อคติ....โดยไม่รู้ตัว ความเสี่ยงองค์กรยุค “DE&I”

อคติ....โดยไม่รู้ตัว ความเสี่ยงองค์กรยุค “DE&I”

อย่ามองข้าม "อคติโดยไม่รู้ตัว" หนึ่งในกรอบความความคิดที่หัวหน้างานและพนักงานจะต้องเข้าใจ เพื่อส่งเสริมความหลากหลาย เท่าเทียม และมีส่วนร่วม (Diversity, Equity & Inclusion) ให้องค์กรขับเคลื่อนผลลัพธ์และศักยภาพของคนในองค์กรอย่างจับต้องได้

อยากให้ผู้อ่านนึกภาพตามไปด้วยค่ะ... 

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาดิฉันมีคิวนัดฉีดวัคซีนโควิดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แถวๆ ย่านฝั่งธนฯ แต่ไม่อยากขับรถไปเอง เพราะเกรงว่าหากมีอาการแพ้ แล้วต้องขับรถอาจไม่ปลอดภัย จึงกดแอพ เรียกแกร็บให้มารับ

เมื่อมาถึงคนขับแนะนำตัวเองว่าชื่อ “บอล” ระหว่างทางเขาชวนคุยเรื่องสถานการณ์โควิดและเศรษฐกิจอย่างออกรสชาติ ตลอดทางจนถึง รพ. 

ภาพในใจที่ผู้อ่านจินตนาการตาม  คนขับแกรปท่านนี้เป็น ผู้ชาย หรือ ผู้หญิงคะ? 

ไม่ผิดแต่อย่างใดที่คนส่วนใหญ่ที่ได้ฟังเรื่องราวนี้จะคิดว่าคนขับแกร็บเป็น ผู้ชาย เพราะภาพจำของเราสำหรับคนขับรถรับจ้างส่วนใหญ่คือผู้ชายมากกว่าที่จะเป็นผู้หญิง และยิ่งมาชื่อ “บอล” อีก 

คุณบอลคนนี้ เป็นผู้หญิงค่ะ!!!!

ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตหรือในการทำงานก็เช่นกัน โดยเฉพาะเวลาที่เรายุ่งๆ กลไกของสมองก็จะสั่งการโดยอัตโนมัติให้เรานึกอะไรหลายๆ อย่างตามภาพจำ หรือประสบการณ์ในอดีตของเรา แต่ระบบ “Auto-pilot” ของสมองนี้เองที่อาจทำให้การตัดสินใจหลายอย่างของเราไม่เป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุด  หรือเกิดสิ่งที่เราเรียกว่า “อคติโดยไม่รู้ตัว” (Unconscious Bias)

อคติที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวนี้ ยังเป็นที่มาของความเสี่ยงที่อาจสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และองค์กรอาจโดนค่าปรับมหาศาลอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในหลายๆ แห่งในโลก ที่พนักงาน หรือผู้บริหารองค์กรโดนกล่าวหาว่ามีการเลือกปฏิบัติกับพนักงานต่างสีผิว ต่างเพศ ฯลฯ แม้ว่านโยบายขององค์กรให้การส่งเสริมความเสมอภาค ความหลากหลาย และการไม่เลือกปฏิบัติ 

แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่าความผิดพลาด (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) ของหัวหน้างาน หรือพนักงานเพียงคนเดียว หรือไม่กี่คน สามารถสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับองค์กรได้ องค์กรชั้นนำหลายแห่งจึงเห็นความสำคัญและกำหนดให้การตระหนักถึง “อคติโดยไม่รู้ตัว” เป็นหนึ่งใน กรอบความความคิดที่หัวหน้างานและพนักงานจะต้องเข้าใจ หรือผ่านการฝึกอบรม

แต่นอกจากป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อองค์กรแล้วการบริหารจัดการ “อคติโดยไม่รู้ตัว” ที่ช่วยส่งเสริมความหลากหลาย เท่าเทียม และมีส่วนร่วม (Diversity, Equity & Inclusion) ยังสามารถช่วยองค์กรขับเคลื่อนผลลัพธ์และศักยภาพของคนในองค์กรอย่างจับต้องได้

ผลการศึกษาเรื่อง “Diversity Wins” ของ McKinsey ที่เผยแพร่เมื่อพฤษภาคม 2563 พบว่าองค์กรที่มีความแตกต่างหลากหลายด้านเชื้อชาติและวัฒนธรรม มีโอกาสสร้างผลกำไรได้มากกว่าองค์กรที่ให้ความสำคัญน้อยกว่าถึง 36%  ขณะที่องค์กรที่มีความหลากหลายทางเพศของทีมผู้บริหารระดับสูง มีแนวโน้มที่จะมีผลกำไรดีกว่าองค์กรที่ให้ความสำคัญน้อยกว่าถึง 25% 

ทั้งนี้ ดิฉันอยากขอเพิ่มเติมว่าเรื่องของ Diversity, Equity & Inclusion (DE&I) นั้นไม่ได้หมายถึงแค่ เพศ หรือเชื้อชาติ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงมิติอื่นๆ ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น วัย รสนิยม ความคิด ความเชื่อ และพลังของความแตกต่าง หลากหลายนี้เป็นที่ต้องการอย่างยิ่งขององค์กรในยุคปัจจุบันที่จำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การเปิดใจกว้าง การคิดต่าง การขยายสู่น่านน้ำและวัฒนธรรมใหม่ สินค้าใหม่ การคิดนอกกรอบ และการร่วมแรงร่วมใจของพนักงานทุกคน  

DE&I และ “อคติโดยไม่รู้ตัว” จึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะขององค์กรข้ามชาติ หรือองค์กรใหญ่เท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่องค์กรไทยทุกขนาดที่ต้องการจะเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปข้างหน้าไม่อาจละเลยได้

สนใจขอรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตร “อคติโดยไม่รู้ตัว: เข้าใจอคติเพื่อปลดปล่อยศักยภาพ” (Unconscious Bias: Understanding Bias to Unleash Potential) โดยสถาบัน FranklinCovey สหรัฐฯ (franklincovey.com) และ แพคริม กรุ๊ป

คลิก https://www.pacrimgroup.com/program/unconscious-bias/

หรือ ติดต่อคุณเบ็ญจวรรณ์ งามระลึก โทร. 083-495-6915  , อีเมล [email protected]

ศศยามนต์ ภักดิพงศ์พิชญะ

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศศยามนต์ ภักดิพงศ์พิชญะ เป็น Senior Consultant แพคริม กรุ๊ป