"ผู้นำดี" ที่สังคมต้องการ : ดร.สุทธิโสพรรณ ช่วยวงศ์ญาติ

"ผู้นำดี" ที่สังคมต้องการ : ดร.สุทธิโสพรรณ ช่วยวงศ์ญาติ

เชื่อหรือไม่ว่า ขณะนี้มีเด็กนักเรียนไทยถึง 600,000 คนถูกรังแกในแต่ละปี! ยิ่งกว่านั้นเราติดอันดับ 2 ของโลก!!!

ที่ผ่านเราได้ยินเรื่องการรังแกในโรงเรียนอยู่บ่อยๆ แทบทุกห้องเรียนจะมีการล้อชื่อพ่อชื่อแม่ เด็กตัวเล็กถูกเด็กตัวโตกว่ารังแก เด็กผู้หญิงถูกเด็กผู้ชายแกล้ง เรื่องเหล่านี้ ในอดีตเรามองมันเป็นเรื่องปกติ

มูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ทำการสำรวจเด็กนักเรียนในโครงการพบว่า การรังแกกัน คือจุดเริ่มต้นของการใช้ความรุนแรง และเด็กที่รังแกเพื่อนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองกำลังรังแกเพื่อนอยู่ ไม่เข้าใจว่าการที่เล่นกันแล้วอีกฝ่ายไม่สนุกด้วยถือเป็นการรังแก ดังนั้นสถิติการรังแกที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เด็กที่ถูกรังแกเกิดความเครียด ขาดความคิดสร้างสรรค์ ซึมเศร้าและนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด

ทุกวันนี้พบว่าปัญหาการรังแกกันของเด็กไทยยิ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่เราเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องปล่อยลูกหลานให้อยู่กับสังคมออนไลน์ ส่งผลให้เด็กเกิดการเปรียบเทียบ รู้สึกด้อยค่า ภัยคุกคามในวันนี้ไม่เพียงเกิดนอกบ้าน แต่ตามมาถึงในบ้าน จนพ่อแม่อย่างเราไม่สามารถตามไปปกป้องลูกหลานได้ทุกที่

ปัญหานี้กลายเป็นปัญหาระดับชาติ ถ้าการรังแกไม่ถูกจัดการ เด็กจะเข้าใจและเรียนรู้ว่าการรังแกกันเป็นเรื่องปกติ และส่งผลต่อทัศนคติ แนวคิด วิธีใช้ชีวิตเมื่อเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ และจะติดตัวมาในทุกๆ บทบาทไม่ว่าจะในฐานะเจ้าของกิจการ หัวหน้างาน พนักงาน หรือสมาชิกในครอบครัว

บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป ทำการศึกษาคุณลักษณะของผู้นำไทยที่จะพาองค์กรและประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน พบว่า ผู้นำต้องมีบทบาทเหมือน “ผู้ถือคบไฟนำทาง” หรือ “Torch Bearer” กล่าวคือ ผู้นำต้องเข้าใจว่าหนึ่งในบทบาทผู้นำคือการส่งไม้ต่อรุ่นสู่รุ่น ผ่านการมองการณ์ไกล คาดการณ์อนาคตที่จะเกิดขึ้นได้ 

การบริหารในวันนี้ ไม่เพียงเพื่อคนกลุ่มปัจจุบันที่ทำงานในองค์กรเดียวกัน แต่มองไปไกลถึงการเตรียมคนรุ่นใหม่ที่แม้ในปัจจุบันยังไม่ได้เข้ามาในตลาดแรงงานด้วยซ้ำ เมื่อเวลาผ่านไปเด็กเหล่านี้นั่นแหละที่จะเข้ามาเป็นทีมงานแห่งอนาคตของท่าน ดังนั้นการช่วยบ่มเพาะ ถ่ายทอดคุณค่าให้กับผู้นำรุ่นใหม่จึงไม่ได้จำกัดเพียงแค่คนในองค์กร แต่หมายถึงเยาวชนในสังคมที่ในอนาคตจะเข้ามาอยู่ในระบบนิเวศทางธุรกิจ

600,000 คน ไม่ใช่ตัวเลขน้อยๆ เด็กเหล่านี้อาจเป็นลูกเป็นหลานเราก็ได้ หรืออาจเป็นอนาคตทีมงานของเราก็ได้

ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะเข้ามาผนึกพลังในการพัฒนาสภาพแวดล้อมการศึกษา ร่วมปลูกฝังทัศนคติ สร้างน้ำใจนักกีฬา มีสติและเคารพความแตกต่างซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันภัยในทุกรูปแบบให้กับลูกหลานของเราอย่างยั่งยืน และถือเป็นการสร้างภาวะผู้นำที่มีความคิดสร้างสรรค์ มองการไกล เคารพผู้อื่น มีสปิริต สามัคคี ให้กับกลุ่มเยาวชนที่จะก้าวมาเป็นผู้นำองค์กรของท่านรุ่นถัดไป