เรียนต่อยุคโควิด (จบจริงๆ) : ดร.ธัญ ธํารงนาวาสวัสดิ์

เรียนต่อยุคโควิด (จบจริงๆ) : ดร.ธัญ ธํารงนาวาสวัสดิ์

ว่าจะจบเรื่องนี้เมื่อตอนที่แล้ว เผอิญลูกสาววัย 14 ปี ซึ่งเดินทางไปเรียนต่อ ส่งการบ้านมาให้ช่วยดู เลยอดไม่ได้ขอต่ออีกนิดนะครับ

ตั้งแต่ย้ายมาเรียนที่นี่ หลายคนถามฉันว่า “มาอยู่ไกลบ้านไม่กลัวหรือไง Aren’t you scare being so far away from home” หรืออุทานว่า “ว้าว คุณกล้ามากเลยนะ! You are so brave”

ถ้าจะให้ฉันพูดตรงๆ การมาเรียนต่อต่างประเทศไม่ใช่เรื่องยาก ฉันอยู่โรงเรียนนานาชาติมา 8 ปีแล้ว ฉันคุ้นเคยดีกับการอยู่กับผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก แต่ฉันรู้จักใครบางคนที่ชีวิตของเธอในต่างประเทศอาจไม่ได้ราบรื่นนัก ซึ่งทำให้เธอกล้าหาญเป็น 2 เท่า นั่นคือ คุณย่าของฉัน

นวลนาถ อรุณลักษณ์ (นามสกุลเดิมของท่าน) เป็นผู้หญิงที่เข้มแข็ง มีพลัง และค่อนข้างจะเสียงดัง ฉันจำได้ว่าตอนเด็กๆ ฉันกลัวคุณย่ามากเวลาไปหาท่านที่บ้าน แต่พอโตขึ้น ฉันเริ่มรู้สึกว่า ก่อนฉันเกิดฉันไม่รู้ว่าเลยเธอเป็นอย่างไรมาก่อน เธอเป็นคนกระตือรือร้นเช่นนี้อยู่เสมอ หรือบางทีเธออาจเคยขี้อาย ฉันจึงตั้งใจที่จะหาคำตอบในรายงานฉบับนี้

คุณย่าเกิดเมื่อปี 2481 ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เธอเป็นน้องคนเล็กของพี่ๆ ถึงแปดคน “ทุกวันหลังเลิกเรียน ย่าจะเล่นคนเดียวในสนามหลังบ้าน เล่นเก็บดอกไม้ เล่นขายของ เรียงหินบ้างอะไรบ้าง เพราะพี่ๆ โตกว่าย่ามาก ไม่มีใครเล่นเป็นเด็กๆ อีกแล้ว”

สุดท้ายพ่อแม่ของคุณย่าตัดสินใจส่งเธอไปโรงเรียนประจำ ตั้งแต่ประถม 5 จนจบ ม.6 เธอได้รับอนุญาตให้กลับบ้านเดือนละครั้งเท่านั้น ตอนคุณย่าเล่าให้ฟัง ฉันไม่อยากจะเชื่อเลย ถ้าฉันถูกส่งตัวไปโรงเรียนประจำตอน ป. 5 ฉันน่าจะยังไม่รู้จักดูแลตัวเองด้วยซ้ำไป

เมื่อคุณย่าของฉันสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอได้งานที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่นั่น เธอได้รับโอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศ “ย่าสอบชิงทุนการศึกษาได้” เธอบอกฉันด้วยรอยยิ้มภาคภูมิใจ การเดินทางออกนอกประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้หญิงในปี 2503 แต่คุณย่าตัดสินใจอย่างกล้าหาญ“Why would I turn it down?”

คุณย่าเล่าประสบการณ์ในอเมริกาอีกมากมายให้ฉันฟัง การเดินทางจากกรุงเทพไปสิงคโปร์ ข้ามต่อไปกรุงวอชิงตันเพียงคนเดียว (คุณทวดไปส่งแค่สนามบินดอนเมือง) เรื่องขำๆ เช่นการสั่งอาหารครั้งแรกกับพนักงานเสิร์ฟผิวดำ ซึ่งไม่เข้าใจภาษาอังกฤษสำเนียงไทยของเธอ หรือ การที่ใครๆ พากันเรียกเธอว่า Miss Thailand เพราะชื่อและนามสกุลของคุณย่ายากเกินกว่าที่พวกเขาจะเรียกได้ ข้อนี้ฉันพอเข้าใจ เพราะโค้ชเทนนิสของฉันก็เรียกฉันว่า Miss Thailand เหมือนกัน

หลังจากได้รับปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจ (MBA) จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กรุงนิวยอร์ก เธอกลับมาทำงานในเมืองไทยให้กับทั้งองค์กรไทยและต่างชาติ ระหว่างนั้น คุณย่าก็ได้พบกับคุณปู่ของฉันซึ่งเป็นลูกชายของอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย คุณย่ามีลุงธรณ์ตอนอายุ 28 ปี และพ่อของฉันก็ตามมาเมื่อเธออายุ 36 ปี

จากความบังเอิญอันน่าประหลาดและประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันเหล่านี้ ฉันเริ่มเข้าใจว่าการแสวงหาคำตอบที่ไม่มีใครหยุดถามมีความสำคัญเพียงใด คุณย่าและฉันต่างออกเดินทางไกลเพื่อเรียนรู้ชีวิตใหม่ๆ 

แม้เรื่องราวของเราจะถูกวางบนไทม์ไลน์ที่ต่างกัน แต่ฉันนึกภาพออกว่าเราคงมีความรู้สึกคล้ายๆ กัน ความรู้สึกอันผสมปนเปเมื่อเราก้าวเดินจากบ้านเพียงหลังเดียวที่เราเคยรู้จัก เรื่องราวของคุณย่าทำให้ฉันมีแรงบันดาลใจมากเพื่อจะดำเนินชีวิตตามความกล้าหาญเช่นเดียวกันกับเธอ

เราทั้งคู่เป็นทั้งตัวแทนของประเทศไทยซึ่งมีความภาคภูมิใจในตัวตนของเรา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก We are both representatives of Thailand and proud of our identity, no matter where we are in the world.

ภาพอันประทับใจที่สุดของผมคือเมื่อพินกับคุณย่า ใช้ Zoom คุยกันข้ามทวีป เด็กหญิงวัย 14 ปี ซักถามผู้หญิงวัย 83 ถึงเส้นทางซึ่งเธอเคยเดินเมื่อเจ็ดสิบปีก่อน

ระยะทางระหว่างย่าหลาน อาจห่างกันกว่าหนึ่งหมื่นกิโลเมตร แต่ผมสัมผัสได้ถึงสายใยความผูกพัน ประหนึ่งทั้งคู่นั่งอยู่ข้างๆ กันและกัน

CEO ของ Iclif นายเก่าของผมเคยบอกว่า หากอยากให้ลูกทำให้คุณภูมิใจ จงทำตัวให้เป็นที่น่าภูมิใจของลูก If you want your kids to make you proud of them, then make them proud of you

วันนี้ผมคงต้องต่อว่า ความเป็นผู้นำไม่ใช่ส่งต่อเพียงแค่ลูก แต่ยังต่อเนื่องไปถึงหลานด้วยครับ