เรียนต่อยุคโควิด (จบ) : ดร.ธัญ ธํารงนาวาสวัสดิ์

เรียนต่อยุคโควิด (จบ) : ดร.ธัญ ธํารงนาวาสวัสดิ์

ใครติดตามเรื่องราวในสามสี่สัปดาห์ที่ผ่านมา คงพอจำได้ว่าผมอยู่ระหว่างการเดินทางฝ่าโควิด-19 ไปส่งลูกสาวเรียน Learning-out-of-Thailand ในตอนนี้ขอเขียนถึงวิธีกลับบ้างครับ

ข้อแรก ประเภทของการตรวจโควิด

อย่างแรกที่ต้องดูคือ ประเภทของชุดตรวจ แต่ละประเทศมีข้อกำหนดต่างกัน เช่น มาเลเซียและแคนาดากำหนดให้เป็น RT-PCR เท่านั้น ส่วนสหรัฐอนุญาตให้ใช้ Antigen ได้ อย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะสายการบินอาจมีข้อกำหนดต่างไปอีก และบางรัฐดันมีระเบียบแยกลึกลงไป เช่น ตอนผมไปรอตรวจกับพิน มีคนในแถวที่บินไปถึงฮาวายแล้วเข้าไม่ได้ต้องบินกลับมา วุ่นจริงวุ้ย

ประเภทชุดตรวจเท่านั้นไม่พอ ต้องดูวิธีการตรวจด้วย เช่น ที่มาเลเซียใช้เทคนิค Nasopharyngeal (ไม่ต้องเกาหัวครับ ผมก็อ่านไม่ออกเหมือนกัน) แปลให้เห็นภาพคือทิ่มลึกเข้าไปในจมูกเหมือนหอก ส่วนสหรัฐใช้วิธี Nasal cavity นั่นคือเหมือนเอาทวนเข้าไปปั่นๆ ในโพรงจมูกเฉยๆ แต่ต้องทำสองข้างซ้ายขวา ที่ผมแปลกใจคือ ตอนตรวจในแคนาดา เค้าใช้ Nasopharyngeal เหมือนมาเลเซีย ไม่ยักทำแบบประเทศเพื่อนบ้าน

ดังนั้นสำหรับนักเดินทาง กรุณาอ่านรายละเอียดตรงนี้ให้ดี เพราะไม่ใช่แค่คุณตรวจโควิดเฉยๆ เป็นอันใช้ได้ คุณต้องตรวจประเภทและวิธีที่ประเทศปลายทางยอมรับด้วย มิฉะนั้นอาจโชคดีคือถูกปฏิเสธขึ้นเครื่องตั้งแต่ต้นทาง หรืออาจโชคร้ายคือนั่งเครื่องไปถึงแล้วได้นั่งกลับ

ข้อสอง ระยะ 72 ชั่วโมง

72 ชั่วโมงก็ยุ่งไม่แพ้กัน เพราะทุกประเทศมีการตีความหมายต่างกันไป บางแห่งนับเวลาจริงๆ สมมติคุณตรวจ 15.30 น. วันที่ 1 ผลก็จะใช้ได้ถึง 15:30 น. ของวันที่ 4 เท่านั้น แต่บางประเทศเช่น สหรัฐ เค้าหยวนๆ ให้ดูวันที่เป็นหลัก แปลว่าถ้าตรวจวันที่ 1 ก็ใช้ผลนี้ได้อีกสามวัน หากบินถึงวันที่ 4 ก่อนเที่ยงคืนเป็นอันใช้ได้

เท่านั้นไม่พอ ต้องเอาแว่นขยายส่องดูเพิ่มอีกว่า 72 ชั่วโมงของเอ็งน่ะ นับถึงเวลาเช็คอิน เวลาเครื่องออก หรือเวลาเครื่องลง ถ้าไฟลท์สั้นๆ ก็ไม่มีผลอะไรหรอกครับ แต่อย่างผมขากลับเนี่ย บิน 30 กว่าชั่วโมง ต่อเครื่องสามที ต้องคำนวณตัวเลขให้ดีว่าผลยังใช้ได้ (สมัยประถมครูเคี่ยวเข็ญให้เรียนเลขคงเพราะเหตุนี้) อย่าลืมว่ามันมีกรณีเปลี่ยนเครื่องบินด้วย ซึ่งผลตรวจเรายังต้องใช้ได้สำหรับไฟลท์สุดท้าย ไม่อย่างนั้นอาจถูกบังคับให้ตรวจใหม่ระหว่างรอเปลี่ยนเครื่อง ทั้งเสียตังค์ ทั้งตกเครื่อง

