ซอฟท์พาวเวอร์ ในยุคดิจิทัล l ดร.อธิป อัศวานันท์

ซอฟท์พาวเวอร์ ในยุคดิจิทัล l ดร.อธิป อัศวานันท์

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการกล่าวถึง "ซอฟท์พาวเวอร์" อยู่หลายครั้ง จากแนวคิดของ “โจเซฟเนย์” ผู้ที่ได้บัญญัตินิยามของซอฟท์พาวเวอร์ (Soft Power) การเผยแพร่คุณค่าทางวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญในการเสริมสร้าง Soft Power ของชาติ

แต่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) ได้ดิสรัปรูปแบบเดิมของการเผยแพร่วัฒนธรรมและได้มีตัวอย่างของชาติมหาอำนาจทาง Soft Power ที่กำลังเกิดขึ้นมาใหม่ด้วยการอาศัย Digital Platform เหล่านี้

ณ เวลานี้คงจะไม่มีใครที่ไม่รู้จัก “สควิดเกม” (Squid Game) ซีรีย์เกาหลีที่กำลังถูกเผยแพร่ไปทั่วทุกมุมโลกผ่านแพลตฟอร์ม ของ เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) และได้ถูกยกย่องเป็น ตัวอย่างของความสำเร็จ ในการเสริมสร้าง Soft Power ของชาติเกาหลีให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีก

ความสำเร็จของ Squid Game ส่วนหนึ่งต้องมาจากยุทธศาสตร์ในการพัฒนา Digital Platform ของ Netflix ที่มีความแตกต่างจากคอนเทนท์แพลตฟอร์มจากยุคก่อนหน้า

คอนเทนท์แพลตฟอร์มจากยุคก่อนหน้าที่จำนวนมากเป็นเจ้าของโดยชาติตะวันตกที่ประกอบกิจการด้วยการเผยแพร่คอนเทนท์จากชาติตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา หรือ ฮอลลีวูดไปยังประเทศต่างๆ ผ่านช่องทางหลักที่เคยเฟื่องฟูในยุคก่อนดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์ดีวีดีบลูเรย์หรือกระทั่งเคเบิลทีวี

เราจึงอาจปฏิเสธไม่ได้ว่าฮอลลีวูดเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเสริมสร้าง Soft Power ของชาติสหรัฐ

แต่ยุทธศาสตร์ที่แตกต่างสำหรับ Netflix ก็คือการที่ให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ของชาติอื่นด้วยโดยผู้ที่ใช้งานจะมีทางเลือกและไม่ถูกบีบบังคับให้ต้องรับชมคอนเทนท์จากฮอลลีวูดเป็นหลัก

และผู้ผลิตคอนเทนท์ที่มีคุณภาพยังมีโอกาสที่จะเผยแพร่คอนเทนต์ไปยังประเทศต่าง ๆ อย่างพร้อม ๆ กันอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าแม้แต่ในประเทศไทยเองคอนเทนท์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดบนแพลตฟอร์มของ Netflix เกือบทั้งหมดมาจากภาคพื้นเอเซียด้วยกันและนานครั้งจึงจะมีคอนเทนท์จากฮอลลีวูดที่สามารถแทรกตัวเข้ามาอยู่ในรายการท็อปเท็นได้

อุบัติการณ์ของ Netflix จึงต้องถือว่าเป็นการปลดแอกที่สำคัญที่จะเปิดโอกาสให้ชาติอื่น ๆ ได้เผยแพร่วัฒนธรรมของตัวเองผ่านทางภาพยนตร์หรือซีรีย์ที่มีคุณภาพซึ่งจะเป็นการรอดพ้นจากถูกครอบงำโดย Soft Power จากฮอลลีวูดผ่านคอนเทนท์แพลตฟอร์มในยุคก่อนดิจิทัล

สำหรับประเทศไทยเองก่อนหน้านี้ก็มี “เด็กใหม่” ซีรีย์ไทยที่ได้ประสบความสำเร็จผ่านแพลตฟอร์มของ Netflix และได้รับความนิยมอยู่ในหลายประเทศจึงเป็นการเสริมสร้าง Soft Power ของชาติไทยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

Netflix เองก็เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของ Digital Platform ที่มีความเป็นกลางในด้านคอนเทนท์ ที่กำลังลดทอน Soft Power ของฮอลลีวูดเมื่อ Digital Platform เหล่านี้ กำลังเข้ามาแทนที่ คอนเทนท์แพลตฟอร์มจากยุคที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม Digital Platform เหล่านี้ เป็นเพียงโอกาส การที่จะการเสริมสร้าง Soft Power ของชาติยังคงต้องอาศัยอีกหลากหลายปัจจัยและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพราะชาติที่เป็นผู้นำทางด้าน Soft Power ได้การดำเนินการอย่างเป็นยุทธศาสตร์ในระดับชาติก่อนหน้าเรามาหลายทศวรรษแล้ว