพราะนอกจากจะมีต้นทุนสูงทั้งในด้านเวลาและค่าใช้จ่ายแล้ว บ่อยครั้งที่กระบวนการศาลไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งให้หมดไปได้ แต่กลับลุกลามกลายเป็นความแค้นระหว่างครอบครัวและญาติพี่น้องของคู่พิพาท อันเป็นความขัดแย้งเรื้อรังไม่มีวันสิ้นสุด 

ปัจจุบันหลายฝ่ายจึงให้ความสำคัญกับการนำ วิธีการไกล่เกลี่ย (Mediation) มาใช้ในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 ที่ได้กำหนดแนวทางในการส่งเสริมระบบยุติธรรมทางเลือก ระบบยุติธรรมชุมชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม โดยส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมทางเลือกในรูปแบบต่าง ๆ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงความเป็นธรรม รวมถึงการพัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

การหาทางออกร่วมกันโดยใช้วิธีการไกล่เกลี่ยจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคู่ความที่ไม่ต้องการเสียเวลาในการดำเนินคดีความที่ยืดเยื้อ ด้วยการร่วมกันทำความเข้าใจและแก้ปัญหานั้น ๆ โดยมีคนกลางคอยช่วยเหลือชักจูงให้คู่พิพาทยอมเจรจาหันหน้าพูดคุยกัน  เนื่องจากการให้คู่ความเจรจาตกลงกันเองมักจะไม่เป็นผลสำเร็จด้วยเหตุต่าง ๆ เช่น การไม่รู้วิธีการเจรจาที่ถูกต้อง การไม่ไว้วางใจคู่กรณีอีกฝ่าย การไม่เคารพเชื่อถือซึ่งกันและกัน มีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันและไม่ยอมผ่อนปรนแก่กัน อารมณ์โกรธเคือง ตลอดจนปัญหาการไม่รู้กฎหมาย เป็นต้น

สำนักงานศาลยุติธรรมก็มีนโนบายสนับสนุนและพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยนำกระบวนการดังกล่าวมาใช้ควบคู่ไปกับการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีของศาลเพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่คู่ความและประชาชนในการยุติข้อพิพาทด้วยหลักสมานฉันท์และสันติวิธี โดยวิธีการที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัด และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ในโครงการส่งเสริมพัฒนาและเผยแพร่การระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยการนำระบบไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องไปใช้ก่อนคดีเข้าสู่ศาลเพื่อช่วยลดและแบ่งเบาภาระคดีของศาลอีกทางหนึ่ง

นอกจากการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นศาลแล้ว ในปัจจุบันยังเปิดโอกาสให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนชั้นศาลอีกด้วย โดยเป็นไปตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 

พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 ตราขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์ไม่มากนัก และข้อพิพาททางอาญาบางประเภทมากำหนดเป็น “กฎหมายกลาง” เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ พนักงานสอบสวน หรือศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนใช้ในการยุติหรือระงับข้อพิพาท โดยคำนึงถึงความยินยอมของคู่กรณีเป็นสำคัญ ทำให้ปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลลดน้อยลง ลดปัญหาความขัดแย้ง เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในสังคม ลดงบประมาณแผ่นดิน และเสริมสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข

พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ยังได้เพิ่มประสิทธิภาพของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพื่อแก้ปัญหาการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างคู่กรณีทั้งสองฝ่ายในกระบวนการไกล่เกลี่ย โดยมาตรา 32 กำหนดให้คู่พิพาทฝ่ายที่เสียหายจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือข้อตกลงระงับข้อพิพาทสามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้บังคับตามข้อตกลงนั้นได้

จะเห็นได้ว่ากฎหมายดังกล่าวสามารถทำให้กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนอกศาลในหน่วยงานต่าง ๆ ที่นำกฎหมายฉบับนี้ไปบังคับใช้กับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของหน่วยงานเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น มีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน ส่งผลให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของหน่วยงานมากขึ้น และอาจช่วยให้จำนวนคดีที่จะขึ้นสู่ศาลในแต่ละปีลดลงได้ด้วย

ในส่วนของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ขอขึ้นทะเบียนเป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน เพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 และระเบียบกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน พ.ศ. 2562 

ศูนย์ดังกล่าวมีสถานที่ตั้ง ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิไกลทยาลัยสงขลานครินทร์ และได้รับการอนุมัติจัดตั้งเป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทะเบียนเลขที่ คกช.สข 110401 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ โดยมุ่งหวังจะเป็นกลไกช่วยอำนวยความยุติธรรมให้กับสังคมอีกช่องทางหนึ่ง 

กล่าวโดยสรุป การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจึงเป็นกระบวนการที่คาดหวังว่าจะสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีผู้ไกล่เกลี่ยที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติรับรองมาเป็นคนกลางในการช่วยคู่กรณีทั้งสองฝ่ายให้ประสบความสำเร็จในการเจรจาต่อรอง เพื่อหาทางออกร่วมกันโดยสันติวิธีจากสถานการณ์ความขัดแย้ง และยังเป็นวิธีการที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัด และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย อันจะมีผลเป็นการเสริมสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขในท้ายที่สุด.