แนวโน้มการปกป้อง เวลาส่วนตัว ของพนักงานในต่างประเทศ

แนวโน้มการปกป้อง เวลาส่วนตัว ของพนักงานในต่างประเทศ

ช่วง work from home หลายคนคงรู้สึกว่าเวลาส่วนตัวหายไปหรือทำงานมากขึ้นกว่าตอนที่ไปที่ทำงาน แม้แต่รัฐบาลในหลายๆ ประเทศก็ตระหนักถึงปัญหานี้ และเริ่มมีความพยายามที่จะออกกฎหมายคุ้มครอง เวลาส่วนตัว ของพนักงาน

การติดต่อเรื่องงานนอกเวลางาน ไม่ว่าจะโดยทางอีเมล โทรศัพท์ หรือแอพพลิเคชั่นในการสื่อสารต่างๆ เช่น ไลน์ อาจจะเป็นเรื่องที่ทุกคนพบเจอจนกลายเป็นสิ่งปกติ แต่บางคนก็มองเป็นการละเมิดเวลาส่วนตัวของพนักงาน จึงเป็นที่มาที่ทำให้เกิดแนวคิดที่เรียกว่า “สิทธิที่จะตัดขาดจากการติดต่อ” หรือที่เรียกว่า Right to disconnect

หากเรามองย้อนกลับไป การที่เวลาส่วนตัวของพนักงานนั้นหายไป หรือการที่เส้นแบ่งระหว่างเวลางานกับเวลาส่วนตัวหายไปนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนช่วงโควิดแล้ว อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสารที่ทำให้การติดต่อกันนั้นสะดวกสบายและง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอย่างมาก โดยที่สถานการณ์โควิดก็เป็นเพียงแค่ตัวเร่งปฏิกิริยาเท่านั้น

ในประเทศฝรั่งเศส แนวคิดเกี่ยวกับ Right to disconnect เริ่มต้นมาจากคำพิพากษาของศาลฎีกาปี 2547 ว่าการที่ไม่รับโทรศัพท์นอกเวลางาน ไม่ถือเป็นเหตุโดยชอบที่จะเลิกจ้างลูกจ้าง แนวคิดนี้ถูกพัฒนาต่อเนื่องมาจนกระทั่งปี 2559 ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิที่จะตัดขาดจากการติดต่อ โดยกำหนดให้ลูกจ้างไม่จำเป็นต้องรับโทรศัพท์ อ่านอีเมลหรือข้อความจากนายจ้างนอกเวลางาน และในปีเดียวกันนั้นเอง ประเทศอิตาลีและสเปนก็ได้ออกกฎหมายที่คล้ายคลึงกัน

ในช่วงโควิด หลายๆ ประเทศ เช่น เม็กซิโก แคนาดาและอังกฤษ ก็ได้เริ่มออกกฎหมายหรือพิจารณาร่างกฎหมายที่คล้ายคลึงกัน ในขณะที่ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ทำงานงานหนักอย่าง “ญี่ปุ่น” ก็มีการเรียกร้องให้ออกกฎหมายลักษณะดังกล่าวเช่นกัน เช่น การกล่าวถึง “สิทธิที่จะตัดขาดจากการติดต่อ” ไว้ภายในนโยบายเกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน จัดทำโดยสมาพันธ์สหภาพแรงงานแห่งญี่ปุ่น 

นอกจากนี้ ร่างตัวอย่างข้อบังคับการทำงานที่จัดทำโดยสมาพันธ์สหภาพแรงงานแห่งญี่ปุ่น ก็มีข้อกำหนดที่เกี่ยวกับ “สิทธิที่จะตัดขาดจากการติดต่อ” หรือการติดต่อนอกเวลางานอยู่ 4 ข้อ 
1) ห้ามบริษัทติดต่อพนักงานนอกเวลางานไม่ว่าโดยวิธีใด ยกเว้นกรณีมีความเร่งด่วนสูง 
2) ห้ามพนักงานติดต่อพนักงานคนอื่นนอกเวลางานไม่ว่าโดยวิธีใด ยกเว้นกรณีมีความเร่งด่วนสูง 
3) พนักงานไม่จำเป็นต้องตอบสนองต่อการติดต่องานจากบริษัทหรือพนักงานคนอื่นนอกเวลางาน 
4) บริษัทต้องไม่นำการไม่ตอบสนองดังกล่าวไปใช้การประเมินผลงานในทางที่พนักงานคนดังกล่าวจะเสียประโยชน์

ถึงแม้ กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่น จะได้ปรับปรุงแนวทางเกี่ยวกับการทำงานที่บ้านเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ร่างแนวทางฉบับแก้ไขดังกล่าวไม่มีการพูดถึง “สิทธิที่จะตัดขาดจากการติดต่อ” อย่างชัดเจน มีเพียงการพูดถึงการที่ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มในส่วนของการทำงานนอกเวลา และตัวอย่างของการจัดการเรื่องชั่วโมงทำงานที่ยาวเกินไป เช่น การจำกัดการเข้าถึงระบบของบริษัท หรือการจำกัดการส่งและรับอีเมล

แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะยังไม่ได้ออกร่างกฎหมายที่เป็นรูปธรรม แต่ในส่วนของภาคเอกชนก็มีหลายบริษัทที่เริ่มออกนโยบายภายในมาเพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว เช่น การออกกฎให้ไม่ส่งอีเมลติดต่องานนอกเวลางานหากไม่จำเป็น เพราะการที่ให้พนักงานได้หยุดพักผ่อนที่เพียงพอนั้นจะช่วยลดความเหนื่อยล้าของพนักงาน และส่งผลกับประสิทธิภาพการทำงาน

นอกจากนี้ แนวโน้มการให้อิสระในการเลือกสถานที่และเวลาทำงานก็เห็นมากขึ้นในประเทศญี่ปุ่น เช่น บริษัทยูนิลีเวอร์ (Unilever) ได้ออกระบบ WAA (Work from Anywhere and Anytime) โดยให้อิสระแก่พนักงานในการเลือกสถานที่ทำงาน กำหนดเวลาทำงานและเวลาพักในช่วง 6 โมงเช้าถึง 3 ทุ่มได้เอง 

ดังนั้น การออกแบบนโยบายการห้ามติดต่อนอกเวลางาน จะต้องถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับระบบการกำหนดเวลาและสถานที่ทำงานของบริษัทนั้นๆ หลายๆ บริษัทก็นำเทคโนโลยีมาใช้ในส่วนนี้ เช่น ระบบที่ให้พนักงานตรวจสอบเวลาทำงานของเพื่อนร่วมงาน หรือระบบที่ตัดการติดต่ออัตโนมัติเมื่อถึงกำหนดเวลาหลังเลิกงาน

ในส่วนของประเทศไทยนั้น แนวคิดเรื่อง “สิทธิที่จะตัดขาดจากการติดต่อ” หรือที่เรียกว่า Right to disconnect อาจจะยังไม่มีความชัดเจนมากนัก ก็น่าจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่าประเทศไทยเราเองจะเดินไปในทิศทางใดในเรื่องนี้.