4 ปัจจัยความสำเร็จ กระจายวัคซีนโควิด "กัมพูชา"

4 ปัจจัยความสำเร็จ  กระจายวัคซีนโควิด "กัมพูชา"

ขณะนี้ประชากรไทยจำนวน 26,474,522 คนได้รับวัคซีนโควิด-19 จนครบแล้ว คิดเป็น 38% ของประชากรไทยทั้งหมดเกือบ 70 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ต.ค.)

ดังนั้น ประเทศไทยจึงยังห่างไกลกับการเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งคือการฉีควัคซีนให้ประชากรกว่า 70% ของประชากรทั้งหมด

หากเปรียบเทียบการกระจายวัคซีนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับเรา อย่างเมียนมา ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย สามารถเรียงลำดับความสามารถในการกระจายวัคซีนที่มากและเร็วจนเข้าใกล้ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศนั้น ๆ จากดีที่สุดไปแย่ที่สุดดังนี้ กัมพูชา มาเลเซีย ไทย ลาว และเมียนมา

จากข้อมูล ณ วันที่ 20 ต.ค. พบว่า มาเลเซียกระจายวัคซีนครบโดสแก่ประชาชนแล้วกว่า 22.9 ล้านคน คิดเป็น 74% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่กัมพูชาได้ฉีดวัคซีนจนครบโดสแก่ประชาชนจำนวน 12.6 ล้านคน หรือ 78% ของประชากรทั้งหมด และจากรายงานของ Mekong Strategic Partners พบว่าประชากร 99.9% ในกรุงพนมเปญของกัมพูชานั้นได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว

ตัวเลขเหล่านี้จึงเป็นที่น่าสนใจและสมควรให้เวลาทำความเข้าใจถึงปัจจัยความสำเร็จของสองประเทศนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกัมพูชา เพราะหากเปรียบเทียบในเชิงทรัพยากร (GDP) และระบบสาธารณสุข ระหว่างกัมพูชา มาเลเซีย และไทยแล้ว จะพบว่าทั้งไทยและมาเลเซียนั้นมีทรัพยากรที่มากกว่า และระบบสาธารณสุขของไทยและมาเลเซียนั้นก็ดีกว่า แต่ทำไมกัมพูชาจึงทำได้ดีกว่าเรา?

แน่นอนว่าจำนวนประชากรกัมพูชาที่ 17 ล้านคนนั้นเป็นปัจจัยหลักที่เอื้อให้กัมพูชานั้นสามารถก้าวเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ที่เร็วกว่าไทย แต่จำนวนประชากรที่น้อยก็ไม่ไช่เหตุผลหลักที่ทำให้การกระจายวัคซีนนั้นสำเร็จได้เร็ว อย่างกรณีของลาวที่มีประชากรเพียง 7.3 ล้านคน ก็ยังกระจายวัคซีนจนครบโดสได้เพียง 2.3 ล้านโดสหรือคิดเป็น 32% ของประชากรทั้งประเทศ

4 ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการกระจายวัคซีนของกัมพูชา คือ

1. ภูมิศาสตร์และนโยบายการกระจายวัคซีนของรัฐแบบง่ายและชัดเจน โดยแบ่งตามภูมิศาสตร์ กระจายวัคซีนตามภูมิภาค ไม่เหมือนกันอีกหลายประเทศที่ใช้ระบบก่อนหลังการเข้าถึงวัคซีนโดยใช้อายุ ความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อน

2. การต่อต้านการฉีดวัคซีนในระดับต่ำหรือการเลือกและรอฉีดวัคซีน ที่มีคุณภาพอื่น ๆ อยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น ไทย และการบังคับประชากรกลุ่มใหญ่ ๆ ของสังคมให้เข้ารับวัคซีนอย่างรวดเร็ว อาทิ กลุ่มข้าราชการพลเรือน ทหาร

3. ความสามารถในการจัดหาวัคซีนของรัฐ ในทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ ทั้งซื้อ ทั้งรับบริจาค การร่วมโครงการ COVAX ซึ่งเป็นการขอรับบริจาคในระดับโลก หรือการขอรับบริจาคในระดับทวิภาคีจากประเทศนักลงทุนที่มีส่วนได้เสียอย่างมากกับกัมพูชา อย่าง จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น

4. ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกัมพูชาและจีน ก็มีส่วนทำให้ได้รับการบริจาควัคซีนจากจีนมากถึง 27 ล้านโดสจากปริมาณวัคซีนบริจาครวมทั้งหมดกว่า 30 ล้านโดส ถึงแม้วัคซีนบริจาคจะเป็นซิโนแวคและซิโนฟาร์มก็ตาม

ถึงแม้ว่าความสำเร็จในการกระจายวัคซีนของกัมพูชานั้นจะยังเป็นที่น่าถกเถียง แต่เครดิตส่วนหนึ่งที่ต้องให้คือ ความสามารถของรัฐบาล รัฐได้ใช้แต้มต่อและระบบการเมืองเพื่อนำพาประเทศให้เข้าใกล้สภาวะปกติมากที่สุด เอื้อให้ประชาชนสามารถออกมาทำมาหากินยืนบนลำแข้งของตัวเองได้ ไม่ใช่เพียงยึดติดสงวนรวมศูนย์อำนาจไว้แต่ไม่มีผลงาน