MOU ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิง จีนเปิดแต่ไทยพร้อมแค่ไหน?

MOU ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิง จีนเปิดแต่ไทยพร้อมแค่ไหน?

เปิดมุมมองทันกระแสเหตุการณ์ MOU ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิง จีนเปิดแต่ไทยพร้อมแค่ไหน?

ที่ประชุม ครม. หรือมติคณะรัฐมนตรีวันนี้ 19 ต.ค. 64 น่าสนใจกรณี เห็นชอบ  (MOU) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านภาพยนตร์ระหว่างทบวงกิจการภาพยนตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย

จากการเปิดเผยจาก นายอิทธิพล คุณปลื้ม  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถือเป็นความตกลงครั้งแรกด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 

ประเด็นก็คือ ทบวงกิจการภาพยนตร์ของประเทศจีน ได้เสนอทำความตกลงด้านภาพยนตร์กับ กระทรวงวัฒนธรรมของประเทศไทย โดยทั้งสองฝ่ายเห็นฟ้องร่วมกันในการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกัน ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทยในสาธารณรัฐประชาชนจีน แผนแม่บทยุทธศาสตร์เฉพาะ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) 

  • ส่งเสริมความร่วมมือในการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย 
  • แผนปฏิบัติการส่งเสริมความร่วมมือและขยายตลาดคอนเทนต์ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน 
  • การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุน 
  • แนวทางในการจัดทำบันทึกความเข้าใจเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านสื่อบันเทิงสาขาอื่นๆ เช่น ละครโทรทัศน์ ซีรีส์ แอนิเมชัน เกม และดนตรี กับประเทศคู่เจรจาอื่นต่อไปในอนาคต 
  • ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของทั้งสองประเทศได้มีช่องทางในการร่วมผลิต และเปิดตลาดภาพยนตร์ระหว่างกัน โดยเฉพาะตลาดภาพยนตร์ของจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและกำลังซื้อขนาดใหญ่ของโลก

"สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มุ่งส่งเสริมให้เกิดการเผยแพร่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านภาพยนตร์ระหว่างบุคลากรในอุตสาหกรรมและประชาชนของทั้งสองประเทศ ผ่านการจัดนิทรรศการหรือเทศกาลภาพยนตร์ไทยในประเทศจีนผ่านช่องทางต่าง ๆ เผยแพร่ภาพลักษณ์ความเป็นไทยตามสื่อบันเทิงในรูปภาพยนตร์แก่ผู้บริโภคของจีน และประชาชนของทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิตระหว่างกันผ่านสื่อภาพยนตร์ อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลอุตสาหกรรมตลอดจนข้อมูลที่ปรากฏในหอภาพยนตร์ของแต่ละประเทศ ทำให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีข้อมูลอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสองประเทศที่มีความเชื่อถือ สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ดำเนินนโยบายและวางแผนทางธุรกิจ ที่จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมฯ ในภาพรวม " รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผย

 

นอกจากนี้ บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ทั้งสองฝ่ายยังมุ่งสนับสนุนให้มีการจัดทำความตกลงด้านการลงทุนผลิตภาพยนตร์ระหว่างรัฐบาลในอนาคตเพื่อประโยชน์แก่ภาคเอกชน ซึ่งส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ช่วยเพิ่มโอกาสให้เกิดผลงานภาพยนตร์ไทยในตลาดภาพยนตร์ของประเทศจีนมากขึ้น
        
ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทยในสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้เกิดความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดเทศกาลภาพยนตร์จีน ณ กรุงเทพฯ การแลกเปลี่ยนภาพยนตร์จีน-ไทย งานตลาดภาพยนตร์ และโทรทัศน์นานาชาติฮ่องกง งานตลาดภาพยนตร์นานาชาตินครเซี่ยงไฮ้ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ กรุงปักกิ่ง และการจัดงานแสดงสินค้าลิขสิทธิ์นานาชาติแห่งฮ่องกง เป็นต้น ส่งผลดีต่อการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 9,200 ล้านบาท

ผู้เขียนเห็นว่า จีนพร้อมใช้ soft power กับไทย ความร่วมมือด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิง ดังที่กล่าวนั้น ดูผิวเผินน่าจะวิน-วิน คือจีนเปิดทางให้ไทยไปทำตลาดภาพยนตร์และละครในจีน และจะเข้ามาทำตลาดในไทยเช่นกัน

ถามว่า ทางการไทยพร้อมแค่ไหนจะรับมือมหาอำนาจแห่งภูมิภาคอย่างจีน ในขณะที่ผู้ประกอบการในไทยมีหลายเจ้าที่ทำตลาดมาอย่างต่อเนื่อง และได้เสียงตอบรับดีอย่างที่มีข่าวเป็นระยะ

ผู้เขียนเชื่อว่า ความพร้อมของจีนมีมากกว่าไทย โดยเฉพาะความชัดเจนของ "นโยบายรัฐ" เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลไทยยังก้าวช้าเกินไปหรือไม่กับเรื่องการส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์

ท่ามกลางกระแสการล่มสลายของผู้ผลิตคอนเทนต์ของไทย จากวิกฤติโควิดและเศรษฐกิจ ซึ่งทำงานวงการภาพยนตร์ไทยหยุดชะงักไม่ได้รับการสนุบสนุนอย่างจริงจังเท่าที่ควรจะเป็นหรือไม่

ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งเครื่องปลุกวงการภาพยนตร์ให้คึกคัก ทั้งด้านโอกาสและแหล่งทุน เพื่อรับมือมหาอำนาจและทุนจีนโดยด่วน.