ให้เด็กเขียน “ดี” กับสมองมากกว่าพิมพ์ |บวร ปภัสราทร

ให้เด็กเขียน “ดี” กับสมองมากกว่าพิมพ์ |บวร ปภัสราทร

"เรียนออนไลน์" กันวันหนึ่งหลายชั่วโมง จดกันไม่ไหว ทำให้ลูกหลานเริ่มเปลี่ยนใจไป "พิมพ์" บนแป้นพิมพ์มากกว่าที่จะ "เขียนข้อความ" หรือจดบันทึกบนกระดาษด้วยปากกาหรือดินสอ

ดูเหมือนว่าลูกหลานเราเก่งดิจิทัลทำทุกอย่างได้จากแป้นพิมพ์และเมาส์ แต่การเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องดีสำหรับการพัฒนาสมองส่วนที่เกี่ยวกับการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ จากการวิจัยหลายครั้งหลายสถานการณ์ยังยืนยันตรงกันว่า การบันทึกการเรียนโดยการเขียน ทำให้เกิดการพัฒนาสมองที่นำไปสู่ความสามารถในการเรียนรู้ที่ดีกว่า จดจำได้ดีกว่า คิดวิเคราะห์ได้ดีกว่า 

ถ้าเชื่อการวิจัยเหล่านี้ พ่อแม่คงต้องสนับสนุนให้ลูกที่อาจจะยังต้องเรียนออนไลน์จากหน้าจอ ให้พยายามจดบันทึกการเรียนลงในสมุดบันทึกโดยการเขียน จะเขียนในกระดาษจริง ๆ หรือจะเขียนในหน้าจอสัมผัสของแท็บเล็ตก็ได้ แม้จะมีผลกับพัฒนาการของสมองต่างกัน แต่ก็ยังดีกว่าการพิมพ์อยู่มาก การเขียนจะมีผลกับความทรงจำ และการคิดวิเคราะห์ดียิ่งขึ้น หากมีการใช้ปากกาหลายสี และมีการเขียนรูปภาพประกอบในการบันทึกการเรียนนั้นพร้อมกันไปด้วย 

การพัฒนาสมองที่เกี่ยวกับความรู้อธิบายได้จากการบันทึกการสแกนสมองด้วยเอ็มอาร์ไอ  และการวัดคลื่นไฟฟ้า EEG ซึ่งพบว่าการเขียนมีกิจกรรมของสมองส่วนที่เกี่ยวกับภาษา  การจดจำ การค้นหา และการมองมากกว่าการพิมพ์ การเขียนต้องการการประสานงานของสมองหลายส่วนร่วมกันมากกว่าการพิมพ์ จึงทำให้การเขียนส่งผลกับพัฒนาการของสมองด้านการเรียนมากกว่าการพิมพ์  มีการยืนยันล่าสุดจากการวิจัยของมหาวิทยาลัยโตเกียวที่มีการเผยแพร่ในวารสารวิจัยด้านวิทยาการสมองเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 

ในงานวิจัยนี้ได้ทดลองให้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนรุ่นหนุ่มสาว ทดลองจดบันทึกกำหนดการทำงาน และงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำ โดยกลุ่มหนึ่งจดลงในสมุดบันทึก กลุ่มสองบันทึกลงในแท็บเล็ตโดยการเขียนกำหนดการและงานที่ได้รับมอบหมายลงบนหน้าจอสัมผัส กลุ่มสามพิมพ์จากแป้นพิมพ์บนหน้าจอสมาร์ทโฟน

เมื่อบันทึกไว้เรียบร้อยแล้วสักระยะเวลาหนึ่งที่ไม่นานนัก ก็มีการทดสอบความจำเกี่ยวกับกำหนดการและงานที่ได้รับมอบหมายจากทั้งสามกลุ่มตัวอย่าง และพบว่ากลุ่มหนึ่งที่เขียนลงในสมุดบันทึกตอบกำหนดการ และงานที่ได้รับมอบหมายได้ถูกต้องและครบถ้วนมากที่สุด  กลุ่มสองจำได้น้อยกว่าแต่ยังได้สาระสำคัญ กลุ่มสามที่พิมพ์ลงไปโดยตรงมีความจำที่คลาดเคลื่อนมากที่สุด

แต่ไม่ได้หมายความเราควรละทิ้งแป้นพิมพ์ แล้วเปลี่ยนไปใช้จอสัมผัสเขียนงานทุกอย่าง การเขียนจะได้ประโยชน์เมื่อเป็นงานที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ เช่น ไปฟังบรรยายความรู้ใหม่ๆ หรือจดบันทึกประเด็นสาระสำคัญในการประชุม แต่การเขียนไม่มีประโยชน์อะไรแตกต่างจากการพิมพ์ ถ้าเป็นเพียงการรายงานสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว ลูกหลานควรพิมพ์รายงานส่งครู แต่ควรเขียนจดบันทึกสิ่งที่รู้จากการสอนของครู

ในทำนองเดียวกับที่เราใช้แป้นพิมพ์ หรือสั่งพิมพ์รายงานการประชุมด้วยเสียง แต่เราจดประเด็นสำคัญที่หารือกันในที่ประชุมด้วยการเขียนลงในกระดาษ หรือหน้าจอสัมผัส เลขานุการที่ประชุมพิมพ์รายงานการประชุมได้ ในขณะที่ประธานที่ประชุมควรจดประเด็นสำคัญของการประชุมด้วยการเขียน.

สาระใดก็ตามที่ต้องจดจำไปใช้คิดวิเคราะห์ในโอกาสต่อไป สาระนั้นควรบันทึกด้วยการเขียน เขียนในสิ่งที่ต้องจดจำไปคิด พิมพ์ในสิ่งที่เรารู้แล้วและต้องการถ่ายทอดให้คนอื่นได้รู้ เราพิมพ์ แต่คนอื่นควรเขียนบันทึกเรื่องนั้น

การเขียนลงในสมุดบันทึก กับการเขียนลงบนหน้าจอสัมผัส มีผลแตกต่างกันในพัฒนาการทางสมองของเด็กตามผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ที่บอกว่า เด็กควรใช้เวลาหน้าจอภาพประมาณสามถึงสี่ชั่วโมงต่อวัน เวลาหน้าจอที่มากกว่านี้จะส่งผลให้การนอนหลับมีเวลาน้อยลง  ตามมาด้วยการพัฒนาสมองที่ช้าลงจากเวลานอนที่ลดลงไปจากผลของการใช้เวลามากเกินไปกับหน้าจอ

ผลการทดลองในกลุ่มตัวอย่างที่ใช้เวลาหน้าจอต่อวันน้อยกว่าสามถึงสี่ชั่วโมง เทียบกับกลุ่มที่ใช้เวลามากกว่านั้น พบว่ากลุ่มที่ใช้เวลาหน้าจอน้อยกว่ามีความสามารถในการคิดวิเคราะห์มากกว่าประมาณห้าเปอร์เซนต์ ซึ่งแม้ว่าจะไม่มากนัก แต่ก็มากพอจะเห็นความแตกต่างในผลของการคิดวิเคราะห์ที่สะสมหลายเรื่องในระยะยาวได้  


    ใครที่พยายามให้เด็กเรียนออนไลน์ยาวนานทั้งวัน คนนั้นกำลังทำให้ลูกหลานคิดวิเคราะห์ได้น้อยลง.