คนเขียนกติกาเหล่านี้คงเขียนไปขำไป หัวเราะเยาะพวกเราผู้พยายามปฏิบัติตาม เพราะอย่าลืมว่าการตรวจ RT-PCR ไม่ใช่ตรวจเองที่บ้านได้เหมือน ATK ต้องส่งแล็บ ซึ่งส่วนมากจะการันตีผลภายใน 48 ชั่วโมง ฟังดูก็เร็วแล้วน้า แต่เอาเข้าจริงอาจไม่เร็วพอ

เช่นกรณี 72 ชั่วโมงของผม ในคู่มือบอกมาเลเซียนับจากเวลาเครื่องลง (Arrival) ดังนั้น ต้องลบบรรดาเวลาไฟลท์ระหว่างทางออก ตีเสีย 40 ชั่วโมง เหลือเวลาแค่ 32 ชั่วโมงที่ผมจะต้องตรวจและได้ผลกลับมา ผมวิ่งหาแล็บเสียเหงื่อตก เพราะเร็วสุดซึ่งเค้ารับประกันคือภายในสองวัน 48 ชั่วโมง แปลว่าผลอาจออกไม่ทัน ตกม้าตายตั้งแต่ต้นทางได้ง่ายๆ โชคดีอย่างมากที่สนามบินวิคตอเรียเพิ่งมีเปิดบริการตรวจแห่งใหม่สดๆร้อนๆ การันตีผลภายใน 24 ชั่วโมง รอดตัวไปหวุดหวิด

ได้ผลตรวจมาแล้ว ผมแนะนำว่าพยายามหาที่ปริ้นท์มันออกมาด้วย แม้แล็บจะส่งให้ทางอีเมล์ แต่ทุกกระบวนการระหว่างทางจะขอดูผลโควิดตลอด มันง่ายกว่าเยอะหากเรามีใบไว้โบกๆ แทนการยื่นโทรศัพท์ให้คนร้อยพ่อพันแม่จับ ผมเคยได้ข่าวว่ามีบางแห่งไม่ยอมรับผลในอีเมล์ด้วย ต้องบังคับให้ปริ้นท์ออกมาเท่านั้น ลำบากเพิ่มขึ้นอีก

ข้อสุดท้าย เอกสารต่างๆนานาๆ

ตรงนี้ไม่ลงลึกมากเพราะต่างกรรมต่างวาระ ขึ้นอยู่ว่าคุณเดินทางไปประเทศไหน อย่างผมกลับมาเลเซียเนี่ย เอกสารยาวเป็นหางว่าว ตั้งแต่ใบอนุญาตบินออกบินเข้า (ผมเขียนถึงไว้ตอนที่แล้ว) ใบตรวจโควิด ใบจองโรงแรม Quarantine ใบรับรองการจ่ายค่าตรวจโควิดที่สนามบิน พาสปอร์ต วีซ่าทำงาน ฯลฯ อย่าลืมว่า 1 No erases 100 Yes เค้าเซย์โนเพียงครั้งเดียวลบล้างการเซย์เยสที่ผ่านมาทั้งหมด ฉะนั้นเตรียมมันไปเยอะๆ อ่านให้ละเอียด เหลือดีกว่าขาด ผมยืนยันได้ว่าเค้าตรวจจริง ตรวจทุกด่านครับ

อ่านถึงตรงนี้หากหลายท่านคิดว่า แล้วจะไปทำไมว้า อยู่บ้านดีกว่า ผมรับรองให้อีกเสียงว่าคิดถูกแล้วครับ!